ปฎิวัติเมียนมา ทุบส่งออกไทย 9 หมื่นล้าน

28 พ.ค. 2564 | 03:24 น.

ม.หอการค้าชี้ ปฏิวัติกระทบส่งออกไทยไปเมียนมาคาดหาย6-9.6หมื่นล้านบาท ลดลงต่ำสุดเท่าที่เคยมี

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึง ผลการศึกษา ปฏิวัติเมียนมา:กระทบการค้าการลงทุนไทยและอาเซียน ว่า 100 วันหลังการปฎิวัติครั้งที่ 4 โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (MIN AUNG HLAING) ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของเมียนมาไตรมาสแรกหดตัวลง 2.5% สูญเสียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการว่างงาน 6 แสนคน จำนวนคนไม่มีอาหารกิน 3.4 ล้านคน ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่า18% และรายได้ของครัวเรือนเมียนมาลดลง 83% ราคาน้ำมันเพิ่ม 15% ราคาข้าวขายปลีกเพิ่ม 35% และราคาน้ำมันปาล์มขวดเพิ่ม 20%

ขณะที่บริษัทในเมียนมาที่หยุดดำเนินธุรกิจคือ บริษัทเมียนมา 83% บริษัทญี่ปุ่น 68.4 และบริษัทตะวันตก 67% และคาดว่าจีดีพีปีนี้ของเมียนมาจะหดตัว 10% ถึง 20% ส่วนเอฟดีไอปีนี้คาดว่าจะหายไป 76.1% ถึง 85.4% หรือมีมูลค่า 202,902 ล้านบาท ถึง 227,698 ล้านบาท โดยเอฟดีไอของเมียนมาที่ลดลงจะอยู่ในกลุ่ม พลังงาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ น้ำมันและก๊าซ ขนส่ง และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยมีโอกาสจะย้ายการลงทุนจากเมียนมาไป เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป. ลาว มาเลเซีย และไทย

ปฎิวัติเมียนมา ทุบส่งออกไทย 9 หมื่นล้าน

 

 

จากปัจจัยลบต่าง ๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปเมียนมาในปีนี้คาดว่าจะลดลง 51.6% ถึง 82.2% หรือมีมูลค่าเท่ากับ 60,670 ถึง 96,590 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นการลดลงต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา และทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยหดตัว 0.8%ถึง 1.3% โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเสี่ยง ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมาก เช่น น้ำมันสำเร็จรูปเครื่องจักรกล เหล็ก ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เภสัชภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเซรามิค ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง เช่น เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว น้ำตาลทราย อาหารสัตว์ น้ำมันพืช โทรทัศน์ กุ้ง รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากข้าว และเครื่องใช้บนโต๊อาหาร

ขณะที่ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกไปเมียนมาลดลงมากที่สุดคือ จีน รองลงมาเป็นอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ตามลำดับ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีมูลค่าการส่งออกไปเมียนมาลดลงมากคือ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม 

 

“จากที่ได้ศึกษาหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็จะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปเมียนมากว่า 50% หรือมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะรายได้ของคนเมียนมาหายไปกว่า 80%แสดงว่าไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันไม่มีอาหารกิน 3.4 ล้านคนจากการประเมินขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ปี 2022 ก็ประเมินอีกว่าคนเมียนมาจะไม่มีอาหารกินเกินครึ่งของประชากรในเมียนมาหรือ 20 กว่าล้านคนนี่คือสถานการณ์ที่หลายองค์กรวิเคราะห์มา ดังนั้นจึงส่งผลให้การค้าการลงทุนลดลงแน่ ๆ และส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยแม้จะครองแชมป์มาโดยตลอดแต่สัดส่วนก็ลดลงมาจาก 50% เหลือ 40% โดยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในเมียนมาเพิ่มขึ้นซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกชนชี้ “รัฐประหารเมียนมา” ไม่กระทบการค้าไทย

‘เมียนมา’แรง ธุรกิจไทยอัมพาต ต่างชาติถอนลงทุน

150 บริษัทผวา ทหารเมียนมาอยู่ยาว โลกจ่อคว่ำบาตร-ลงทุนชะงัก