พาณิชย์ใจชื้น ศก.คู่ค้าเริ่มฟื้น ส่งออกไทยทั้งปีคาดติดลบแค่ 7-8%

22 ต.ค. 2563 | 05:24 น.

พาณิชย์เผยเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว มีผลส่งออกเดือนกันยายนติดลบน้อยลง ภาพรวม 9 เดือน -7.33 % คาดทั้งปีติดลบแค่ 6-7% ระบุการเมืองไม่มีผลกระทบส่งออก แต่ห่วงลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นกระทบในอนาคต

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2563 มีมูลค่า 19,621 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 3.86% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการติดลบที่ลดลงเมื่อเทียบกับหลายเดือนก่อนหน้านี้ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 9.08% ส่งผลให้เดือนกันยายนไทยยังเกินดุลการค้า 2,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

ส่วนภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า 172,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.33 % และการนำเข้ามีมูลค่า 152,2372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 14.64 % จากการส่งออกที่ยังมากกว่าการนำเข้าส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าช่วง 9 เดือนแรก 20,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“การส่งออกในภาพรวมเวลานี้ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดูจากตัวเลขการส่งออกที่ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ๆ หน้านี้  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีศักยภาพในการนำเข้าสินค้ามากขึ้น"

พาณิชย์ใจชื้น ศก.คู่ค้าเริ่มฟื้น ส่งออกไทยทั้งปีคาดติดลบแค่ 7-8%

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าประเทศในแถบเอเชียเศรษฐกิจ เริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้นมากกว่าฝั่งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าที่ตอบสนอง work from home โดยทาง สนค.มองว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะติดลบที่ 6% ถึง 7%

 

พาณิชย์ใจชื้น ศก.คู่ค้าเริ่มฟื้น ส่งออกไทยทั้งปีคาดติดลบแค่ 7-8%

ส่วนสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเวลานี้ มองว่ายังไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก เพราะการส่งออกเกิดจากความต้องการสินค้าจากต่างประเทศ แต่จะมีผลต่อการลงทุน หากรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะมาลงทุนในประเทศ ซึ่งจะมีผลกับการค้าในระยะยาว ที่ประเทศไทยกำลังต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสินค้า เป็นการส่งออกสินค้าที่มีความทันสมัยและมีนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศด้านเทคโนโลยี หากไม่สามารถลงทุนได้ จะทำให้สินค้าของไทยในอนาคตไม่เป็นที่ต้องการ หรือเป็นที่ต้องการน้อยลง

 

“อย่างไรก็ตามหากมองส่งออกเฉพาะเวลานี้ ไทยยังมีสินค้าที่หลากหลาย ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่มได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง สินค้าตอบสนองผู้บริโภคที่ทำงานในบ้านระหว่างการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย เป็นต้น”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 7.3%

กรอ.พาณิชย์ ผุด15แนวทางดันส่งออกปี63

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

สัญญาณบวกศก.-ส่งออก เอกชนชี้ Q4 เริ่มฟื้น