เปิดข้อสั่งการนายกฯไฟเขียว 8 โครงการด้านท่องเที่ยวกลุ่มอันดามัน  

17 พ.ย. 2564 | 10:37 น.

เปิดผลประชุมและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุมพิจารณาข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่ 6 จังหวัดกลุ่มชายฝั่งอันดามัน  8 โครงการ ด้านการท่องเที่ยว เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอ และนายกฯมีข้อสั่งการให้หน่วยงาน รับไปพิจารณาดำเนินการ ประสานเพื่อขอรับการสนับสนุนงบต่อไป 

เลขาฯสภาพัฒน์ มีหนังสือที่นร. 1114/22564  ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งผลการประชุมและข้อสั่งการนายกฯ ระหว่างประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาตใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล)  เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ระหว่างเวลา 09.15-10.15 น. ห้องประชุมโภคีธรา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโภคีธรา  กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในวาระจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ(ครม.สัญจร) ที่จังหวัดกระบี่ 

นอกจากเห็นชอบโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี จำนวน 7 โครงการ กรอบวงเงินรวม 494 ล้านบาท นายกฯสั่งการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้กระทรวงมหาดไทยเสนอขอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปแล้ว 

นายกฯเป็นประธานประชุมกรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พิจารณาข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่ในโอกาสประชุมครม.สัญจรที่กระบี่

นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบในหลักการ ข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 5  ด้านสำคัญ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดในแผนงานเพื่อเสนอตามขั้นตอน 

    โดยในด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการข้อเสนอ 8 โครงการ ประกอบด้วย

1.การยกระดับและพัฒนาศักยภาพศูนย์การสั่งการและระบบการแพทย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยการพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก ด้วยระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย

1) งานปรับปรุงห้องศูนย์ปฎิบัติการและบัญชาการเหตุการณ์กลาง(Operation and Command Center) และ

2) การยกระดับและพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลกระบี่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเครือข่ายอันดามันและจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ การปรับปรุงอาคารบำบัดรักษา(ห้องผ่าตัด ห้องICU ห้องสวนหัวใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน) จำนวน 1 หลัง และจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ในระยะเร่งด่วน เช่น ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ระดับสูง(ALS) และเครื่องศูนย์กลางการรักษาทางไกลและเครื่องติดตามสัญญาณชีพพร้อมเครื่องกระตุกหัวใจในรถพยาบาล รถเอกซเรย์ สำหรับการให้บริการในพื้นที่ห่างไกล และเครื่อง Hyperbaric Chamber (โรงพยาาลเกาะลันตา) เป็นต้น

นายกฯมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทย รับไปดำเนินการปรับปรุงห้องศูนย์ปฎิบัติการและบัญชาการเหตุการณ์กลาง(Operation and Command Center)  และให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปดำเนินการยกระดับและพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ของโรงพยาบาลกระบี่ หากมีความพร้อมของพื้นที่ดำเนินการ รูปแบบการบริหารจัดการที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการได้ทันที ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ประสานสำนักงบฯ พิจารณาบรรจุในแผนการปฎิบัติงานแลแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ.2566 

2.การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสินค้าเพื่อสุขภาพ กลุ่มจังหวัดอันดามัน ได้แก่ 
        1)วนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง จังหวัดตรัง โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์วนอุทยานบ่อน้ำร้อน และงานก่อสร้างประกอบอื่น โดยนำเทคโนโลยี( Internet of Things:IoT) มาใช้ในการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด(Smart Government) และปรับปรุงอาคารอารยสถาปัตย์สิ่งก่อสร้าง และพื้นอาคารเดิม(อาคารสโมสร อาคารกิจกรรมของผู้มาใช้บริการ พื้นที่อาบน้ำปรับอุณหภูมิร้อนเย็น  
         2)บ่อน้ำพุร้อนบ้านปากพู่ หมู่ที่ 4 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวก อีกทั้ง ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา และกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้ให้ได้กับประชาชนในท้องถิ่น และ
        3) บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย จังหวัดสตูล โดยการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ต่อเติมอาคารเพื่อจำหน่ายของที่ระลึกบริเวณท่าเทียบเรือปากบาราและการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการบริการสินค้าเพื่อสุขภาพ การพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อน บ่อน้ำร้อน ทั้ง 3 แห่งดังกล่าว โดยคำนึงถึงการพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล

และปรับปรุงระบบบริหารจัดการ โดยให้เอกชนดำเนินการให้เกิดความคุ้มค่า หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่จำเป็นเร่งด่วน และพร้อมดำเนินการ ให้ทั้ง 3 กระทรวง ประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบฯตามขั้นตอนต่อไป

3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์(ปรับปรุงจวนข้าหลวงเก่า)ระยะที่ 1 ได้แก่ การบูรณะอาคาร 1 หลัง (จวนข้าหลวงเก่า) จังหวัดพังงา ประกอบด้วย โครงสร้างหลังคา ภายนอกและภายในอาคาร งานฝ้า งานพื้น งานไฟฟ้า ป้ายบรรยาย และอื่น ๆ เนื่องจากมีความทรุดโทรมเสียหาย และสูญเสียคุณค่าประวัติศาสตร์และอารยธรรมของอันดามัน ที่สืบทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีการบูรณะซ่อมแซม เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมย่านเมืองเก่ากลุ่มจังหวัดอันดามัน

โครงการนี้นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม รับไปิจารณาเร่งรัดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์(ปรับปรุงจวนข้าหลวงเก่า) ระยะที่ 1 หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรม ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบฯ ขอรับการจัดสรรจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในงบประมาณรายจ่ายปีพ.ศ. 2565 ตามขั้นตอนต่อไป

4.Khaolak Surf Town โดยการพัฒนาพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ให้เป็นเมืองแห่งเซิร์ฟ เป็นพื้นที่ฝึกหัดกีฬาโต้คลื่นของประเทศไทย สามารถพัฒนาเป็นจุดขายเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้แก่คนในพื้นที่ ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับการต้อนรับนักท่อง

ข้อเสนอนี้ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ และให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รับไปพิจารณาในรายละเอียดโครงการ เพ่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ให้เป็นเมืองแห่งเซิร์ฟ หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯประสานสำนักงบฯเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไ

5.การพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พื้นที่อุทยานพระนารายณ์ เชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมอันดามัน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณทางเข้าเมืองของย่านเมืองใหม่(ย่านยาว) และย่านตลาดเก่า(เมืองเก่าตะกั่วป่า) ให้เป็นสวนสาธารณะของเมือง เป็นพื้นที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และพื้นที่สีเขียวของเมือง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพให้เป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวในเมืองตะกั่วป่าที่มีความสำคัญในการเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของจังหวัด

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาในรายละเอียดการพัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นี้ หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบฯเพื่อบรรจุในแผนปฎิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบฯปีพ.ศ.2566 

6.การพัฒนาสนามกีฬาเทศบาลนครตรังสู่มาตรฐานสากล โดยการยกระดับสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง ขนาดความจุ 4,000 ที่นั่ง ในฐานะที่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองกีฬา (Spoet City) ให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาและอาชีพกีฬา(Sport Excellemce and Professional)

เป็นศูนย์การผึกกีฬามาตรฐาน(Trang Training Center) และเป็นศูนย์ฝึกสมรรถภาพทางกีฬาครบวงจรที่ทันสมัยในภาคใต้ สามารถรองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน(Sport Event) การกีฬายุคใหม่(Digital Sport) เพื่อก้าวสู่ Roadmap Trang Sports City) ที่รองรับกิจกรรมกีฬาของคนทุกเพศทุกวัย

ประกอบด้วย การติดตั้งระบบปรับอากาศ โดยใช้ระบบ VRV หรือ VRF การติดตั้งพื้นสนามกีฬาในร่มโดยใข้พื้นแบบ PU Sport  การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคาร ระบบป้องกันฟ้าผ่า และติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า การติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา การติดตั้งเก้าอี้สำเร็จรูปบนอัฒจันทร์ และการติดตั้งสกอร์บอร์ด 

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาการพัฒนาสนามกีฬาเทศบาลนครตรังสู่มาตรฐานสากล  โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและไม่เป็นภาระของรัฐในอนาคต หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรมที่จำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบฯเพื่อขอรับการสนับสนุนงบฯตามขั้นตอนต่อไป

7.การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองพังงา ได้แก่ การพัฒนาคลองพังงา ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร สองข้างทาง รวมเป็นระยะทาง 11.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1)งานเขื่อนเรียงหิน ความยาว 11.4 กิโลเมตร 2)งานทางเท้า ความกว้าง 2 เมตรแนวข้างทาง และ 3) งานปรับปรุงภูมิทัศน์ 2 ข้างทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของพังงา 

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการนี้ และนายกฯมีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รับไปพจารณาข้อเสนอโครงการ โดยคำนึงถึงความพร้อมและความต้องการของพื้นที่่ ความคุ้มค่าการลงทุน และการบริหารจัดการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติที่ยั่งยืน หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบฯขอรับการสนับสนุนงบตามขั้นตอนต่อไป

8.การพัฒนาอุตสาหกรรมมารีนา ได้แก่ 
        1) ขอให้รัฐบาลอนุญาตให้คนประจำเรือยอร์ช สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นระยะเวลา 180 วัน (เดิมอยู่ได้เพียง 30 วัน) และสามารถขอขยายได้อีก 180 วัน ซึ่งจะสนับสนุนประกาศศุลกากรที่ขยายเวลาการนำเข้าชั่วคราวเรือยอร์ชจาก 1 ปี เป็น 2.5 ปี 
        2) ขอการสนับสนุนการพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำ และสัญญาณการเดินเรือ เพื่อรองรับและส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงานในอนาคต โดยเบื้องต้นขอนำเสนอ 2 แห่ง ในจังหวัดกระบี่ คือ

           (1) ตั้งแต่คลองปากหรา คลองตลิ่งชัน และคลองยวน ให้ได้ความลึกร่องน้ำต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุด 5-6 เมตร ซึ่งเส้นทางเดินเรือดังกล่าวเป็นเส้นทางเดินเรือประมง เรือยอร์ช และเรือซูเปอร์ยอร์ช และ

            (2) พัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำสาธารณะ(คลองนบ) ให้ได้ความลึกต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุด 2.5 เมตร ซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างเรือประมงชาวบ้าน เรือขนส่งผู้โดยสาร เรือยอร์ช และเรือซูเปอร์ยอร์ช โดยขอให้กระทรวงคมนาคมกำหนดให้ คลองนบ เป็นส่วนหนึ่งของร่องน้ำกระบี่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าเช่นเดียวกับคลองจิหลาด และ

            (3) ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางมารีนาและศูนย์ซ่อมบำรุงเรือยอร์ช แก่นักท่องเที่ยวคุณภาพในยุโรป อเมริกา และเอเซีย 

นายกฯสั่งการ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาปรับปรุงการอนุญาตให้คนประจำเรือยอร์ช สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 180 วัน จากเดิม 30 วัน และสามารถขอขยายต่อไปได้อีก 180 วัน และเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางมาริน่าและศูนย์ซ่อมบำรุงเรือยอร์ช 

สำหรับการพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำและสัญญาณการเดินเรือ 2 แห่งในจังหวัดกระบี่ เบื้่องต้นให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงทรัพยฯ กระทรวงคมนาคม ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว หากมีแผนงาน โครงการ กิจกรรม ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการ ให้หน่วยงานรับผิดชอบประสานสำนักงบฯ รับไปพิจารณา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และรายงานความคืบหน้าให้ครม.ทราบเป็นระยะ