โควิดระลอกใหม่ ทุบแอร์ไลน์พังพาบ วอนรัฐขยายเวลาอุ้ม

17 ม.ค. 2564 | 02:00 น.

โควิดระลอกใหม่ ทุบแอร์ไลน์พังพาบ ดิ้นงัดกลยุทธ์หนีตาย ลดเที่ยวบินไปแล้วตํ่ากว่า 50% จากดีมานด์ผู้โดยสารหดตัว ร้องรัฐขอให้ต่ออายุมาตรการเยียวยา พ้อหมดหวังซอฟท์โลน 1.4 หมื่นล้านบาท ต้องช่วยตัวเอง

โควิดระลอกใหม่ พ่นพิษ ซํ้าเติมธุรกิจแอร์ไลน์ ดิ้นงัดกลยุทธ์หนีตาย เผยแค่ 2 สัปดาห์ ต้องลดปริมาณเที่ยวบินไปแล้วตํ่ากว่า 50% จากดีมานด์ผู้โดยสารหดตัว ร้องรัฐขอให้ต่ออายุมาตรการเยียวยา

 

ทั้งส่วนลดนำร่องอากาศยาน ค่าแลนดิ้ง-ปาร์กกิ้งในสนามบินของกรมท่าอากาศยาน รวมถึงยืดเวลาการลดค่าสรรพสามิตนํ้ามันออกไปอีก พ้อหมดหวังซอฟท์โลน 1.4 หมื่นล้านบาท ต้องช่วยตัวเอง

 

จำนวนผู้โดยสารเที่ยวบินในประเทศไทย ในไตรมาสสุดท้ายของปี2563 มีสัญญาณที่ดี คือมีปริมาณเกือบเทียบเท่ากับปีก่อนหน้า แต่กลับต้องมาชะงักอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งกำลังทำลายและซํ้าเติมธุรกิจการบินของไทยอีกครั้งในปีนี้

 

นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในช่วงเดือนธันวาคม2563 ปริมาณเที่ยวบินในไทย ต้องถือว่าสถานการณ์เริ่มกลับมา

 

โดยมีปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200-1,300 เที่ยวบินต่อวันซึ่งกว่า 80% เป็นการให้บริการของสายการบินภายในประเทศของไทย ส่วนอีก20%เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เปิดให้บริการกึ่งพาณิชย์และเที่ยวบินผ่าน

 

แต่หลังเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้สายการบินต่างๆต้องลดเที่ยวบิน ให้สอดคล้องกับการต้องการในการเดินทางที่ลดลง โดยล่าสุดสายการบินต่างๆได้ลดจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 680-700 เที่ยวบินต่อวัน ลดลงไปแล้วกว่า 50% และยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

 

ส่วนใหญ่เป็น การลดลงของเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ยังอยู่ในสภาวะทรงตัว

“การลดลงของปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศมีแนวโน้มจะลดลงถึงสิ้นเดือนนี้ และคงจะเป็นเช่นนี้ไปสักพักหนึ่ง จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะปรับตัวดีขึ้น อากาศจะค่อยๆฟื้นกลับมา นายทินกร กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ปริมาณเที่ยวบินที่ลดลงส่วนใหญ่จะเป็นการยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางสายรองและสายย่อยเป็นหลัก อาทิ จุดบินจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังจุดบินต่างๆที่สายการบินต่างๆได้แจ้งยกเลิกเที่ยวบินไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้

 

ขณะที่เส้นทางบินหลักจะปรับลดความถี่ของเที่ยวบินลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ขณะที่บางสายการบินก็ออกแคมเปญใหม่ เพื่อดึงสภาพคล่องเข้ามา อย่างสายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดขายบัตรกำนัล “เพาเวอร์พาส” แบบ 6 เดือน ราคา 1.2 หมื่นบาท และ 12 เดือน ราคา1.9 หมื่นบาท บินภายในประเทศของไทยเวียตเจ็ทได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

 

ส่วนอีกหลายสายการบิน อย่างไทยแอร์เอเชีย,ไทยไลอ้อน แอร์ ก็เลือกที่จะออกแคมเปญในลักษณะเมื่อซื้อตั๋ว ก็เปิดให้สามารถเปลี่ยนวันเดินทางได้ เพื่อยืดหยุ่นการขาย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้โดยสารจองตั๋วไว้แล้ว ต้องการเลื่อนวันเดินทางเป็นจำนวนมาก

 

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่าสายการบินได้เริ่มทยอยยกเลิกและลดเที่ยวบินลงตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.64 โดยได้ยกเลิกเที่ยวบินอู่ตะเภา-เชียงใหม่ ส่วนเที่ยวบินอื่นๆจะใช้วิธีปรับลดความถี่ลง ซึ่งปัจจุบันปรับลดลง 50% จากก่อนหน้านี้บินอยู่ที่ 40-50 เที่ยวบินต่อวัน เหลืออยู่ที่ราว 20 เที่ยวบินต่อวัน

 

เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ขนาดปรับความถี่ลงแล้วอัตราการบรรทุกเฉลี่ยยังได้แค่50%

 

ขณะนี้สายการบินอยากร้องขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องของการลดต้นทุน เนื่องจากหลายมาตรการได้สิ้นสุดไปตั้งแต่สิ้นเดือนธ.ค.63 ไม่ว่าจะเป็นการลดค่านำร่องอากาศยานของบวท. ลง 50% หรือแม้แต่การลดค่าแลนด์ดิ้ง 50% และปาร์กกิ้ง90% ของสนามบินต่างๆ ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน

 

จึงอยากให้มีการขยายระยะเวลาต่อมายังปีนี้ เหมือนสนามบินในสังกัดของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ที่ขยายมาตราการช่วยเหลือสายการ บินยาวไปถึงสิ้นปี64

 

รวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตนํ้ามันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินจากเดิม 4.726 บาท/ลิตร เป็น 0.20 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ก็อยากให้มีการขยายเวลาออกไปอีก

ผลกระทบสายการบิน

 

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์  ประธานกรรมการบริหารไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า  การขอสนับสนุนซอฟท์โลนจากรัฐบาล ของกลุ่มสายการบินต่างๆของไทย เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน ช่วงเดือน ธ.ค.2563 - ธ.ค.2564 วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท  แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยสายการบินทั้งหมด ยอมรับว่า คงเลิกหวังแล้ว 

 

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย กำลังเร่งขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมทั้งการระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นกู้ และอีกหลายๆช่องทางโดยการเร่งหาแหล่งเงินทุนนั้น ซึ่งเราต้องการระดมทุนราว 3-4 พันล้านบาท ประคองลมหายใจให้ได้ไปถึงสิ้นปีนี้

 

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงิน กองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเราเปิดกว้าง ยอมรับว่ามีการหารืออยู่ 5-6 ราย  มั่นใจว่าระดมทุนได้แน่นอน แต่ยังเจรจากันไม่จบ คาดว่าจะสรุปได้ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้”

 

เนื่องจากยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันสภาพคล่องที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เหลืออยู่ คงยื้อสถานการณ์ได้ถึงเดือนมีนาคมปีนี้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินได้ลดเงินเดือนพนักงานไป แต่จะต้องมีการเลิกจ้างในอนาคตหรือไม่นั้นในขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว



การระดมทุนที่จะเกิดขึ้น จะเพิ่มสภาพคล่องให้ไทยแอร์เอเชียได้ ระหว่างรอให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางกลับมาเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 

 

นอกจากนี้เรายังต้องดำเนินธุรกิจแบบเก็บคองอเข่าไปก่อน รอให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ เพราะโควิดระลอก 2 เรากระทบหนัก ปัจจุบันทำการบินได้แค่ 20% มีเครื่องบินทำการบินได้ราว 15-20 ลำจากฝูงบินที่มีอยู่ 63 ลำ

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

4 สนามบินร้าง ไร้เที่ยวบิน100%พิษโควิดระลอกใหม่

ไทยแอร์เอเชีย ระดมทุน 3-4 พันล้านกู้ชีพ หมดหวังซอฟท์โลนรัฐบาล

7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com

"ไทยไลอ้อนแอร์ " เลิกจ้างนักบิน-ลูกเรือ เพิ่มอีก 248 คน