กรรมการแข่งขันแจงยิบ 25 หน้า เปิดคำวินิจฉัยกลาง “ซีพี”ควบ “โลตัส”

18 ธ.ค. 2563 | 11:50 น.

กขค.ได้ฤกษ์เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางยาวกว่า 25 หน้า หลังมีมติ 4 ต่อ 3 ไฟเขียวซีพีควบรวมธุรกิจเทสโก้ โลตัส กรรมการเสียงข้างน้อยยันผูกขาด-ครอบงำเศรษฐกิจ ขณะเสียงข้างมากอ้างส่งเสริมธุรกิจ สร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศ

จากที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)ได้มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงอนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัทซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(สขค.)ได้เผยแพร่คำสั่งมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

 

ทั้งนี้ กขค.ได้กำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 7 ข้อ ท่ามกลางกระแสสังคมที่เห็นต่าง โดยหลายภาคส่วนเกรงจะนำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกรายย่อย และซัพพลายเออร์ที่เป็นคู่ค้าที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้บริโภคที่อาจต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้นในอนาคต

 

ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน กขค.ได้มีการประชุมนัดพิเศษ วาระสำคัญได้มีการรับรองรายงานการประชุมตามที่ได้มติอนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้ โลตัสไปก่อนหน้านี้ ซึ่งมติที่ว่านี้นำสู่การไปเขียนคำวินิจฉัยกลางที่กรรมการแต่ละคนได้ให้เหตุผล ทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยใช้ระยะเวลานานเกือบ 1 เดือนล่าสุด(18 ธ.ค.2563) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(สขค.)ได้ออกเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางแล้ว โดยมีความยาวมากกว่า 25 หน้า

 

อ่านรายละเอียดคำวินิจฉัยกลาง ซีพีควบรวมธุรกิจโลตัสได้ที่นี่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ดแข่งขันไฟเขียว "ซีพี" ควบ "โลตัส" แบบมีเงื่อนไข เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่ม

กขค.เสียงข้างน้อยเปิดใจ ค้าน "ซีพี"ควบ "โลตัส"

เปิดประวัติ 7 กรรมการกขค. ใครเห็นชอบ-คัดค้านซีพีควบ "โลตัส"

 

กรรมการแข่งขันแจงยิบ 25 หน้า เปิดคำวินิจฉัยกลาง “ซีพี”ควบ “โลตัส”

                                      สกนธ์  วรัญญูวัฒนา

 

นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.)ซึ่งเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คำวินิจฉัยกลางครั้งนี้มีความยาวกว่า 25 หน้า เป็นการให้ข้อมูล ตัวเลขต่าง ๆ รวมทั้งเหตุและผลของคณะกรรมการ(ทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนให้มีการควบรวมธุรกิจ) อย่างละเอียด ซึ่งการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางที่มีความล่าช้าเพราะเป็นเรื่องใหญ่ในวงการค้าปลีก ค้าส่งไทย ต้องใช้เวลาพิจารณาและเขียนคำวินิจฉัยให้ละเอียดและรอบคอบ ซึ่งในการอนุญาตควบรวมธุรกิจในครั้งนี้หากผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถไปร้องหรือยื่นเรื่องที่ศาลปกครองได้ ซึ่งก็ขึ้นกับดุลยพินิจของศาลว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องเพื่อพิจารณา

 

“เป็นเหตุผลว่าทำไมทาง กขค.ถึงต้องให้เหตุผล ให้เงื่อนไข และให้ข้อมูลต่าง ๆ ในคำวินิจฉัยของเราค่อนข้างจะมาก ซึ่งถือว่าตอนนี้เราทำหน้าที่จบแล้ว แต่การบังคับเงื่อนไข การกำกับดูแลให้ทางกลุ่มซีพีทำตามเงื่อนไขการควบรวมใน 7 ข้อก็ยังต้องทำต่อไป”

 

 ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยที่ กขค.ระบุว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของกลุ่มซีพีมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นนั้น(มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 83%) แต่ไม่ถือเป็นการผูกขาดทางการค้า ซึ่งถือเป็นการย้อนแย้งกันหรือไม่นั้น เรื่องนี้ในนิยามของคำว่า “ผูกขาด” หมายถึงมีผู้ประกอบการธุรกิจรายเดียวในตลาด ซึ่งในโลกความเป็นจริงแทบไม่มี แต่ถ้ามีผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดด้วยก็ถือว่าไม่เป็นการผูกขาดตลาด แต่ถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

 

กรรมการแข่งขันแจงยิบ 25 หน้า เปิดคำวินิจฉัยกลาง “ซีพี”ควบ “โลตัส”

 

อย่างไรก็ดีนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า การที่กขค. มีมติอนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมกับเทสโก้ โลตัสได้นั้น จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะประกาศของกขค. มีหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหลังการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ทางกลุ่มซีพีครองส่วนแบ่งตลาดถึง 83.97% เกินกว่าที่กำหนด จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด

 

ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่เห็นด้วยอย่างมากกับเสียงข้างมากที่ทำให้การควบรวมครั้งนี้สำเร็จ เพราะจะส่งผลต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ รวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงต่าง ๆ และการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งมูลนิธิจะดำเนินการฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ระงับชั่วคราวและมีการตรวจสอบ