ข้อสั่งการนายกฯ 8 แผนโครงสร้างพื้นฐานปั้นอันดามันศูนย์กลางขนส่งทางทะเล

26 พ.ย. 2564 | 07:52 น.

เปิดข้อสั่งการนายกฯ วงประชุมการพัฒนาพื้นที่ 6 จังหวัดกลุ่มชายฝั่งอันดามัน 8 โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ศูนย์บริการวิจัยและวิชาการอันดามัน เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมสู่ศูนย์กลางขนส่งทางทะเล เส้นทางริเวียราอันดามัน ขุดลอกร่องน้ำชายฝั่ง ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 

เลขาฯสภาพัฒน์ มีหนังสือที่นร. 1114/22564  ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งผลการประชุมและข้อสั่งการนายกฯ ระหว่างประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล)  เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ระหว่างเวลา 09.15-10.15 น. ห้องประชุมโภคีธรา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโภคีธรา  กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในวาระจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร) ที่จังหวัดกระบี่ 

 

นอกจากเห็นชอบโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 7 โครงการ กรอบวงเงินรวม 494 ล้านบาท นายกฯสั่งการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้กระทรวงมหาดไทยเสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปแล้ว 

ข้อสั่งการนายกฯ 8 แผนโครงสร้างพื้นฐานปั้นอันดามันศูนย์กลางขนส่งทางทะเล

นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 5  ด้านสำคัญ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดในแผนงานเพื่อเสนอตามขั้นตอน 

 

โดยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเสนอขอรับการสนับสนุนมากที่สุด รวม 9 โครงการ นายกฯมีข้อสั่งการ ดังนี้

ข้อสั่งการนายกฯ 8 แผนโครงสร้างพื้นฐานปั้นอันดามันศูนย์กลางขนส่งทางทะเล

1.โครงการยกระดับศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน โดยการดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน เพื่อการจัดการเรียนการสอนและวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา การพัฒนาศักยภาพการจัดการด้านการเกษตร และพลังงาน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการอย่างยั่งยืน การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดกระบี่สู่การท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในภูมิภาคอันดามันที่

 

ประชุมเห็นชอบในหลักการ และนายกฯสั่งการให้กระทรวงการอุดมศีกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับไปพิจารณาโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการวิชาการภูมิภาคอันดามัน โดยให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการ และต้องไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคต หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป 

 

2.การศึกษาระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ระบบราง และอากาศ(Multimodal Transportation) เพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Andaman Matitime Hub) โดยการเสริมสร้างศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย 
    1)ศึกษาระบบเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ระบบราง และอากาศ(Multimodal Transportation) และ
    2)ศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล(Matitime Hub) และพัฒนาท่าเรือชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเล (Andaman Matitime Hub) หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงคมนาคมประสานสำนักงบประมาณพิจารณาบรรจุไว้ในแผนปฎิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566

 

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอไปพิจารณา หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงคมนาคมประสานสำนักงบประมาณพิจารณาบรรจุไว้ในแผนการปฎิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566

 

3.การศึกษาโครงข่ายคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองและสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 
    1)สำรวจข้อมูลเบื้องต้น/สำรวจออกแบบ/ประมาณราคาค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืน และดำเนินการก่อสร้าง 3 เส้นทางในพื้นที่จังหวัดพังงา (ถนนเลี่ยงเมืองโคกกลอย,ท้ายเหมือง และบางม่วง) ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 ตามแนวถนนโครงข่ายคมนาคม สาย ข5 บรรจบสาย ข4 ประกาศตามผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย-ท้ายเหมือง เส้นทางที่ 2 ตามแนวถนนโครงข่ายคมนาคม สาย ข1 ประกาศตามผังเมืองรวมชุมชนโคกกลอย-ท้ายเหมือง เส้นทางที่ 3 ตามแนวถนนโครงข่ายคมนาคม สาย ค2 เชื่อมต่อสาย ง3 ประกาศตามผังเมืองรวมตะกั่วป่า และ
    2) ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร

 

นายกฯสั่งการให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาศึกษาโครงข่ายคมนาคมแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองและสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน และสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น/สำรวจออกแบบ/ประมาณราคาค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืน และดำเนินการก่อสร้าง 3 เส้นทางในพื้นที่จังหวัดพังงา (ถนนเลี่้ยงเมืองโคกกลอย,ท้ายเมือง และบางม่วง) โดยจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการ และประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอน สำหรับการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นเส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงคมนาคมประสานสำนักงบประมาณพิจารณาบรรจุไว้ในแผนการปฎิบัติและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566

 


4.การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพประเภทเกาะในกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำบริเวณเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา โดยการก่อสร้างถนน คสล.จากหมู่ที่ 2 บ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ ถึงหมู่ที่ 1 ล้านโล๊ะโป๊ะ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

 

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาการพัฒนาเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำบริเวณเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการ และประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

 

5.การก่อสร้างระบบเคเบิลใต้ดิน พื้นที่เขตอนุรักษ์ย่านการค้าเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต โดยปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหนือดินเป็นระบบเคเบิลใต้ดินเขตย่านการค้าเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต จำนวน 7 พื้นที่ ระยะทาง 6,836 กิโลเมตร และการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับอารยสถาปัตย์ ประกอบด้วย 
    1) ถนนดีบุกส่วนที่เหลือ(จากสี่แยกถนนเยาวราชตัดถนนดีบุก ถึงสี่แยกถนนดีบุกตัดถนนมนตรี) ระยะทาง 590 เมตร 
    2) ถนนระนอง (จากวงเวียนสุริยะเดชถึงสี่แยกถนนประดิพัทธ์ตัดถนนระนอง) ระยะทาง 500 เมตร
    3) ถนนพังงาส่วนที่เหลือ (จากบริเวณถนนพังงาตัดถนนมนตรี ถึงสามแยกถนนพังงาตัดถนนสุรินทร์) ระยะทาง 680 เมตร
    4) ถนนมนตรี (จากบริเวณสี่แยกถนนพังงา ตัดถนนมนตรีถึงบริเวณวงเวียนหอนาฬิกา) และถนนถลาง(หน้าดีแทค) ระยะทาง 970 เมตร
    5) ถนนตลิ่งชัน และถนนตะกั่วป่า ระยะทาง 724 เมตร
    6) ถนนภูเก็ตส่วนที่เหลือ(จากสะพานพระอร่ามถึงวงเวียนกระเฌอ)สะพานหิน ระยะทาง 1,724 เมตร และ
     7) ถนนเทพกระษัตรีส่วนที่เหลือ (จากหน้าวัดโฆษิตวิหารถึงสี่แยกตั๋วโพ้) ระยะทาง 1,544 เมตร

 

ข้อเสนอนี้นายกฯมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รับไปดำเนินการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหนือดินเป็นระบบเคเบิลใต้ดินเขตย่านการค้าเก่าจังหวัดภูเก็ต จำนวน 7 พื้นที่ ระยะทาง 6,832 เมตร และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องกับอารยสถาปัตย์ โดยบรรจุไว้ในแผนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของสำนักงาน กสทช. ก่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป 

 


6.การปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระนอง ได้แก่ การปรับปรุงและก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร สถานีขนส่งระนอง(หลังใหม่) พร้อมทั้งปรับปรุงบริเวณโดยรอบให้มีความเป็นระเบียบ เพื่อรองรับการยกระดับการท่องเที่ยว จังหวัดระนอง ตามเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดระนองและประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

 

นายกฯสั่งการว่า ให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดระนอง ให้มีความเป็นระเบียบ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบประมาณขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป 

 

7)การก่อสร้างขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล โดยการก่อสร้าง ขุดลอก และบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล 2 แห่ง ประกอบด้วย 1) ร่องน้ำตำมะลังและบริเวณที่จอดพักเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล และ 2) ร่องน้ำกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 

 

นายกฯสั่งการว่า ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปพิจารณาการก่อสร้าง ขุดลอก และบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล ประกอบด้วย ร่องน้ำตำมะลัง และบริเวณที่พักเรือตำมะลัง อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล และร่องน้ำกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยคำนึงถึงความสามารถในการระบายน้ำของร่องน้ำตำมะลัง และแผนการจัดการตะกอนดินที่เหมาะสม หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงคมนาคมประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

 

8.การยกระดับสนามบินนานาชาติกระบี่เป็น Cargo Hub โดยขอศึกษาแนวทางการพัฒนาให้จังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กลางการพักสินค้า และเป็นศูนย์กระจายสินค้าจากอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากพื้นที่จังหวัดกระบี่ในกลุ่มภาคใต้อันดามันและฝั่งอ่าวไทยสู่ภายในประเทศ และภายนอกประเทศ ซึ่งจะลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า

 

นายกฯมีข้อสั่งการ ว่า ให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาศึกษาการยกระดับสนามบินนานาชาติกระบี่เป็น Cargo Hub โดยจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน และประสานสำนักงบประมาณบรรจุไว้ในแผนการปฎิบัติงานและแผนการใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

 

9.การก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา (Revers Osmosis :RO) เกาะพีพี อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยให้มีการศึกษาการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา RO เกาะพีพี เพื่อรองรับการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

 

นายกฯมีข้อสั่งการว่า ให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาศึกษาการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา (Revers Osmosis :RO) เกาะพีพี อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน หากมีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วน ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป