ด่วน! เบรกจ่าย “เงินประกันราคาข้าว"

11 ม.ค. 2564 | 12:33 น.

“เงินประกันรายได้ข้าว” สะดุด 2 สมาคม “โรงสี-ส่งออก” เผย อนุฯ สั่งเบรก ธ.ก.ส. จ่ายชาวนา หลังจับโป๊ะแตก ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เพี้ยน ทำงบบาน

ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 หรือ "ประกันราคาข้าว" เพิ่มเติมจากกรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท เป็น 46,807.35 จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ กว่า 4.5 ล้านราย เกษตรกร เคาะราคาเกณฑ์อ้างอิงมาถึง งวดที่ 10 แล้ว จากเป้าหมายที่กำหนด 30 งวด เกิดปัญหาเงินงบประมาณฯ ไม่เพียงพอนั้น  เกิดอะไรขึ้น

 

 

แหล่งข่าวธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า ถึงผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 4,112,421 ครัวเรือน จำนวนเงิน 45,501.09 ล้านบาท จำแนกเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าว 1 ชนิด จำนวน 7 งวด สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 21 ธันวาคม 2563 จำนวน 39,101.33 ล้านบาท  และเกษตรกรที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไป จำนวน 6,399.76 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 253.89 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้จ่าย เนื่องจากคณะอนุกรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดย อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน สั่งระงับการโอนเงินให้เกษตรกรชั่วคราว

 

ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ยังค้างจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร งวดที่ 1-8  จำนวน 1,679.25 ล้านบาท  ณ วันที่ 4 ม.ค.64 จำแนกเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าว 1 ชนิด ที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 28 ธันวาคม 2563 จำนวน 379.89 ล้านบาท และเกษตรกรที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไป จำนวน 1,299.36 ล้านบาท  แยกรายละเอียด ตาม (อินโฟกราฟิก) ตั้งแต่ งวดที่1-8 บางส่วน ยังจ่ายไม่ครบ ส่วน งวดที่ 9 ประมาณวงเงินชดเชย 129.23 ล้านบาท และงวดที่ 10  เงินชดเชย 51.07 ล้านบาท  ซึ่งทั้ง 2 งวดหลัง ยังไม่โอนเงินเลยสักบาทเดียว

 

ผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส. จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกร

 

 

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้นายสมเกียรติ มรรคยาธร อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานไม่เป็น ตั้งแต่โอนข้าวผิดชนิด สลับกันไปมา ยังไม่เท่าไร มองดูว่าไม่ตั้งใจ แต่ที่ไปทำข้างหลังคณะอนุฯ มีมากมาย

 

"ยกตัวอย่าง ส่งรายชื่อทะเบียนเกษตรกร จ่ายงวดที่1 เท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงให้ ธ.ก.ส.โอน มากกว่าที่มาขออนุมัติ ถามว่าตอนจ่ายเกินไปในงวดที่1 นำมารวมในงวดที่2 หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี ไปทำกันเอง ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร กับ ธ.ก.ส. ตั้งแต่งวดที่ 1-งวดที่7 ทำกันเอง อย่างนี้จะมีคณะอนุฯ ไปทำไม แล้วปัญหาตอนนี้เงินไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินประกันราคาข้าว"  

 

เมื่อพิจารณาจากการที่ไปมาขออนุมัตินำเกษตรกรมาเข้าคณะอนุฯ จะต้องเพียงพอจ่าย ดังนั้นก็บอกว่าจะต้องให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปเคลียร์ตัวเลขมาใหม่ วันนี้ตัวเลขทะเบียนเกษตรกรที่ขึ้นจริงเท่าไร ก็บอกไม่ได้ ทั้งที่ปิดไปตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2563 ทำไมไม่เอาขึ้นมาให้ดูทั้งหมด แล้วที่ส่งอนุมัติให้เกษตรกรเข้าคณะอนุ 8 งวด

 

ยอดเงินไม่ตรงกับจำนวนเงินเกษตรกร ที่มาขออนุมัติในคณะอนุฯ เรียกว่า “โอนเงินมากกว่าที่มาขออนุมัติ” รวมแล้วจ่ายเงินเกินไปกว่า 1,000 ล้านบาท  แล้วที่จ่ายเกินไปต้องทำอย่างไร แล้วจะมาขออนุมัติทีหลัง หลังจ่ายไปแล้ว อย่างนี้ไม่ต้องมาขอแล้ว ผมเรียกว่า ทำงานไม่เป็นมากกว่า ไม่มีเจตนาทุจริต การเลือกเอาคนมาทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า

 

 

อีกเรื่องหนึ่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งก็จะมีสูตรการคำนวณต่อไร่ ต่อผลผลิต คำนวณเป็นตัน ซึ่งเป็นสูตรที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วางไว้แล้ว ทำไมคำนวณงบประมาณไม่ได้เพราะเกษตรกรก็แจ้งปลูกแล้วว่า เป็นข้าวชนิดไหน คาดว่าจะเก็บเกี่ยววันไหนก็ระบุ จากนั้นก็คำนวณงบประมาณออกได้ว่าจะใช้เงินเท่าไร สามารถคำนวณได้เลย แต่คำนวณไม่ได้ แต่ที่ตลกไปกว่านั้น การขึ้นทะเบียนเก็บเกี่ยว มากกว่าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพาะปลูก คืออะไร ผมไม่เข้าใจ

 

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการหยุดจ่ายเงินประกันรายได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีเงินเหลือ อยู่ 253.89 ล้านบาท ก็ยังไม่สามารถจ่ายได้ ต้องให้เคลียร์ปัญหานี้ให้จบก่อน

 

ไกรสีห์ ลียานุกูล

 

สอดคล้องกับ นายไกรสีห์ ลียานุกูล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ทางอธิบดีกรมการค้าภายใน จะมีการประชุมนอกรอบเพื่อเคลียร์ทะเบียนเกษตรกร  ในวันที่ 18 มกราคม 2564 ส่วนวันนี้ ที่มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่1 งวดที่10 ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 4-10 มกราคม 2564 สำหรับข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ดังนี้

 

 

  1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ                          ตันละ 12,603.41 บาท
  2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่            ตันละ 11,998.01 บาท
  3. ข้าวเปลือกเจ้า                                  ตันละ 9,489.58 บาท
  4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี                   ตันละ 10,885.84 บาท
  5. ข้าวเปลือกเหนียว                             ตันละ 11,512,51 บาท

 

การชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์อ้างอิง มีอัตราส่วนที่ ธ.ก.ส. จะต้องจ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่างวดที่10 ไม่เกินวันที่ 11 มกราคม 2564 ดังนี้

 

  1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ                       ตันละ 2,396.59 บาท
  2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่         ตันละ 2,001.99 บาท
  3. ข้าวเปลือกเจ้า                              ตันละ 501.42 บาท
  4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี               ตันละ 114.16 บาท
  5. ข้าวเปลือกเหนียว                          ตันละ 483.49 บาท 

 

งวดที่10

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เงินประกันรายได้เกษตรกร" ลุ้น เงินส่วนต่างราคาข้าว 5 ชนิด งวดที่ 10 วันพรุ่งนี้

ป่วน “ประกันรายได้ข้าว” ระส่ำ รอบ2 เงินไม่พอ เช็กวุ่น