เปิดเนื้อหา “ข้อตกลงการค้าอังกฤษ-อียู”หลังเบร็กซิท ฉบับย่อ

25 ธ.ค. 2563 | 05:24 น.

หลังจากที่เจรจากันมายืดเยื้อยาวนาน ในที่สุดเมื่อวานนี้ (24 ธ.ค.) คริสต์มาสอีฟปี 2563 อังกฤษและสหภาพยุโรป (อียู) ก็บรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้หลังอังกฤษแยกตัวออกจากอียูอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงการค้าหลังเบร็กซิท (Brexit) ตั้งแต่ต้นปีหน้า (2564) เป็นต้นไป

 

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวถึง ข้อตกลงการค้าอังกฤษ-อียูหลังเบร็กซิท ว่า นี่คือ ข้อตกลงการค้าฉบับประวัติศาสตร์ ที่ทำให้อังกฤษได้กลับมาควบคุมเงินตรา พรมแดน กฎหมาย การค้า และน่านน้ำในการทำประมงของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องจ่ายแลกมาก็คือ การสูญเสียสิทธิพิเศษบางอย่างที่เคยมีเคยได้จากอียู ซึ่งหมายความว่า หลังวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ภาคธุรกิจของอังกฤษอาจจะต้องเผชิญกับกำแพงการค้าบางอย่างที่ไม่เคยพบเจอในช่วงที่เป็นสมาชิกอียู และผลกระทบก็จะมาถึงผู้บริโภคของอังกฤษอย่างแน่นอน

การเจรจาที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างอังกฤษและอียูสิ้นสุดลงด้วยดีก่อนกำหนดเส้นตาย

เนื้อหาสาระสำคัญโดยย่อของ ข้อตกลงการค้าอังกฤษ-อียู ฉบับนี้มีอย่างไรบ้าง บลูมเบิร์กได้ประมวลรวบรวมไว้ ดังนี้

 

การค้าสินค้า

ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่ สินค้า “ส่วนใหญ่” ที่ค้าขายระหว่างอังกฤษและอียู จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมหรือมีโควตาใหม่ๆ แต่ผู้ส่งออกของอังกฤษจะเจอกับอุปสรรคการค้าในแง่ของกฎระเบียบต่าง ๆที่จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและทำธุรกิจในยุโรปได้ยากขึ้น

  • การเข้าถึงตลาด: สินค้าอังกฤษและสินค้าอียู จะยังคงได้รับสถานะไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษี (tariff-free) และไม่ต้องมีโควตา (quota-free)
  • กฎเกณฑ์เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า: ภายใต้กฎระเบียบใหม่ อังกฤษต้องให้การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะส่งออกไปยังอียู สินค้าบางรายการที่มีส่วนประกอบจากภายนอกอังกฤษและอียูในสัดส่วนที่สูง อาจถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตราใหม่
  • ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย: ผู้ส่งออกสินค้าอาหารด้านการเกษตรของอังกฤษต้องยื่นใบรับรองด้านสุขภาพ และสินค้าต้องผ่านกระบวนการควบคุมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ณ จุดตรวจสินค้าบริเวณชายแดน
  • การทดสอบและการออกใบรับรอง: เมื่อสิทธิประโยชน์เดิมหายไป หน่วยงานของอังกฤษจะไม่สามารถออกไปรับรองสินค้าที่จะส่งจำหน่ายในตลาดอียูเหมือนเช่นเคย(ตอนอังกฤษเป็นสมาชิกอียู) ต้องให้ฝ่ายอียูเป็นผู้ทดสอบและออกใบรับรอง คาดว่าประเด็นนี้น่าจะสร้างอุปสรรคการค้าได้มาก
  • การเยียวยาข้อพิพาทการค้า: หากมีข้อขัดแย้งทางการค้า อียูและอังกฤษอาจหันมาใช้วิธีการเรียกเก็บภาษีหรือมาตรการคว่ำบาตรภายใต้กรอบกติกาขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)ในการแก้ไขปัญหา    

 

การค้าด้านบริการ (ภาคการเงิน)

ยังไม่มีความชัดเจนมากนักสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจภาคบริการทางการเงิน เนื่องจากยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่อง “การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถให้บริการทางการเงินจากอังกฤษไปยังประเทศต่าง ๆในตลาดร่วมยุโรปภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ข้อตกลงใหม่เพียงระบุกฎเกณฑ์มาตรฐานสำหรับบริการทางการเงิน แต่ไม่ได้รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงและช่องทางเข้าถึงตลาด

 

ทั้งอังกฤษและอียูยังจะต้องเจรจากันเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ฝ่ายกรรมาธิการยุโรปซึ่งกำกับดูแลเรื่องการเข้าถึงตลาดอียู ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากอังกฤษ และอังกฤษเองก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายประกาศว่าตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือในการกำกับดูแลบริการทางการเงิน ทั้งนี้ตั้งเป้าเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวในเดือนมี.ค. 2564

เปิดเนื้อหา “ข้อตกลงการค้าอังกฤษ-อียู”หลังเบร็กซิท ฉบับย่อ

การแข่งขันบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกัน

 ข้อตกลงใหม่นี้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายรักษามาตรฐานความโปร่งใสเกี่ยวกับระบบภาษี ประเด็นแรงงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าไม่มีการฉวยโอกาส หรือเอาเปรียบกัน

  • ทั้งสองฝ่ายจะสามารถหันมาใช้มาตรการด้านภาษีในการตอบโต้กัน ซึ่งสุดท้ายก็จะไปจบที่การตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
  • บริษัทของยุโรปที่ไม่ค่อยพอใจนักเกี่ยวกับการที่รัฐบาลอังกฤษให้เงินอุดหนุนบริษัทภายในประเทศของตัวเองซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ากับบริษัทในอียู จะสามารถยื่นเรื่องขอให้ศาลในอังกฤษไต่สวนว่าการให้เงินอุดหนุนนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าหรือไม่  
  • ไม่มีการกำหนดว่า การช่วยเหลือเท่าไร(จากภาครัฐ)จึงถือว่าเป็นปัญหา ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาเป็นกรณี ๆไป
  • อังกฤษย้ำว่า ทั้งสองฝ่ายต้องโปร่งใสเกี่ยวกับมาตรการให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการ ดังนั้นจำเป็นต้องมีหน่วยงานอิสระเข้ามาคอยตรวจสอบมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ
  • ศาลจะต้องสามารถสั่งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ่ายเงินชดเชย กรณีที่พบว่ามีการให้เงินอุดหนุนอย่างผิดกฎหมาย

 

การแก้ไขข้อตกลง

อาจมีการเปิดเจรจาทำข้อตกลงการค้ากันใหม่หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาท หรือต้องการเปลี่ยนแปลงแก้เงื่อนไขในข้อตกลงการค้าที่มีอยู่ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการเจรจา คือปัญหาที่ว่า หากมีข้อพิพาทการค้าเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า อังกฤษและอียูจะมีกลไกยุติข้อพิพาทแบบไหน มีความเป็นไปได้ว่า

  • ต่างฝ่ายต่างอาจใช้มาตรการด้านภาษีสาดใส่กันเท่าที่เห็นว่าสามารถทำได้ตามกรอบของข้อตกลง
  • แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นว่าฝ่ายตรงข้ามเรียกเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ก็อาจนำเรื่องยื่นฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการที่เป็นอิสระและไม่ใช่ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป
  • อาจมีการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่เป็นหมวดๆไปเฉพาะในหมวดที่มีปัญหาหรือมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น
  • มีการเปิดช่องให้สามารถยกเลิกข้อตกลงการค้าทั้งฉบับถ้าหากว่ามันไปไม่ไหวจริง ๆ แต่ข้อตกลงด้านความมั่นคงจะยังคงอยู่  

 

การแก้ไขข้อพิพาททางการค้า

หากมีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงการค้านี้เกิดขึ้น อังกฤษและอียูจะต้องเจรจากัน โดยไม่ต้องมีศาลยุติธรรมอียูเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะอนุญาโตตุลาการอาจตัดสินบางเรื่องและสั่งให้ฝ่ายหนึ่งแก้ไขปัญหา หรือจ่ายค่าชดเชย ถ้าหากไม่เป็นไปตามนั้น อีกฝ่ายอาจจะระงับการปฏิบัติตามข้อตกลงโดยปิดกั้นการเข้าถึงตลาดหรือระงับความร่วมมือ   

 

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการทำประมง

ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันมาก ความต้องการมีอำนาจอธิปไตยในการทำประมงเหนือน่านน้ำของตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษต้องการแยกตัว ภายใต้ข้อตกลงใหม่

  • เรือประมงของอังกฤษจะได้รับโควตาการทำประมงในน่านน้ำอังกฤษ 25% คืนมาจากอียู คิดเป็นมูลค่า 146 ล้านปอนด์ หรือราว 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะค่อยๆทยอยได้คืนในระยะเวลา 5 ปี (ตอนแรกเริ่มเจรจาอังกฤษขอคืน 80% แต่มีการประนีประนอมในที่สุดเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลง)
  • มีกรอบเวลา 5ปีครึ่งสำหรับช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แต่ในระหว่างนี้สิทธิในการเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของกันและกันยังคงอยู่

พิธีการทางศุลกากร

 ทั้งสองฝ่ายรับปากจะจำกัดให้มีขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรน้อยที่สุดเพื่อไม่ให้ล่าช้า มีการใช้ช่องทางเพิ่มความสะดวก เช่นช่องทางสำหรับผู้ค้าที่น่าเชื่อถือ ที่เรียกว่า AEO ย่อมาจาก authorized economic operator

  • คาดว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรที่ท่าเรือสำคัญ ๆ เช่นท่าเรือโดเวอร์และท่าเรือโฮลีเฮดในอังกฤษ ส่วนอียูระบุว่าจะให้ความสะดวกในพิธีการศุลกากรสินค้ารายการจำเพาะ อย่างเช่น ไวน์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ รถยนต์ ยา และเคมีภัณฑ์
  • สิ่งหนึ่งพึงตระหนักคือ ไม่ว่าอังกฤษจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูหรือไม่ การที่อังกฤษแยกตัวออกจากอียูตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป จะเกิดความยุ่งยากในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพิ่มขึ้นในทั้งสองฝั่ง แต่ทั้งอังกฤษและอียูตกลงที่จะยึดกฎกติกาสากลเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนทางศุลกากรน้อยที่สุด

 

การบินและการขนส่งทางบก

ข้อตกลงใหม่ไม่ได้ให้การยอมรับโดยอัตโนมัติต่อการออกแบบอากาศยานของอังกฤษอีกต่อไป จนกว่าอียูจะมั่นใจเกี่ยวกับมาตรฐานการออกใบรับรองงานออกแบบอากาศยานของอังกฤษ ส่วนการขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกข้ามชายแดนอังกฤษ-อียู ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะบริหารจัดการด้านการออกวีซ่าและการจัดการ ณ จุดตรวจชายแดนสำหรับรถบรรทุกอย่างมีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการพักค้างข้ามแดนของคนขับรถบรรทุก

 

การส่งผ่านข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

มีมาตรการที่จะใช้ชั่วคราวเพื่อให้การติดต่อ-ส่งผ่านข้อมูลข่าวสารระหว่างอังกฤษและอียูยังคงเป็นไปตามปกติ ช่วงระยะเวลาของการใช้มาตรการชั่วคราวนี้คาดว่าจะเป็นเวลา 6 เดือนหรือจนกว่าฝ่ายอียูจะมีการประกาศใช้ “มาตรการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเพียงพอ” (EU Adequacy Decision) ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปีหน้า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะรักษามาตรฐานสูงในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

พลังงาน

อังกฤษจะไม่ได้รับช่องทางเข้าสู่ตลาดพลังงานของอียู แต่คาดว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงใหม่เกี่ยวประเด็นนี้ภายในเดือนเม.ย.2565 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการส่งกระจายไฟฟ้าระหว่างอังกฤษและยุโรปจะราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

  • ปัจจุบัน อังกฤษเป็นประเทศผู้นำเข้ากระแสไฟฟ้า และมีการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากยุโรปแผ่นดินใหญ่ 8% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของอังกฤษ เนื่องจากเป็นประเทศเกาะ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่อังกฤษต้องมั่นใจว่า การส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเครือข่ายเคเบิ้ลข้ามทะเลที่เรียกว่า interconnectors จะสะดวกราบรื่นและมีประสิทธิภาพ การซื้อขายไฟฟ้าที่ไร้อุปสรรคจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการเชื่อมโยงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่เครือข่ายส่งกระจายไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ด้วย
  • เบร็กซิททำให้อังกฤษไม่อยู่ในระบบการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอียู (Emission Trading Scheme: ETS) อีกต่อไป แต่ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการเรื่องการกำหนดราคาการซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยคาร์บอนในอนาคตและพิจารณาจะเชื่อมโยงระบบของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน
  • ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเมิดหรือไม่ปฏิบัติคามพันธะสัญญาที่ให้ภายใต้ข้อตกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ “Paris Agreement” ที่ตกลงกันไว้ในปี 2558 ข้อตกลงอังกฤษ-อียูว่าด้วยเรื่องพลังงานก็อาจถูกระงับเป็นการชั่วคราว

 

การทำงานของบุคลากรวิชาชีพ

ไม่มีการรับรองโดยอัตโนมัติเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคลากรด้านวิชาชีพระหว่างอังกฤษและอียูอีกต่อไป โดยฝ่ายอียูระบุว่า แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ วิศวกร หรือสถาปนิก ของอังกฤษ จะต้องขอใบรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพจากแต่ละประเทศสมาชิกอียู ที่พวกเขาประสงค์จะเข้าไปทำงาน ประเด็นนี้นับเป็นความสูญเสียของฝ่ายอังกฤษ ที่ไม่ต้องการอุปสรรคใดๆ “ที่ไม่จำเป็น” มากีดกั้นการบริการด้านวิชาชีพที่มีการกำกับดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงฉบับใหม่มีการระบุถึงกรอบสำหรับการรับรองคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพสำหรับอังกฤษเอาไว้ด้วย

 

การเดินทางเพื่อธุรกิจ

มีบทบัญญัติระบุไว้ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับการเดินทางเพื่อการทำธุรกิจของคนอังกฤษหรือบริษัทอังกฤษในอียูหลังจากที่ระยะเวลาแห่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสิ้นสุดลงในสิ้นปีนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้บุคคลอังกฤษที่เดินทางไปอียูเพื่อการทำธุรกิจในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถเยือนอียูได้ 90 วัน นอกจากนี้ บุคคลอังกฤษที่เยือนอียูเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจเพื่อการจัดตั้งบริษัทยังไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตการทำงานในช่วงเวลานั้นด้วย

 

การเสียภาษี

ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยึดมั่นมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับการชำระภาษีและจะต่อต้านพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงภาษีทั้งของบุคคลและนิติบุคคล

 

การเกษตร

การค้าสินค้าเกษตรจะได้ประโยชน์จากสถานะปลอดภาษี ปลอดโควตา ภายใต้ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีอุปสรรคใหม่ๆในการส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นและสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ให้บริการขนส่ง

  • สถานะการค้าสินค้าเกษตรแบบปลอดภาษีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสินค้าเกษตรและประมง เพราะถ้าหากใช้ระบบการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ปกติขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)เนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์นมเนยอาจจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 40%     
  • อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกของอังกฤษประเภทอาหารจากสินค้าเกษตรจะต้องมีใบรับรองด้านสุขภาพอนามัยและต้องผ่านกระบวนการควบคุมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ณ จุดตรวจสินค้าบริเวณชายแดนของแต่ละประเทศสมาชิกอียู ส่วนสินค้าเกษตรอินทรีย์ จะมีการจัดทำข้อตกลงความเท่าเทียมกัน ที่เปิดทางให้สินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) ที่ได้รับใบรับรองจากประเทศสมาชิกอียูประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว สามารถใช้ใบรับรองเดียวกันนั้นเข้าตลาดประเทศอื่น ๆของอียูได้ด้วย

 

การบังคับใช้กฎหมาย    

ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่นี้ส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างอังกฤษและอียู โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีก่อการร้ายและอาชญากรรมที่มีความรุนแรง ความร่วมมือดังกล่าวนี้รวมถึงการแลกเปลี่ยนอัตลักษณ์บุคคลทางพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ลายนิ้วมือ และข้อมูลของผู้โดยสารสายการบิน

-จะมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของอังกฤษและอียู แต่หลังการแยกตัวออกจากอียูแล้ว อังกฤษจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักงานตำรวจสหภาพยุโรป “ยูโรโปล” (Europol) และอัยการสหภาพยุโรป “ยูโรจัสท์” (Eurojust)ไปด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง

In Bullet Points: The Key Terms of the Brexit Deal

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Brexit อังกฤษ-อียู จากกันด้วยดี มีข้อตกลง (แล้ว)

ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเฮ รับดีลการค้าอังกฤษ-อียูหลังเบร็กซิท