เลื่อนเปิดเทอม “นมโรงเรียน” วุ่น ยังไร้ข้อสรุป

20 พ.ค. 2564 | 09:55 น.

​​​​​​​อลหม่าน “นมโรงเรียน” วุ่น หลัง ศธ.เลื่อนเปิดเทอม 14 มิ.ย. “โรงงานนม ยู เอช ที -นมพาสเจอร์ไรส์” ระดมสมอง ผ่าทางออก แก้นมล้น ยังไร้ข้อสรุป

ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ได้รับทราบให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564  จากวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ตามที่ ศธ.เสนอเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ทั่วประเทศ มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นั้นในส่วนผู้ประกอบการนมโรงเรียนจะมีวิธีการเสนอแก้ปัญหากันอย่างไร

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ จำเล  ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากกรณีดังกล่าวนี้กำลังมีการวางแผนกับกรมปศุสัตว์ จะต้องส่งนมกล่องยูเอชที เพื่อระบายให้เด็กได้ดื่มนมกล่องไปก่อน จะทำคล้ายกับมาตรการเดิมปีที่แล้ว นำนมที่ผลิตเดือนตุลาคมมาส่งไปพลางก่อนไม่งั้นนมไม่มีทางไป แต่ในส่วนนี้จะกระทบกับโรงนมพาสเจอร์ไรส์เท่านั้น ที่จะมีปัญหา เพราะปกติจะผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ แล้วโรงนมชนิดนี้มีจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ ซึ่งการผลิตนมยูเอชที มารองรับผลิตกล่องไม่หมดจะติดปัญหาในส่วนนี้

 

“น้ำนมดิบล้นแน่นอน เพราะมีหลายบริษัทที่ไม่ได้วางแผนเรื่องกล่องกระดาษ การวางแผนจะแค่ 1 มิถุนายนนี้ แต่พอมาโดนเลื่อน เป็นเรื่องกะทันหัน ประกอบกับท่าเรือคลองเตย กระทบกับโควิด ทำให้ของที่จะนำเข้าเทียบท่าเรือเลื่อนออกไปเลย ตอนนี้ความรู้สึกเหมือนโดนน็อกกลางอากาศ มึนไปหมด กล่องจะขาดตลาด จะกระทบลามเป็นลูกโซ่”

 

สุรชาติ คหินทพงษ์

 

ด้านนายสุรชาติ คหินทพงษ์ ประธาน สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด  กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้นำมาตรการปีที่แล้วมาใช้ในโครงการนมโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาไปก่อน โดยผลิตนมยูเอชที ให้เด็กดื่มไปก่อน เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่ผมเป็นห่วงก็คือ นมในโครงการเยียวยาฯ กล่องละ 7 บาท เรื่องถึงไหนกันแล้ว แต่ทางสหกรณ์ไม่ได้เข้า ไม่ได้เดือนร้อน อีกทั้งขายนอกโครงการได้กล่องละ 7.82 บาท ดีกว่า มีความสุข ผมไม่เอาด้วย ดังนั้นในระหว่างนี้ ตั้งแต่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. ก็ให้แต่ละโรงส่งนมยูเอชทีไปก่อน แล้วค่อยมาชดเชยกันภายหลัง

 

สุชาติ จริยาเลิศศักดิ์

 

สอดคล้องกับนายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวน่าที่จะทำอย่างปีที่แล้วที่เคยเกิดปัญหาอย่างปีนี้โรงเรียนเลื่อนเปิดเทอม ให้สามารถไปส่งได้ในช่วงที่เด็กอยู่บ้าน แต่ไม่กล้าประเมินว่าจะทำได้อย่างปีที่แล้วหรือไม่ กล่าวคือ ขอความร่วมมือ อบต.ให้แจ้งผู้ปกครองมารับนมที่โรงเรียน แต่สถานการณ์ปีนี้หนักมาก เสนอไปจะรู้สึกยากมาก แล้วไม่มีใครกล้าไปสั่งให้ผู้ปกครองมารับนม อย่างไรก็ดีในเรื่องดังกล่าวนี้จะไปหารือกับกรมปศุสัตว์ในเร็วๆนี้  เพื่อหาทางออก

 

ทัชยา รักษาสุข

ด้าน นางทัชยา รักษาสุข กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ธวัชฟาร์ม จำกัด อุบลราชธานี กล่าวว่า ถ้าจะให้ดีไม่ให้น้ำนมมีปัญหา กล่าวคือ นมพาสเจอร์ไรส์ออกทุกวัน ผลิตทุกวัน ถ้าสามารถนำไปแจกให้เด็กได้น้ำนมก็จะไม่ล้น วันนี้เพื่อแก้ไขปัญหา โดยการนำนมพาสเจอร์ไรส์ไปไว้ที่โรงเรียน แล้วเด็กมารับไปคนละ 5 ถุงต่อสัปดาห์ โดยผู้ประกอบการจะเพิ่มตู้เย็น หรือตู้น้ำแข็ง ถ้าเด็กโรงเรียน ก. มี 30 คนต่อวัน x 5 วัน ไม่วันอาทิตย์ หรือวันจันทร์ เช้าสุด จะไปส่งนม ส่วนคุณครูจะนัดเด็กมาส่งงานอยู่แล้วก็นำนมใส่ถุงกลับบ้านไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน หากไม่ทำเช่นนี้น้ำนมดิบจะล้น

 

อยากให้แก้ไขเหมือนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือเสนอให้ อสม.มารับนม หรือจะให้ไปส่งที่บ้าน/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพราะนมพาสเจอร์ไรส์มีอายุ 10 วัน แล้วถ้าส่งนมไม่ได้นมก็จะล้น แล้วถ้าให้ผลิตนมกล่องตลอด ก็จะมีปัญหาเรื่องกระดาษอีก จะทำให้ขาดตลาด อีกด้านนมกล่องผลิตต้นทุนสูง ขณะที่งบประมาณที่ให้มา 6.58 บาท/ถุง ขณะที่นมกล่องยู.เอช.ที 7.82 บาท/กล่อง ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้เสนอให้มารับนมโรงเรียนพาสเจอร์ไรส์ เปลี่ยนจากรับรายวัน มารับรายสัปดาห์ ไม่ต้องกลัวว่าคุณภาพน้ำนมจะเสียหาย เพราะถ้าเสียหายผู้ประกอบการจะโดนตัดสิทธิ์โควตานมโรงเรียน วิธีนี้จะทำให้นมไม่ล้น

 

วสันต์ จีนหลง

 

ปิดท้ายนายวสันต์ จีนหลง นายกสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ "มิลค์บอร์ด" กล่าวว่า สมาคมผู้ผถิตนมพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการแปรรูปน้ำนมดิบอันประกอบด้วย สถาบันการศึกษา สหกรณ์ ผู้ประกอบการรายย่อย SME กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ได้ประชุมหารือร่วมกัน เกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธี การคำเนินงานโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564  ซึ่งจากประกาศดังกล่าว มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากผู้ประกอบการเข้าร่วมอย่างไม่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจำหน่ายน้ำนมดิบได้น้อยลง ทำให้น้ำนมดิบล้นตลาด

 

ประกอบการสภาวะเศรษฐกิจปังจุบัน มีการชะลอตัวจากผลกระทบ "โควิด-19"  อีกทั้งในปี 2568 มีการเปิดตลาคอาเซียน(Free Trade Area : FTA) ทำให้สินค้านมจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศจากปัญหาผลกระทบดังกล่าว สมาคมฯ มีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน ตลอดห่วงโซ่ รวมถึงรับฟังนโยบายให้เด็กนักเรียนได้ดื่มนมครบ 365 วัน และขยายชั้นเรียน ให้เด็กได้ดื่มนมตั้งแต่ ชั้นก่อนวัยเรียนไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ อันจะเป็นประโยชน์แก่เด็กนักเรียนที่เป็นอนาคคของประเทศ ให้มีสุขภาพเข็งแรง มีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย ทั้งทางค้านร่างกายเละสดิปัญญา อีกทั้งเป็นหลักประกันให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้จำหน่ายนมได้ตลอดทั้งปี