ส่อง “พันธุ์ข้าว” มาแรง ยึดนาไทย ปี64

19 มกราคม 2564

​​​​​​​อัพเดท “พันธุ์ข้าว” 3 สายพันธุ์ มาแรง  ยึดนาไทย ปี64 “อัษฎางค์” ชี้ ชาวนานิยมปลูกข้าวพันธุ์กระแส ผลผลิตดี เผยจุดจบอวสาน “ข้าวหอมพวง” หลังถูกโรงสีลอยแพ ทิ้งกลางคัน

 

 

นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ใน ปี2564 เทรนด์การปลูกข้าวในรอบใหม่ ถ้าเป็นชาวนาโซนภาคเหนือล่าง และภาคกลาง ก็จะปลูกตามความเคยชิน กระแสของข้าวชนิดใหม่ๆ อันดับ1 ข้าว กระแส มาแรง  “กข79”

 

เนื่องจากว่า “กข79” เป็นข้าวพื้นนุ่ม ผลผลิตต่อไร่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ สีแปรออกมาแล้วลักษณะเมล็ดข้าวเหมือนข้าวหอมมะลิ เพียงแต่ไม่หอม วันนี้ชาวนามองแล้วว่า พันธุ์อะไรก็ได้ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ส่วนตลาดจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของพ่อค้า

 

อันดับที่ 2 พันธุ์ข้าวที่มาแรงก็คือ ข้าวชนิดแข็ง ก็คือ “กข85”  เป็นพันธุ์ที่ตอบโจทย์ “เตี้ย สั้น ดก ดี”  หมายความว่า ต้นเตี้ย ความสูงไม่เกิน 110 เซนติเมตร เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะล้มมีน้อย “สั้น” อายุ 105 วัน

 

“ดก” ก็คือผลผลิต ไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ส่วน “ดี”  ก็คือ ตลาดมีความต้องการสูง เพราะข้าวแข็ง สามารถนำไปทำเป็นข้าวนึ่ง ชาวนา กำลังจับตามองข้าวพันธุ์ ก็ยังมีความเป็นห่วงว่ากรมการข้าว จะผลิตเมล็ดพันธุ์นี้มีเพียงพอกับความต้องการของชาวนาหรือไม่

 

อันดับที่3 พันธุ์กข87 เป็นข้าวนุ่ม ลักษณะเหมือน กข79 แต่จุดเด่นก็คือ นิ่ง อายุไม่ยืดเหมือน กข79 ผลผลิตใกล้เคียงกัน คุณภาพข้าวหุงใกล้เคียงกัน

 

พันธุ์ข้าว กข79

 

นายอัษฎางค์ กล่าวว่า 3 สายพันธุ์ข้าวนี่เหมาะมาก ภาคเหนือล่าง ภาคกลางตอนบน เป็นพันธุ์ที่ตอบโจทย์ชาวนาได้ คือถ้าวันนี้ชาวนาคุมต้นทุนได้ไม่เกินไร่ละ 4,000 บาท และได้ผลผลิตไร่ละ 1,000 กิโลกรัม และราคาข้าวตันละ 7,000-8,000 บาท ชาวนาก็มีกำไร

 

ประกอบกับ ในปี2564 เป็นปีโชคดีของชาวนา อย่างแรกก็คือ พอมีน้ำให้ทำนา ยกตัวอย่า งเขื่อนอุบลรัตน์ ปีนี้มีน้ำให้ทำนาแล้ว หลังจากปีที่ผ่านมาไม่มี  “กรมการข้าว” ได้มีการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา 3 สายพันธุ์ เป็นทางเลือก ต่างจากในอดีตไม่มีความชัดเจนแบบนี้ ความเสี่ยงที่น่าห่วงก็คือ เรื่องของกลไกราคาชาวนาไม่สามารถที่จะกำหนดได้ ตรงนี้สำคัญ แต่หากมองมุมกลับ เช่น คุมต้นทุนของตัวเองให้ได้ หาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติอย่างที่ผมว่าปลูกในแปลง อย่างไรก็อยู่รอดแล้วมีกำไร

 

ส่วนเรื่องของ “เพลี้ย หนอน “ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยี แปลงใหญ่ด้านข้าว ได้รับอานิสงค์จากงบประมาณโควิด ฟื้นฟูฯ  ซึ่งจะช่วยแต่ละแปลงหาปัจจัยการผลิตๆไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยี เรื่องคุณภาพมาตรฐาน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ชาวนาผลิตข้าวตามอำเภอใจ แต่ปัจจุบันมีองค์ประกอบที่จะช่วยทำให้ชาวนาปลูกข้าวมีมาตรฐานยิ่งขึ้น แล้วก็เชื่อว่าหากรัฐบาลนี้ยังอยู่ “ประกันรายได้ข้าว” ก็คงมีอยู่เหมือนเดิม

 

ข้าวหอมพวง

 

นายอัษฎางค์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดโซนนิ่งข้าว อย่าปลูกข้าวเหนียว จะไปห้ามชาวนาได้อย่างไร ในเมื่อรอบที่แล้วข้าวเหนียวราคาดี หรืออย่ามาปลูกรอบนี้ข้าวหอมปทุม จะออกไปชนกับข้าวหอมมะลิ ซึ่งเราก็เห็นว่ารอบที่แล้วราคาดี ห้ามไม่ได้ พ่อค้ามักบอกว่าให้จัดโซนการปลูกข้าวยากมาก แต่ชาวนาจะปลูกข้าวตามกระแส เช่น ข้าวพันธุ์นี้ผลผลิตต่อไร่สูง พ่อค้ารับซื้อ เหมือนสมัย”ข้าวหอมพวง”

 

แต่ปัจจุบันชาวนากลุ่มนี้ที่ปลูกโดนลอยแพแล้ว ราคาตอนนี้ต่ำกว่าราคาข้าวเปลือกเจ้า ชาวนาต้องเลิกปลูก เพราะส่งออกไม่ได้ เพราะไปตั้งชื่ออะไรไม่ได้ ก่อนหน้านี้เคยส่งออกได้ ประเด็นเรื่อง ข้าวนิ่ม พ่อค้าเมืองไทย เลยเอาข้าวหอมพวงไปโฆษณาขาย แล้วขายข้าวตามตัวอย่าง ซึ่งก็ขายได้ไม่นาน เพราะไม่มีชื่อ

 

 แต่ชาวนาเห็นข้าวอายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตสูง พ่อค้ารับ ซื้อจึงเป็นที่มาของการทำนา แต่พอมีปัญหาเรื่องการส่งออก โรงสีไม่รับซื้อ ถึงจุดจบ “อวสานข้าวหอมพวง” นาไทย หลังจากที่โด่งดังมากในหมู่ชาวนาและวงการข้าว 4-5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุดจบ “ข้าวหอมพวง”

เคลียร์ปมโรงสี ทำไมไม่รับซื้อ “ข้าวหอมพวง" "กข43”

อึ้ง ข้าว “กข43” โดนเท ซ้ำรอย "ข้าวหอมพวง"

ชาวนา ตื่น โรงสีแบนซื้อข้าวหอมพวง

ฟัง! แล้วอึ้ง! ทำไมชาวนาไทยปลูก "ข้าวหอมเวียดนาม"