‘เมียนมา’แรง ธุรกิจไทยอัมพาต ต่างชาติถอนลงทุน

04 มี.ค. 2564 | 01:55 น.

ธุรกิจไทยในเมียนมาเป็นอัมพาต หลังคนผละงานร่วมประท้วงทั่วประเทศ 150 บริษัทตั้งในที่มั่น จับตาสถานการณ์หวั่นปะทุแรงขึ้น สั่งเตรียมแผนสำรอง ขณะต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ค่ายญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ประกาศถอนลงทุน สภาหอฯลุ้นไหลเข้าไทยเพิ่ม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ไทย ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รายงานสถานการณ์ในเมียนมา ณ วันที่ 2 มีนาคม (หลังมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564) ว่า ยังคงมีการหยุดงานร่วมประท้วงทั่วประเทศเพิ่มขึ้น

ในส่วนของธุรกรรมทางการเงินธนาคารกลางเมียนมาได้ออกประกาศจำกัดการถอนเงินได้ไม่เกิน 2 ล้านจ๊าด (ประมาณ 4 หมื่นบาท)ต่อสัปดาห์สำหรับบัญชีบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 20 ล้านจ๊าด(ประมาณ 4 แสนบาท) ต่อสัปดาห์สำหรับบัญชีห้าง/ร้าน/บริษัท เริ่มตั้งแต่วันทื่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากธนาคารเอกชนไม่สามารถเปิดทำการได้จากการหยุดงานประท้วงของพนักงาน ทำให้ประชาชนที่ต้องการถอนเงินต้องต่อแถวยาวเพื่อเบิกเงินจากตู้ ATM จนเงินในตู้หมดลงในเวลาอันรวดเร็วในช่วงเช้าของทุกวัน กระทบต่อสภาพคล่องของเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดการชะลอหรือลดการใช้จ่ายของประชาชน

ผลพวงจากรัฐประหารที่ถูกต่อต้านจากหลายประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ยังมีผลทำให้บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายบริษัทที่ลงทุนในเมียนมาประกาศถอนการลงทุน เช่น บริษัท Woodside บริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่จากออสเตรเลีย บริษัท KIRIN (คิริน) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่จากญี่ปุ่น นักธุรกิจสิงคโปร์จะถอนการลงทุนในบริษัทยาสูบ เป็นต้น และผลจากรัฐประหารในเมียนมา Fitch Rating ได้ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของเมียนมาปีนี้จะลดเหลือ 2% จาก 5.6% ที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ในเมียนมาที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจการค้า การลงทุนที่เป็นของคนไทยที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมามากกว่า 150 บริษัท รวมถึงของชาติอื่นๆ ทั้งโรงงานผลิต บริษัทห้างร้านต่างๆ รวมถึงธนาคารเอกชนทั่วประเทศต้องหยุดทำการไปโดยปริยายแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากไม่มีคนทำงาน ในรายที่ยังเปิดอยู่ก็ทำงานได้ไม่เต็มร้อย และไม่รู้ว่าผลิตแล้วจะไปขายให้ใคร สถานการณ์ภาคธุรกิจในเมียนมาเวลานี้ถือว่าเงียบมาก ทุกคนขาดความเชื่อมั่น และต่างจับจ้องรอดูสถานการณ์ว่าจากนี้จะเป็นไปในทิศทางใด

“มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ในเมียนมาครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ไม่ต้องไปพูดถึงการค้าชายแดน การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาเพราะตอนนี้เงียบไปหมดทั้งตลาด”

การปฏิวัติในเมียนมา

สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ที่กล่าวว่า การผละงานประท้วงของชาวเมียนมาในเมืองใหญ่ทั้งย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ ทำให้ธุรกิจ การค้าในเมียนมาซบเซา นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลเพราะสถานการณ์เริ่มหนักหน่วงเข้มข้นขึ้นเกรงจะมีคนล้มตายเพิ่ม จากมีการใช้กระสุนจริง ขณะเดิมพันของทั้งฝ่ายทหาร และประชาชนต่างก็แพ้ไม่ได้ หากสถานการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้ อาจกระทบค้าชายแดนที่นอกจากจะมีการตรวจตราเข้มงวดมากขึ้น การขนส่งสินค้า หรือการเดินทางอาจไม่สะดวก

“เหตุการณ์ในเมียนมากระทบความเชื่อมั่น ทำให้การลงทุนชะงักงัน หลายบริษัทได้ประกาศถอนการลงทุน เช่น บริษัท KIRIN ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ถอนหุ้นออกจากบริษัทผลิตเบียร์ในเมียนมา หากสถานการณ์รุนแรงยากควบคุมผู้ประกอบการของไทยในเมียนมาคงต้องเตรียมแผนสำรองกับทางสถานทูตเพื่ออพยพคนกลับ ขณะที่การใช้เวทีอาเซียนเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยหรือเวทีเจรจาของทั้งสองฝ่ายก็อาจจะช่วยได้หากยอมถอยคนละก้าว”

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่ต่างชาติในเมียนมาขาดความเชื่อมั่น หลายบริษัทถอนการลงทุน มองว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)อาจไปที่เวียดนาม หรือมาที่ไทยมากขึ้น เพราะไทยมีความพร้อมในการเป็น Regional Hub ของการลงทุนในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว เฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้คนเก่ง ๆ เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น

“การลงทุนในไทยเรามีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่นในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าจะผลักดันหรือแก้ไขอย่างไร เช่นอุตสาหกรรม S-Curve ที่เรามีเป้าหมายส่งเสริมในพื้นที่ EEC อาทิ อุตสาหกรรมการบิน ตอนนี้ก็คงไม่ใช่แล้วเพราะอุตสาหกรรมการบินตกต่ำเข้าปีที่ 2 (จากผล
กระทบโดวิด) ก็ต้องไปปรับว่าจะส่งเสริมต่อในสาขาใด” 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

“โดนแล้ว”สินค้ากองทัพเมียนมา ห้าง-ร้านค้าถอดจากชั้นจำหน่าย

“อองซาน ซูจี” ปรากฏตัวครั้งแรกหลังถูกยึดอำนาจ

อาเซียนเรียกร้องปล่อยตัวนางซูจี-คืนประชาธิปไตยสู่เมียนมา

"ดอน" ย้ำกดดันอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร แนะ“ถอยคนละก้าว” สู่สันติภาพเมียนมา

“เมียนมาเป็นประเทศสมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียน”