ข้อสั่งการนายกฯ รับพิจารณา3 แผนพัฒนา"การเกษตร"กลุ่มอันดามัน

25 พ.ย. 2564 | 08:42 น.

เปิดข้อสั่งการนายกฯ วงประชุมพัฒนาเศรษฐกิจสังคม 6 จังหวัดกลุ่มชายฝั่งอันดามัน  3 โครงการด้านการเกษตร ให้หน่วยงานรับพิจารณา ให้ซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ใช้ของเหลือโรงสกัดน้ำมันปาล์มโดยเฉพาะ ประมงอ่าวพังงา เลี่ยงแพะในสวนยาง-ปาล์ม หากเร่งด่วนให้ประสานสำนักงบฯ

เลขาฯสภาพัฒน์ มีหนังสือที่นร. 1114/22564  ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งผลการประชุมและข้อสั่งการนายกฯ ระหว่างประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล)  เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ระหว่างเวลา 09.15-10.15 น. ห้องประชุมโภคีธรา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโภคีธรา  กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในวาระจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร) ที่จังหวัดกระบี่ 

 

นอกจากเห็นชอบโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 7 โครงการ กรอบวงเงินรวม 494 ล้านบาท นายกฯสั่งการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้กระทรวงมหาดไทยเสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปแล้ว 

ข้อสั่งการนายกฯ รับพิจารณา3 แผนพัฒนา"การเกษตร"กลุ่มอันดามัน

นายกฯประชุมร่วมผู้ว่าฯ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 7 จังหวัดในโอกาสประชุมครม.สัญจรที่กระบี่

นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 5  ด้านสำคัญ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดในแผนงานเพื่อเสนอตามขั้นตอน 

 

โดยในด้านการเกษตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในข้อเสนอขอรับการสนับสนุน 3 แผนงาน ดังนี้

1.การพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและยางพารากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันทั้งระบบอย่างยั่งยืน โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)กำหนดนโยบายการรับซื้อไฟฟ้า โดยให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้จากโรงสกัดน้ำมันปาล์มมาเป็นพลังงานทางเลือกเป็นการเฉพาะ เช่น ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย เป็นต้น มาผลิตกระแสไฟฟ้า

 

นายกฯสั่งการให้กระทรวงพลังงานกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาในรายละเอียด การกำหนดนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใชัจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมาเป็นพลังงานทางเลือกเป็นการเฉพาะ เช่น ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย เป็นต้น มาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าพลังงานโดยรวม และเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

 

2.การพัฒนาการประมงในอ่าวพังงาอย่างยั่งยืน(พ.ศ.2566-2570)(Andaman Sustainable Fisheries Development Project,2023-2027) เพื่อยกระดับการประมงชายฝั่งในอ่าวพังงา ให้เป็นแหล่งอุตสากรรมประมงและศูนย์กลางตลาดสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยมุ่งสร้างกลุ่มอาชีพประมงในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนประมงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง สู่การเป็นอุตสาหกรรมประมงที่มีคุณภาพสูงและแข่งขันได้ สามารถยกระดับรายได้ของประชาชน และ GDP ของกลุ่มจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม

 

นายกฯมีข้อสั่งการข้อเสนอนี้ว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณารายละเอียดการพัฒนาพัฒนาการประมงในอ่าวพังงาอย่างยั่งยืน(พ.ศ.2566-2570) (Andaman Sustainable Fisheries Development Project,2023-2027) หากมีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานสำนักงานประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป 
    

 

3.การส่งเสริมการเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์แบบครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล ตามแนวคิดการเลี้ยงแพะในสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน ที่ส่งเสริมให้เกษตรการเลี้ยงแพะแปลงใหญ่ให้เป็นอาชีพเสริมในสวนยางและปาล์มน้ำมันแบบผสมผสานในรูปแบบวนเกษตร เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ภายใต้ยุทธศาสตร์"กระบี่เมืองแพะ"แบบครบวงจร เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 

 

ข้อเสนอนี้นายกฯมีข้อสั่งการว่า ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาการส่งเสริมการเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรตามมาตรฐานอาหารฮาลาล โดยให้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการปรับโครงสร้างอาชีพเกษตรกรสวนยางและปาล์มน้ำมัน(ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ) ที่นำอาชีพการเลี้ยงแพะมาเป็นอาชีพเสริม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งให้พิจารณาการจัดตั้งธนาคารแพะ หากมีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานสำนักงานประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป