จี้ส่งออกรับมือ “เบร็กซิทดีล” คู่แข่งฟัดเดือดแน่

16 ม.ค. 2564 | 08:50 น.

นักวิชาการ-บิ๊กเอกชน จี้ส่งออกไทยรับมือ อังกฤษ-อียูบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทดีล ชี้มีได้-เสีย สั่งจับตาผู้ดีผุดมาตรฐานและมาตรการกีดกันการค้าขึ้นใหม่ ใครทำไม่ได้ชวดอานิสงส์ จี้รัฐสปีดทำเอฟทีเอ ลดเสียเปรียบคู่แข่งทิ้งห่าง

 

วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ก่อนเส้นตายสิ้นปี สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ และสหภาพยุโรป หรืออียูได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement : TCA) หรือที่เรียกว่า”Brexit Deal” หลังจากใช้เวลาการเจรจากันมาอย่างยาวนาน 4 ปี 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของอังกฤษได้ให้สัตยาบันเรียบร้อยแล้วเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่ยังรอฝั่งอียูที่อยู่ระหว่างรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภายุโรปที่คาดจะมีการประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แน่นอนว่าข้อตกลง TCA จะมีผลได้-เสียกับทุกประเทศที่ค้าขายกับอังกฤษและอียูภายใต้บริบทการค้าใหม่ที่แยกออกจากกันอย่างแน่นอน

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เบร็กซิทดีลสำหรับประเทศไทยจะได้หรือเสีย ต้องหันกลับไปมองการค้าไทยกับอังกฤษว่าเป็นอย่างไร ปี 2562 อังกฤษนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นลำดับที่ 30 ของการนำเข้าจากทั่วโลก มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม แต่เมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดของไทยกับเวียดนามในตลาดอังกฤษระหว่างปี 2552-2562 พบว่า เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ไทยลดลง

 

ส่วนมุมมองผลกระทบต่อไทยหลังมีเบร็กซิทดีล เป็นดังนี้ 1.ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยมากนัก ขึ้นกับศักยภาพของสินค้าไทยมากกว่า เนื่องจากภายใต้ข้อตกลง TCA การค้าของอังกฤษกับอียูยังมีภาษีเป็นศูนย์เหมือนเดิม และไม่มีโควตาสินค้าระหว่างกัน 2.หลังจากนี้จะมีมาตรฐานสินค้าและการกีดกันทางการค้าของอังกฤษขึ้นใหม่ เพราะอังกฤษสามารถออกกฎระเบียบและกติกาด้านมาตรฐานสินค้าได้เองและรวดเร็วขึ้นกว่าที่อยู่ภายใต้อียู หากสินค้าไทยไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานก็จะได้รับผลกระทบ เช่น กรณีอังกฤษแบนน้ำกะทิของไทย จากถูกกล่าวหาใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว เป็นต้น โดยประเด็นมาตรฐานทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องนี้

 

3.ค่าเงินปอนด์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยไปอังกฤษ จากมีอำนาจซื้อมากขึ้น 4.ให้ระวังสินค้าจากเวียดนาม จากมีต้นทุนต่อหน่วยและค่าขนส่งที่ถูกกว่าสินค้าไทยในตลาดอังกฤษ 5.ควรติดตามผลการเจราจา FTA ของอังกฤษกับประเทศนอกสหภาพยุโรป เฉพาะอย่างยิ่ง FTA กับประเทศในเอเชียและอาเซียนเช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินเดีย ว่าสินค้าไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียเปรียบมีอะไรบ้าง และ 6.สินค้าที่ขายช่องทางออนไลน์กับอังกฤษต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Import Vat)เพิ่มขึ้น จากเดิมเก็บ 15% (EU Vat) ของใหม่จะไม่เก็บ 15% อีกต่อไป

การค้าไทย-อังกฤษ

 

จี้ส่งออกรับมือ  “เบร็กซิทดีล”  คู่แข่งฟัดเดือดแน่

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า การค้าระหว่างไทยกับอังกฤษและกับอียู หลังเบร็กซิทในเรื่องภาษีและโควตาต่าง ๆ คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่ที่ห่วงคือเรื่องมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ของอังกฤษที่อาจเข้มงวดขึ้นหลังจากถอนตัวจากอียูเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านสุขอนามัยที่อังกฤษสามารถตั้งกฎเกณท์ของตัวเองได้ รวมถึงที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันเรื่อง FTA ในตลาดอียูและอังกฤษ โดยเวลานี้เวียดนาม และสิงคโปร์มีเอฟทีเอแล้วกับอียู รวมถึงเวียดนาม อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษ เรื่องนี้รัฐบาลต้องเร่งการเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษและอียูเพื่อลดความเสียเปรียบการแข่งขัน

 

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปอังกฤษกล่าวว่า สินค้าไก่ของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษยังได้โควตาภาษีรวมกันเท่าเดิมคือประมาณ 2.7 แสนตันต่อปี ซึ่งมีข่าวดีหลังจากเบร็กซิท อังกฤษจะลดภาษีสินค้านอกโควตาลงมาครึ่งหนึ่ง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไก่ไทย อย่างไรก็ดีไทยจะส่งออกสินค้าไก่ไปอังกฤษและอียูในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ตัวแปรหลักคือโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดในยุโรปที่ยังกระทบภาคท่องเที่ยว โรงแรม และบริการร้านอาหารทำให้ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไก่ไปอียูได้ลดลง 15% จะคลี่คลายหรือไม่” 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์ชี้ “เบร็กซิท”จบสวย ไทยได้อานิสงส์อื้อ สินค้า 1,524 รายการเฮภาษีศูนย์

ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเฮ รับดีลการค้าอังกฤษ-อียูหลังเบร็กซิท

เปิดเนื้อหา “ข้อตกลงการค้าอังกฤษ-อียู”หลังเบร็กซิท ฉบับย่อ

หอการค้าอังกฤษเผย เอกชนยังไม่พร้อมรับมือเบร็กซิท

ไทยหารือUK ยกระดับการค้าหลัง เบร็กซิท