เบื้องลึกหอการค้าไทยสั่งถอย “วัคซีนทางเลือก”

01 พ.ค. 2564 | 06:10 น.

“ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ถึงเบื้องหลังหอการค้าฯสั่งถอยเรื่องวัคซีนทางเลือกหลังหารือกับนายกรัฐมนตรี

จากที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 สาระสำคัญส่วนหนึ่งได้ประกาศว่ารัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายจะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปีนี้

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดหาแล้ว 64 ล้านโดส ส่วนที่ต้องจัดหาอีก 36 ล้านโดสนั้นรัฐบาลได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดหาวัคซีนสปุตนิค วี จำนวน 5-10 ล้านโดส และไฟเซอร์อีก 5-10 ล้านโดส ซึ่งในส่วนที่เหลืออีก 10-15 ล้านโดส นายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดหา และแจกจ่ายวัคซีนที่ภาคเอกชนระบุจะช่วยรัฐบาลจัดหาวัคซีนและฉีดให้กับพนักงานและลูกจ้างโดยยอมจ่ายเงินเอง(วัคซีนทางเลือก) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลนั้น

ครั้นหลังประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีกับ กกร.เมื่อวันที่ 28 เมษายน หอการค้าไทยได้ออกประกาศผ่านเว็บไซต์ของหอการค้าไทยว่า รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ดังนั้นภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหาเพิ่มและจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของหอการค้าไทย ซึ่งได้เปิดรับแจ้งความประสงค์ของบริษัทเอกชนที่ต้องการวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้กับพนักงานของตนเองนั้น หอการค้าไทยจะรวบรวมข้อมูลความต้องการดังกล่าวที่ได้มีการแจ้งเข้ามาแล้ว (3,338 บริษัท จำนวนพนักงาน 1.27 ล้านคน) ส่งต่อให้กับภาครัฐเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดลำดับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับในแต่ละพื้นที่ หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งจากประกาศนี้แสดงให้เห็นว่าการช่วยจัดหาวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนทั้ง 100 ล้านโดสต่อไป

ขณะที่ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(ส.อ.ท.)ที่ได้เข้าร่วมประชุมในคราวเดียวกันนายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ได้ชี้แจงผ่านสื่อว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เพียงแต่การนำเข้าต้องไม่อยู่ในจำนวน 100 ล้านโดสที่รัฐบาลจะจัดหา ทั้งนี้ ส.อ.ท.ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะยังเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มต่อไป

อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หลังการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ถึงที่มาที่ไปของหอการค้าไทย ประกาศถอยเรื่องวัคซีนทางเลือก คำต่อคำดังนี้

-ที่หอการค้าเข้าพบนายกฯ

คิวตอนเช้าเป็นของหอการค้าไทย และตอนบ่ายเป็นของกกร.

-การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีกับหอการค้าไทยได้ข้อสรุปที่สำคัญอะไรบ้าง

หอการค้าได้พบกับท่านนายกรัฐมนตรีก็พรีเซ้นให้ท่านฟังว่าเราได้จัด 4 ทีมในการที่จะสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ท่านก็เห็นด้วย บอกว่า "ดีมาก" ซึ่งภาครัฐก็ยินดีจะจัด 4 ทีมทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน(ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน,ทีมการสื่อสาร,ทีมเทคโนโลยีและระบบ,ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม) ฉะนั้นหอการค้าไทยเราก็มีแนวทางการทำงานของเราคือ “Connect the Dots” (หอการค้าให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ) อยู่แล้วก็คือจะเชื่อมโยงของแต่ละจุดมารวมกัน ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำ

ทั้งนี้แม้มี กกร.เราก็ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ และสมาคมธนาคารไทยได้ ก็บอกว่าจะได้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน มาทำงานเป็นบอร์ดในแนวทางเดียวกัน ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯบอกว่าอันนี้ดี อันไหนที่ทางหอฯได้นำไปแล้วก็ทำไป ส่วนที่จะเสริมเข้ามาก็ได้อย่างเช่น พวกสถานที่ต่าง ๆ (ในการฉีดวัคซีน)นอกจากที่เราหาได้ทั้งหมด ทางสภาอุตฯ ก็อาจจะมีพวกนิคมอุตสาหกรรม  สถานีบริการน้ำมัน ที่ใช้เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในเรื่องเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางหอการค้าฯก็ได้เริ่มทำไปแล้ว โดยที่เอาพวกซัพลายเออร์ไปเอาออเดอร์จากลูกค้ากลุ่มค้าปลีกไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วถึงกำหนดการชำระเงินพวกกลุ่มค้าปลีกที่จะจ่ายให้กับพวกซัพพลายเออร์ ก็จ่ายตรงไปที่สถาบันการเงิน ซึ่งระบบนี้เราเริ่มทดลองทำแล้ว  ตรงนี้จะประสบความสำเร็จได้เราต้องทำงานร่วมกับทาง กกร.ด้วย อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งท่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ บอกว่าดีมากเลย เพราะทางรัฐอยากจะให้เงิน แต่รัฐบาลไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็น NPL มีความเสี่ยง ก็ไม่รู้ว่าคนไหนดี-ไม่ดี

ขณะเดียวกันก็ดูจากเครดิตบูโร ที่ติดอยู่สถาบันการเงิน ถ้าเสี่ยงเขาก็ไม่ให้(กู้)อยู่แล้ว ซึ่งวิธีการจัดการของหอการค้าอย่างนี้ก็ช่วยทำให้เอสเอ็มอีได้เอาเงินไปหมุนเวียนก่อน คือได้รับออเดอร์ก็ได้รับเงินสดเข้ามาละ ที่จะไปซื้อวัตถุดิบ ไปจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน นอกจากนั้นก็มีส่วนกำไร อันนี้ก็ไม่ต้องไปเกี่ยวกับเครดิตบูโรก็คือพวกกลุ่มลูกค้าปลีกก็เหมือนเป็นการชี้แนะให้กับแบงก์ว่าพวกนี้เบี้ยวหนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเงินอยู่ในมือของกลุ่มผู้ค้า ซึ่งส่วนนี้ก็จะไปขยายผลให้กับสภาอุตฯ เช่น กลุ่มยานยนต์เขามีกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนสนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีทั้งนั้น หรือพวกอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำแบบเดียวกันสิครับ อย่างนี้เป็นต้น และก็จะขยายไปคลัสเตอร์อื่น ๆ  ซึ่งมีบริษัทใหญ่ที่มีเป็นหมื่นบริษัท แล้วพวกเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องมีตั้งหลายแสนราย

“เพราะฉะนั้นถ้าช่วยกันในลักษณะนี้ทางธนาคารก็คือสบายใจด้วยว่า พวกนี้หนี้สูญต่ำมาก แล้วเราก็ได้มีการประสานงานกับ สสว.ในคอนเซปต์อันนี้ สสว.บอกอันนี้ดีเลย เริ่มเลย เริ่มเสร็จแล้วอาจจะขยายวงไปในลักษณะพวกจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่เอสเอ็มอีจะเข้าไป เหล่านี้คือที่ได้นำเสนอท่านนายกรัฐมนตรี

-การจัด 4 คณะร่วมรัฐ-เอกชน

ยังเดินหน้าอยู่โดยท่านรองนายกฯสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ จะจัดทีมภาครัฐมาประสานกับภาคเอกชน และวันที่ 30 เมษายน จะมีการร่วมแถลงข่าวกับผู้ว่าฯอัศวิน  ขวัญเมืองที่ กทม.แล้วเราได้รูปแบบการทำงานแบบนี้(การจัดเตรียมพื้นที่นำร่องฉีดวัคซีน)ที่ผ่านคัดเลือกแล้ว 14 แห่ง มีทั้งศูนย์การค้า สำนักงาน สถานีบริการน้ำมันซึ่งน่าจะพอแล้ว จากเดิมจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง ก็จะไปขยายผลส่งไปให้แต่ละจังหวัด ซึ่งเรามีหอการค้าทั่วประเทศอีก 76 จังหวัด อีกส่วนหนึ่งเราก็จะพบท่าน รัฐมนตรีมหาดไทย ท่านจะได้ประสานงานสั่งการไปได้ทุกผู้ว่าฯทุกจังหวัด ก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงในการทำงาน เป็นความร่วมมือกันแบบบูรณาการทั้งทางภาครัฐและเอกชน    ทั้งนี้ในต่างจังหวัดมีสถานที่อีกกว่า 200 แห่งที่เสนอมา

เบื้องลึกหอการค้าไทยสั่งถอย “วัคซีนทางเลือก”

-ก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้เสนอให้ภาครัฐปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้การจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น ครั้งนี้ ได้นำเสนออย่างไรบ้าง

ตรงนี้ท่านายกฯบอกว่าขอบคุณมากที่ทางเอกชนต้องการจัดหาวัคซีน(ทางเลือก)โดยยินดีจ่ายเงินเองให้กับพนักงานของตัวเอง และห่วงว่ารัฐบาลจัดหาวัคซีนได้เพียง 65 ล้านโดส ซึ่งความต้องการจะเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องถึง 100 ล้านโดส ท่านนายกฯก็มีการช่วยเจรจาระหว่างประเทศ โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็การันตีว่าปีนี้จะสามารถจัดหาวัคซีนได้ทันและฉีดให้คนทั้งประเทศครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร ก็คือ 100 ล้านโดส และจะเร่งนำเอาวัคซีนเข้ามาประเทศไทยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้

-ท่านพูดถึงส่วนที่จะให้เอกชนนำเข้ามาหรือไม่

ท่านบอกว่าก็คงจะไม่ต้องแล้ว เพราะว่าทางเอกชนเราได้มีการเจรจาไป ก็ต้องบอกว่ามันมีความลำบากมาก เพราะว่าแต่ละประเทศในการจองวัคซีนเขาจองกันล่วงหน้ากันไปเยอะแล้ว กว่าเราจะนำเข้ามาได้ก็คงจะพอ ๆ   กับที่รัฐบาลนำเข้า ขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองสูงกว่าเราด้วยซ้ำ

-ตกลง 100 ล้านโดสจะเป็นการนำเข้าโดยรัฐบาลทั้งหมด

 ใช่ครับ ใช่ครับ

-ที่เราบอกพร้อมช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาลโดยยอมจ่ายค่าวัคซีนและค่าฉีดเอง

ท่านนายกฯบอกว่าไม่ต้องแล้ว รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณรายจ่ายตรงนี้พอแล้ว เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจว่า ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการฉีดเท่าเทียมกัน

-ตกลงเราไม่ต้องไปจัดหาวัคซีนแล้ว ช่วยจัดหาสถานที่อย่างเดียว

ใช่ครับ

เบื้องลึกหอการค้าไทยสั่งถอย “วัคซีนทางเลือก”

-ที่หอการค้าไทยได้เปิดให้สมาชิกที่ต้องการวัคซีนทางเลือกแจ้งความต้องการที่หอการค้าไทยก่อนหน้านี้จะทำอย่างไร  

ณ วันนี้ได้รับความชัดเจนจากท่านนายกฯแล้ว เราก็คงจะสื่อไปให้จากที่ได้รับจองบอกว่า สามารถจะไปลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม”เพื่อจองฉีดวัคซีนในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เราก็คงจะไม่ต้องละ ก็คงจะปิดรับแจ้งความประสงค์ ต่อไปถ้ามีอะไรเราก็ทำงานร่วมกับภาครัฐ ก็คือไปสนับสนุนเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่นเดียวคือของ “หมอพร้อม”เลยครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เปิดชื่อ 14 พื้นที่ฉีดวัคซีนกทม. รับได้ 2 หมื่นคนต่อวัน

 “สนั่น"ชู “Connect the Dots” ฟื้นเศรษฐกิจไทยใน 99 วัน

หอการค้าไทยรายงาน"บิ๊กตู่" นำร่องใช้กทม.วางระบบวัคซีน