สำนักงบฯ เบรก “บัตรสีชมพู” เข้าร่วมวงประกันรายได้ยาง ปี2

24 พ.ย. 2563 | 03:10 น.

หลอนอีกระลอก “ เงินประกันรายได้ยางพารา” ส่อสะดุด สำนักงบฯ เข้มตีกันบัตรสีชมพูไม่ให้เข้าร่วมวง จ่ายเงินประกัน ด้าน เกษตรกร กำลังก่อหวอดปักหลัก กยท. ชี้หากไม่เข้าร่วม ส่อล้มกระดาน

ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,834,087 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18,286,186.03 ไร่ กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่2 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ นั้น มีความคืบหน้าตามลำดับ 

 

วันที่ 24 พ.ย.รายงานข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  “ กยท. ได้ส่งรายชื่อสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจ่ายในโครงการประกันรายได้ จะมีเกษตรกรกว่า 1.8 ล้านราย ถ้ามาขึ้นทะเบียนใหม่ หลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จะไม่ได้เข้าโครงการประกันรายได้ ล่าสุดทางสำนักงบประมาณ ได้แจ้งข่าวมาแล้วว่าจะไม่ให้บัตรสีชมพู (ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์) ให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ชาวสวนก็คงไม่ยอม เบื้องต้นได้มีการส่งข่าวกันแล้วว่าหากมีมติเช่นนี้ออกมาก็คงจะสู้กันเช่นครั้งที่แล้ว หรือไม่ก็ล้มกระดานไม่ต้องให้ใครได้เลย เนื่องจากทุกคนต้องเสียเงินเซสส์กิโลกรัมละ 2 บาท จะมากีดกันไม่ได้ และเป็นคนละเรื่องกัน เนื่องจากโครงการประกันรายได้ยางพารา เป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้นคนที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็ 1 คะแนน ที่ทุกพรรคอยากได้ แต่ถ้ามากีดกันแบบนี้จะทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวสวนยางพารา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม้วนเดียวจบ สรุป “ประกันรายได้ยางพารา” งวดแรก จ่าย 2 เดือน

ตรวจสอบสิทธิ์ “ประกันรายได้ยางพารา” ธ.ก.ส. โอนงวดแรก 26 พ.ย.

เช็ก “ประกันรายได้ยางพารา” สถานะไหนได้เงินชัวร์

ครม.ไฟเขียวประกันรายได้ข้าว-ยางพารา ปี 2

 

 

"อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นในโครงการระยะที่1 แต่สุดท้ายพรรคที่หาเสียงไว้ ก็พยายามจนทำให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินบัตรสีชมพู มองว่าเมื่อรอบแรกจ่ายสำเร็จแล้ว ก็ไม่น่าที่จะมาทำแบบนี้ในระยะที่ 2 เกษตรกร หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องทำให้เป็นเรื่องอีก วันนี้ชาวสวนที่ทราบข่าวเริ่มทยอยมารวมตัวกดดันแล้ว ในวันนี้ที่จะมีการเคาะราคากลาง เพื่อที่จะจ่ายชาวสวนยางในวันที่ 26 พ.ย.นี้”

 

“สำหรับงบประมาณ ที่ กยท.ขอจัดสรรไปภายใต้กรอบวงเงิน 10,042 ล้านบาท จะต้องคอนโทรลราคายางไม่ให้ตกต่ำ เพื่อที่จะให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ในงวดแรกที่ ธ.ก.ส.จะโอนจ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรจะจ่าย 2 งวด พร้อมกัน เนื่องจากงวดแรกช้าไป ส่วนในที่เหลือ จะเคาะประกันราคาจ่ายเป็นรายเดือน (กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563–มีนาคม 2564) ตรวจสอบสิทธิ์ ผ่านเว็บไซต์ www.rubber.co.th/gir/index เบื้องต้นก่อน หากสงสัย หรือไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียน สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กยท. สำนักงานใหญ่  กยท.จังหวัด / กยท. สาขา ทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ กยท. จะต้องตรวจคุณสมบัติที่จะเข้าข่ายสถานะของเกษตรกรชาวสวนยาง 1. ที่ขึ้นทะเบียน การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ที่รัฐบาลจะจ่ายประกันรายได้ แต่ละชนิดยาง ในราคาประกัน ได้แก่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่ 60.00 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และ ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้แก่เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% จะต้องขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 และ 2. สวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว