ตั้งรางวัล 1 หมื่น ล่าจับ ผู้ทำลายซากหมูไม่ถูกวิธี

09 มิ.ย. 2564 | 11:45 น.

“ปศุสัตว์เพชรบุรี” ตามล่าผู้ทำผิดทำลายซากหมูไม่ถูกวิธีให้รางวัลนำจับ 1 หมื่นบาท แก่ผู้พบเห็น ขอแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินคดีถึงที่สุด ระบุโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณีมีการลักลอบเคลื่อนย้ายนำซากสุกร ไปทิ้งในที่สาธารณะและคลองน้ำ ในชุมชนบ้านบึงกระจับ อำเภอท่ายาง จ.เพชรบุรี นั้นสำนักงานปศุสัตว์อำเภอท่ายาง สนธิกำลังกับผู้นำชุมชนดำเนินการฝังซากตามมาตรฐาน พร้อมแจ้งความดำเนินคดี และตั้งรางวัลนำจับผู้ที่แจ้งเบาะแส เป็นจำนวน 10,000 บาท เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

 

ขนิษฐา ธิติดิลกรัตน์

 

นางขนิษฐา ธิติดิลกรัตน์  ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี  เปิดเผยว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ได้รับแจ้งจากนายกเทศมนตรีตำบลท่ายาง ซึ่งได้รับการร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมูที่ตั้งอยู่ชุมชนบ้านบึงกระจับ หมู่ 2 วังขุนด่าน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 จึงได้สั่งการให้ปศุสัตว์อำเภอท่ายาง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที พบว่าไม่ได้ทำลายซากสัตว์อย่างถูกวิธี จึงสั่งการให้ปศุสัตว์อำเภอออกคำสั่งเป็นหนังสือเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ให้เจ้าของฟาร์มทำการฝัง หรือเผา ตามมาตรา 13(2) หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของสัตวแพทย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังต้องแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 11 ที่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 12 ชั่วโมง ตั้งแต่ทราบว่าสัตว์ป่วยตาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

 

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  โดยทำการตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างทันท่วงที และดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วนที่สุด สำหรับฟาร์มที่ถูกอ้างอิงนั้น เจ้าของฟาร์มแจ้งว่าทำการพักเล้าและไม่มีสุกรแล้ว อย่างไรก็ตามปศุสัตว์พื้นที่ได้เก็บตัวอย่างซากสุกรเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติม  เพื่อหาสาเหตุการตายต่อไปแล้ว”

 

ทั้งนี้จากการประสานงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้ทราบว่าด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี ได้สกัดจับผู้ที่ลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี และ ปศุสัตว์อำเภอท่ายาง จึงเร่งค้นหาฟาร์มที่มีสัตว์ป่วย โดยการสำรวจ เก็บตัวอย่าง Surface swap ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากพิกัดที่ทราบจากเจ้าหน้าที่ด่านฯ โดยส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 จำนวน 11 ฟาร์ม ผลตรวจโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก ออกมาแล้วพบว่า ตัวอย่างทั้งหมดไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยคาดว่าสุกรป่วยจาก "โรคเพิร์ส" หรือ "PRRS"

 

อย่างไรก็ดีต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" พร้อมโชว์หลักฐาน สลิปการโอนเงินจ่ายจริงให้กับผู้แจ้งเบาะแส จ่ายแล้วด้วย พร้อมกับยืนยันว่า "เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ใจถึง พึ่งได้"

 

จ่ายแล้ว จ่ายจริง

"โรคเพิร์ส" หรือ "PRRS" เป็นโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวหมูเป็นทุนเดิมอยู่แล้วถ้าหมูแข็งแรงจะไม่แสงอาการออกมาให้เห็นและด้วยเป็รโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสยังไม่มียารักษา ยาที่ใช้กันจะเป็นการรักษาตามอาการของโรคแทรกซ้อนที่ตามมาภายหลัง ฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยหมูได้ดีที่สุดคือ ทำให้มีภูมิคุ้มกันสู้ไวรัสได้ แต่ถ้ามาเจอกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย หมูภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อไรจะมีโอกาสเกิดการระเบิดของโรคให้ระบาดไปทั่วได้

 

"โรค PRRS"  เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางการสัมผัส การเคลื่อนย้ายสัตว์ และอุปกรณ์ภายในฟาร์มที่ไม่เป็นระบบ หรือการเลี้ยงสุกรหนาแน่นเกินไป รวมถึงการติดเชื้อจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีประวัติการติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ สุกรพันธุ์ พบว่ามีการคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง (มากกว่า 100 วัน) ลูกที่คลอดอ่อนแอและมีอัตราตายแรกคลอดสูง

 

สุกรอนุบาล สุกรขุน มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไอหรือจาม โตช้า และมักพบโรคแทรกซ้อน อื่นๆ ร่วมด้วยความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น สุกรที่อายุมากกว่า 1 เดือน จะแสดงอาการไม่เด่นชัดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน ซึ่งวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ เกษตรกรควรมีการจัดการฟาร์มที่ดี ทั้งในส่วนของความสะอาดของฟาร์ม วัสดุอุปกรณ์ และตัวสุกรเอง มีความเข้มงวดในเรื่องของการเข้าออกของบุคคลและยานพาหนะภายนอกโดยมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม ไม่ควรเลี้ยงสุกรหนาแน่นเกินไป เพราะจะทำให้สุกรเครียด เสี่ยงต่อการเกิดโรค พยายามให้ภายในฟาร์มมีการถ่ายเทอากาศที่สะดวก และเช็คประวัติของสุกรที่นำสุกรที่จะเข้ามาเลี้ยงควรมาจากแหล่งที่ปลอดเชื้อโรค "PRRS"