สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(28)

03 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3519 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล(28) 
 
 

          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

          คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ที่ผ่านด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล

          คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เพิ่งจะมีการเปิดทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำพิธีลงนามเซ็นสัญญากับเอกชนอย่างยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของการประมูลโครงการขนาดใหญ่อย่างอึกทึกครึกโครมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562

          ปัญหาที่ทุกคนสงสัยคือ สัญญาสัมปทานแบบพีพีพีในโครงการนี้เป็นอย่างไร ผมจึงนำร่างสัญญาโครงการร่วมทุนที่ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาเผยแพร่เป็นตอนที่ 28 สัญญาที่ทำกับการรถไฟฯเป็นเช่นไรบ้างเชิญทัศนากันได้ ณ บัดนี้...

          3) ในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ของเอกชนคู่สัญญา  ผู้เช่าช่วง  ผู้ใช้ประโยชน์ และ/หรือของบุคลากรของบุคคลดังกล่าว หรือผู้ใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลอย่างร้ายแรง หรือการกระทำนั้นเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายของไทยหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือข้อกำหนดใดๆ ในสัญญาร่วมลงทุนนี้อย่างร้ายแรง หาก รฟท. เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ให้ รฟท. มีอำนาจสั่งระงับหรือแก้ไขการกระทำดังกล่าวเท่าที่สมควรได้ทันที และ

          4)  ในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุนนี้ รฟท. มีสิทธิตรวจสอบได้และเอกชนคู่สัญญาตกลงให้ความร่วมมือพร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ รฟท. ในการส่งข้อมูลและเอกสารตามวิธีการที่เอกชนคู่สัญญา และ รฟท. จะได้ตกลงร่วมกัน

          (ข) สิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  เอกชนคู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1) เอกชนคู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ในการเช่าและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ โดยจะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของการเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน  ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และข้อกำหนดและเงื่อนไขอื่นตามที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมลงทุน โดยจะต้องไม่นำพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และบรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ บนพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (รวมถึงบรรดาส่วนควบและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอกชนคู่สัญญานำมาใช้และ/หรือติดตั้งในพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) ไปใช้ในกิจการอย่างอื่นนอกขอบวัตถุประสงค์การเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนนี้

          2) เอกชนคู่สัญญาสามารถให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเช่า เช่าช่วง หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่ามีค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทนและไม่ว่าจะเป็นช่วงหนึ่งหรือหลายช่วง)  ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯและ/หรือบรรดาสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่พื้นที่ดังกล่าวก็ได้ โดยเอกชนคู่สัญญาจะต้องรับผิดชอบการกระทำของผู้เช่า ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์นั้นทุกประการเสมือนหนึ่งว่าการกระทำนั้นเป็นของเอกชนคู่สัญญาเอง  และเอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิยกข้อต่อสู้ใดๆ ที่ผู้เช่า ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์อาจมีต่อ รฟท. ขึ้นต่อสู้ รฟท. ได้ ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญาต้องดำเนินการระบุข้อกำหนดดังต่อไปนี้ไว้ในสัญญาเช่า สัญญาเช่าช่วง และ/หรือสัญญาให้ใช้ประโยชน์

          ก)  ระบุให้ผู้เช่า  ผู้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์นั้นปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

          ข)  ระบุว่าระยะเวลาการเช่า การเช่าช่วงและ/หรือการให้ใช้ประโยชน์จะไม่เกินกว่าระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก รฟท.

          ค) ระบุว่าหากระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ สิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลาดังกล่าวเพราะสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง รฟท. จะสวมสิทธิเอกชนคู่สัญญาเพื่อรับโอนสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าช่วงและ/หรือผู้ใช้ประโยชน์ในสัญญาดังกล่าวได้จนกระทั่งสิ้นสุดสัญญานั้น

          เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก รฟท. เอกชนคู่สัญญา และ/หรือ บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้เช่า ผู้เช่าช่วง หรือผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ไม่สามารถก่อภาระผูกพัน เพื่อเป็นหลักประกันต่อผู้สนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ได้

          ทั้งนี้ รฟท. จะอนุมัติการก่อภาระผูกพัน เพื่อเป็นหลักประกันต่อผู้สนับสนุนทางการเงินสำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ได้เมื่อปรากฏว่าการก่อภาระผูกพันนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

          3) เอกชนคู่สัญญาต้องนำส่งแบบรายละเอียดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ฉบับสมบูรณ์ (As-built Drawings) ให้แก่ รฟท.อนุมัติก่อนที่จะดำเนินการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว  โดยหากแบบรายละเอียดนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดในการออกแบบ (Conceptual Design) ตามที่ปรากฏในข้อมูลของผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนคู่สัญญาจะต้องแจ้งในแบบรายละเอียดดังกล่าวถึงสิ่งที่แตกต่างและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้แตกต่างจากที่เสนอมาในข้อเสนอนั้น

          4)  ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ (ไม่ว่าจะดำเนินการโดยเอกชนคู่สัญญาหรือผู้เช่าช่วงหรือผู้ใช้ประโยชน์ก็ตาม) เอกชนคู่สัญญาจะต้องส่งแบบการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ฉบับสมบูรณ์ (As-built Drawings) ให้แก่ รฟท.อนุมัติก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าวโดยแบบดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดทางด้านสถาปัตยกรรม ด้านวิศวกรรมทุกระบบ ตลอดจนรายการอุปกรณ์ และเครื่องจักรทุกชนิด

          5) เอกชนคู่สัญญาจะต้องป้องกัน ดูแล และบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ รวมถึงที่ดินให้อยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัย และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตามที่กฎหมายไทยกำหนดทุกประการ ด้วยค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญาเองทั้งสิ้น โดยเอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ค่าใช้จ่าย ค่าเสียหาย หรือค่าทดแทน และ/หรือ เงิน หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจาก รฟท.

          (ทั้งนี้ ไม่ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการบำรุงรักษาตามปกติหรือไม่ รวมถึงการซ่อมแซมในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมใหญ่ที่มีความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินที่ให้เช่าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ หรือการซ่อมแซมเล็กน้อยก็ตาม)

          อ่านถึงตอนนี้เป็นอย่างไร แสดงความคิดเห็นกันได้ครับ บอกได้ว่ามีที่นี่ที่เดียว!

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (27)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (26)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (25)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (24)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (23)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (22)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (21)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (20)