สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(26)

27 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3517 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(26)

 

          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

          คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ที่ผ่านด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล

          คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เพิ่งจะมีการเปิดทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำพิธีลงนามเซ็นสัญญากับเอกชนอย่างยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของการประมูลโครงการขนาดใหญ่อย่างอึกทึกครึกโครม

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(26)

 

          ผมจึงขอพามาติดตามกันในร่างสัญญาตอนที่ 26 ซึ่งผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว แต่สัญญาจริงจะเป็นตามนี้หรือไม่ มาดูกันในเรื่องแอร์พอร์ตลิงค์กันต่อจากตอนที่แล้วครับ!

          ข)  กรณีที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการให้งานสะพานเลื่อนย้ายพวงรางในพื้นที่มักกะสันตามข้อ 16.1(5)(ก) แล้วเสร็จภายในระยะเวลาห้า (5)ปี นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) โดยไม่ได้เกิดขึ้นหรือมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 28.1(1) เหตุผ่อนผันตามที่กำหนดไว้ในข้อ 28.1(2) หรือเหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดของเอกชนคู่สัญญาในกรณีดังกล่าว ให้เริ่มการเช่าในพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนที่เหลือ ในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาห้า (5)ปี ดังกล่าว

          (2)  ค่าเช่าการชำระค่าเช่าและการคิดผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท.(ก)  ค่าเช่า

          1)  ตลอดระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เอกชนคู่สัญญาตกลงชำระค่าเช่าให้แก่ รฟท. จากการให้เอกชนคู่สัญญาเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯตามข้อ 16.1(1)(ข) เป็นอัตราค่าเช่ารายปีตามกำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า) โดยค่าเช่าดังกล่าวยังไม่รวมค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมใดๆ (ถ้ามี) ทั้งสิ้น  โดยเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการชำระค่าภาษีอากร รวมถึงภาษีโรงเรือน  รวมทั้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียวกันทั้งสิ้น (หากมี)

          2)  เอกชนคู่สัญญาตกลงว่า ไม่ว่าในกรณีหรือด้วยเหตุใดก็ตาม เอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิขอยกเว้นหรือปรับลดค่าเช่าภายใต้สัญญาร่วมลงทุนนี้ (ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด) ยกเว้นพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ที่มีการรอนสิทธิ์ และเอกชนคู่สัญญาไม่อาจใช้พื้นที่ดังกล่าวได้

          (ข) การชำระค่าเช่า 1) กำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่า เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ชำระค่าเช่าดังต่อไปนี้

          ก) กรณีพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ  ในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1) (ข)1) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ชำระค่าเช่าในปีแรกของการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯในส่วนแรกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)1) ในทันทีที่เริ่มการเช่าพื้นที่นั้นตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว และเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ชำระค่าเช่าสำหรับปีถัดๆ ไปในวันเดียวกันของแต่ละปีจนกว่าจะครบระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(26)

 

          ทั้งนี้ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่เริ่มชำระค่าเช่าของพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนของพื้นที่ที่ศรีราชาเฉพาะในส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท. ในปัจจุบัน และพื้นที่ที่จะจัดเตรียมไว้สำหรับการสร้างอาคารที่พักอาศัยของพนักงานและอาคารที่ทำการ รฟท. เมื่อเอกชนคู่สัญญาได้สร้างอาคารที่พักอาศัยพนักงานและอาคารที่ทำการของ รฟท. ใหม่แล้วเสร็จ

          ข)  กรณีพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนที่เหลือตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)2) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ชำระค่าเช่าในปีแรกของการเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ในส่วนที่เหลือตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16.1(1)(ข)2) ในทันทีที่เริ่มการเช่าพื้นที่นั้น ตามที่กำหนดไว้ในข้อดังกล่าว  และเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ชำระค่าเช่าสำหรับปีถัดๆ ไปในวันเดียวกันของแต่ละปีจนกว่าจะครบระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ โดยในส่วนของกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าในปีสุดท้ายของระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ของพื้นที่ดังกล่าวคู่สัญญาตกลงให้ชำระค่าเช่าโดยคิดเฉพาะจำนวนระยะเวลาที่ได้เช่าพื้นที่นั้นจริงในปีสุดท้ายดังกล่าว

          2)  วิธีการชำระค่าเช่า การชำระค่าเช่าตามสัญญาร่วมลงทุนนี้ให้ชำระ ณ ที่ทำการของ รฟท. หรือโดยช่องทางอื่นใดตามที่ รฟท. กำหนด  เมื่อเอกชนคู่สัญญาชำระค่าเช่าครบถ้วนในปีใดให้แก่ รฟท. แล้ว รฟท. จะออกใบเสร็จรับเงินตามแบบที่ รฟท. กำหนดเพื่อมอบให้เอกชนคู่สัญญายึดถือไว้เป็นหลักฐาน

          3)  กรณีมีการชำระค่าเช่าล่าช้า ก)  คู่กรณีเอกชนคู่สัญญามิได้ชำระค่าเช่าในปีใดให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน ให้ถือว่าเอกชนคู่สัญญาตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสอง (2) ต่อเดือนของจำนวนเงินค่าเช่าที่ค้างชำระตลอดไปทุก ๆ เดือนจนถึงเดือนที่ได้ชำระค่าเช่าที่ค้างชำระครบถ้วน เศษของเดือนที่เป็นวันให้คิดเท่ากับหนึ่ง (1)เดือน

          ข)  กรณีมีการค้างชำระค่าเช่าในปีใด  คู่สัญญาตกลงว่า  หากเอกชนคู่สัญญาได้ชำระค่าเช่าให้แก่ รฟท. ภายหลังจากนั้น ให้นำค่าเช่าที่ได้มีการชำระนั้นมาชำระค่าเช่าที่ค้างชำระปีแรกสุดก่อนจนกระทั่งมีการชำระค่าเช่าปีก่อนหน้าครบถ้วนแล้วจึงนำมาชำระค่าเช่าที่ค้างชำระของปีล่าสุด รฟท. มีสิทธิบังคับจากหลักประกันสัญญาตามข้อ 10.1 ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อหักชำระค่าเช่าที่ค้างชำระ

          นี่คือเรื่องแอร์พอร์ตลิงค์ ครับ ยังมีเรื่องชวนติดตามอีกเพียบครับ!