ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

15 กันยายน 2563

โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจสายการบินของไทยพังพาบเร็วขึ้น การจะยืนระยะให้ฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ได้ เพื่อรอสถานการณ์กลับสู่มาใกล้เคียงปกติในปี66 การตุนสภาพคล่องจึงเป็นเรื่องจำเป็น

     การเผชิญกับผลกระทบโควิด-19 ของ ธุรกิจสายการบินของไทย ในปีนี้  แม้จะเป็นปีแรกของมรสุมที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น  แต่จากสถานะการเงินที่อ่อนแออยู่แล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ของเกือบจะทุกสายการบิน การเกิดโควิด จึงเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจพังพาบเร็วขึ้น การจะยืนระยะให้ฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ได้ เพื่อรอสถาน การณ์กลับสู่ภาวะปกติในอีก  3-4 ปีจากนี้ การตุนสภาพคล่องจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ปี 66 ใกล้เคียงปกติ

            เพราะกว่าจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจสายการบิน กว่าจะปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ปกติต้องรอไปถึงปี 67-68  โดยจากการประมาณการผู้โดยสารระหว่างประเทศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อการขนส่งทางอากาศของไทย ไว้ 2 กรณี

            โดย กรณี Base Case คาดว่าในปี63 มีผู้โดยสารระหว่างประเทศเข้าไทย จำนวน 16.14 ล้านคน ลดลง 81.8% จากปีที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นหากมีการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัด และสามารถพัฒนาวัคซีน ได้สำเร็จในช่วงกลางปี64 จำนวนผู้โดยสารจะทยอยปรับตัวขึ้นเป็น 35.77 ล้านคน

            ทั้งนี้ภายหลังจากความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน จะมีการเดินทางระหว่างประเทศตามปกติ จำนวนผู้โดยสารจะทยอยปรับตัวขึ้นตามลำดับจนจำนวนผู้โดยสารในปี66 กลับมาอยู่ที่ราว 83.83 ล้านคนในระดับใกล้เคียงกับจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด ซึ่งอยู่ที่ 88.82 ล้านคน  และหลังจากนั้นจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของไทยจะปรับตัวเข้าสู่การเติบโตตามสถานการณ์ปกติในปี 67-68

            ส่วนใน กรณี Worst Case คาดว่าในปี63 จะมีผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 16.08 ล้านคน ลดลง 81.9% จากปีก่อน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจนถึงสิ้นปี หลังจากนั้นหากมีการเริ่มทำ Travel Bubble กับประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ และสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จในช่วงปลายปี 64 จำนวนผู้โดยสารจะปรับตัวขึ้นเป็น 20.83 ล้านคน

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด
         ต่อมาหากมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายจะมีการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศตามลำดับ จำนวนผู้โดยสารจะทยอยปรับตัวขึ้นจนจำนวนผู้โดยสารในปี 67 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หลังจากนั้นจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของไทยจะปรับตัวเข้าสู่การเติบโตตามสถานการณ์ปกติในปี 68

       ขณะที่จำนวนผู้โดยสารโดยรวมทั้งเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงครึ่งแรกของปี63 ไทยมีการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด 33.86 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 59.5% โดยไตรมาส 1 ลดลง 28.8% ไตรมาส 2 ลดลง 95%  จากการประกาศล็อกดาวน์และการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทยชั่วคราว แต่นับจากการทยอยคลายล็อกดาวน์ สายการบินต่างๆก็ทยอยกลับมาเปิดทำการบินภายในประเทศเมื่อปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และเริ่มทยอยเปิดเที่ยวบินพิเศษได้บ้างเล็กน้อย เพื่อรองรับคนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ หรือรองรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นในการเดินทาง

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

ดันยอดขายตั๋วล่วงหน้า

            จากการประมาณดังกล่าว ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ธุรกิจสายการบินของไทย ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย ในปีนี้นกสกู๊ตจึงเป็นสายการบินแรกของไทย ก็พับปีก เลิกกิจการไปแล้ว ขณะที่สายการบินต่างๆ ก็แทบจะกางปีกไม่ไหว ต้องดาวน์ไซซ์องค์กร เลิกจ้าง ลดเงินเดือน  ลดค่าใช้จ่ายกันเต็มพิกัด ท่ามกลางรายได้ที่เข้ามาไม่เหมือนเดิม

            ขณะที่ นกแอร์, การบินไทย ต่างเข้าสู่กระบวนการ ฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กม.ล้มละลาย เพื่อหวังกอบกู้ธุรกิจกลับมาอีกครั้ง  และสิ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกสายการบินต่างเร่งตุนสภาพคล่อง เพราะต่างมองตรงกันกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวได้ก็น่าจะเป็นปี 65

            ดังนั้นปีหน้าก็ยังเป็นปีที่ยากลำบากของสายการบินอยู่ การเรียกร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุน ซอฟต์โลน ของ 7 สายการ บิน (ไม่รวมการบินไทย) วงเงินรวม  2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่ารัฐบาลน่าจะสนับสนุนเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ได้ในเดือน ต.ค.นี้

            หากได้ซอฟต์โลนมาก็จะช่วยต่อลมหายใจให้สายการบินได้พอประคองตัวต่อไปได้บ้าง เพราะการกู้ธนาคารพาณิชย์ ตามเงื่อนไขปกติ เป็นไปได้ยาก เพราะสายการบินต่างๆ แบกการขาดทุนบักโกรก หากตัดการบินไทยที่ขาดทุนหนักสุดออกไป ก็จะเห็นว่า นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ ต่างก็ขาดทุนสะสมกว่าหมื่นล้านบาท ไทยสมายล์ ขาดทุนสะสม 8 พันล้านบาท ไทยแอร์เอเชีย ก็ประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันเป็นปีที่2 แม้แต่ บางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งเป็นสายการบินที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด ในปีนี้ก็เป็นครั้งแรกที่จะขาดทุน เฉพาะครึ่งแรกปี63 ขาดทุน 3.3 พันล.

            อย่างไรก็ตามสายการบิน ก็คงรอพึ่งแต่ซอฟต์โลนก็คงไม่ใช่ ต่างดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร โดยสายการบินที่ทยอยลดการจ้างงานก่อนใคร คือ ไทยไลอ้อนแอร์ และล่าสุดได้คืนเครื่องบินจาก 35 ลำ เหลือ 11 ลำ ทยอยเลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่า 500 คน ในการประกาศเลิกจ้าง 3 ครั้งที่ผ่านมา การบินไทย  ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส ต่างเปิดโครงการให้พนักงานลาหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน

            รวมถึงทุกสายการบินต่างดันรายได้จากการขายตั๋ว เพื่อดึงเงินจากการขายตั๋วล่วงหน้า ผ่านการจัดโปรโมชันต่างๆสำหรับเส้นทางบินภายในประเทศ อาทิ ไทยแอร์เอเชีย ออกโปรโมชันตั๋วบุฟเฟ่ต์ ล่าสุดบางกอกแอร์เวย์ส เปิดตัว “ฟลายเออร์พาส” บินสุดค้ม 4 เที่ยวบิน ในราคา 3,900 บาท และทุกสายยังพัฒนาการขายจากเดิมที่ขายอาหาร หรือสินค้าบนเครื่องบิน ก็ปรับมาขายในแบบออนกราวด์ ให้คนที่ไม่ได้บินก็สามารถซื้อได้

หวัง ภูเก็ต โมเดล นำร่องบินตปท.

       นอกจากนี้ทุกสายการบิน ยังรอจังหวะที่จะกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากการเปิดเที่ยวบินพิเศษ เช่าเหมาลำ รับผู้โดยสารตกค้างกลับประเทศและคนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางแล้ว สายการบินต่างๆยังรอความชัดเจนของ “ภูเก็ต โมเดล” ที่จะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าไว้ในเดือนตุลาคมนี้ด้วย

        นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่ากลุ่มแอร์เอเชียพร้อมที่จะเข้าร่วมบิน เครื่องบินเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลท์ หากรัฐบาลทำ MOU ให้ต่างชาติเที่ยวไทย ภายใต้เงื่อนไข ASQ หรือ Alternative State Quarantine ได้ โดยเริ่มใช้กับ ภูเก็ตโมเดล ด้วยสภาพเครื่องที่พร้อมบิน และพนักงานที่พร้อมให้บริการ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการปลดออกแม้แต่คนเดียว

        ทั้งสายการบินเองยังได้วางแผนสำรองสำหรับการกู้เงินสถาบันการเงินต่างประเทศไว้ด้วย ทั้งนี้ ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 2565 และปีหน้าเป็นปีที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ชดเชยได้อย่างน้อยใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่หายไป โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว

      เช่นเดียวกับการบินไทย ก็วางแผนจะเปิดเที่ยวบินพิเศษเช่าเหมาลำบินตรงจาก 6 เส้นทางระหว่างประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง มายังภูเก็ต โดยแต่ละเส้นทางจะทำการบินประมาณ 2 เที่ยวบินต่อเดือน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 และยังมีแผนจะทำการบินตรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ภูเก็ต รับนโยบาย ภูเก็ต โมเดล ของรัฐบาลด้วย

       ภูเก็ต โมเดล จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของสายการบินในขณะนี้ ถึงการทยอยกลับมาเปิดทำการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ ในระยะสั้นที่พอจะหวังผลได้บ้าง ตราบใดที่ธุรกิจการบินยังไม่ฟื้นตัว และสายการบินจะยืนอยู่ได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสภาพคล่องของแต่ละสายที่จะเกิดขึ้น เพราะโควิดยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินไปอีกหลายปีกว่าจะฟื้นคืนสู่สถานการณ์ปกติ

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไออาต้า ประเมินล่าสุด คาด ธุรกิจการบินโลก ฟื้นตัวเท่าเดิมต้องรอถึงปี67
8 แอร์ไลน์ ดาวน์ไซซ์องค์กร นกสกู๊ตปิดกิจการ
"นกสกู๊ต"แต่งตั้งผู้ชำระบัญชีพร้อมจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว
"ไทยแอร์เอเชีย" สยายปีก "สนามบินสุวรรณภูมิ" เปิด 4 เส้นทางบิน ตั๋วโปร เริ่มต้น400บาท
“บางกอกแอร์เวย์ส” ลดคน จ่ายสูงสุด 20 เดือนจูงใจพนักงานสมัครใจลาออก
"ไทยไลอ้อนแอร์ " เลิกจ้างนักบิน-ลูกเรือ เพิ่มอีก 248 คน
“ไทยเวียตเจ็ท” ยืนหนึ่ง ขยายธุรกิจโตสวนโควิด