“กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ” ดัน “หอมมะลิอินทรีย์” เจาะตลาดโลก

15 ต.ค. 2563 | 11:55 น.

“กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ” จับมือ ชาวนาพื้นที่ทุ่งกุลาฯ 5 จังหวัด ทำ “คลัสเตอร์นาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพิ่มเป้า 2 แสนไร่ภายใน 5 ปี  เจาะตลาดโลกออร์แกนิค

กรชวัล   สมภักดี

 

นางสาวกรชวัล   สมภักดี ประธานกรรมการบริหารบริษัท กอระ  เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมการเกษตร  กล่าวว่า  ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาตระหนักและใส่ใจกับสุขภาพการกินมากขึ้น  โดยเฉพาะเทรนด์การเลือกบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ ปราศจากสารเคมี และสารพิษตกค้าง หรือออร์แกนิคไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่กระแสกำลังมาแรงทั้งในและต่างประเทศ   ส่งผลให้ธุรกิจสินค้าออร์แกนิคทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 104,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือราว 3.55 ล้านล้านบาท โดยอัตราการขยายตัวประมาณปีละ 20 %  ในขณะออร์แกนิคของไทยมีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ  900 ล้านบาทและตลาดต่างประเทศ 2,100 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของมูลค่าตลาดโลกซึ่งถือว่ายังต่ำมาก  ในขณะที่อัตราการเติบโตในประเทศประมาณ 10% ต่อปีทำให้ประเทศไทยมีโอกาสขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกมาก

 

บริษัท กอระ  เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ  เป็นบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิออร์แกนิคที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ  เล็งเห็นถึงลู่ทางการเติบโตของอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรออร์แกนิค    จึงได้ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายสู่ความเป็น “คลัสเตอร์แปลงนาข้าวหอมมะลิ Organic 100%ภาคอีสาน” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวหอมมะลิไทยและรองรับงานวิจัยเพื่อพัฒนาแปรรูปและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวไทยออกสู่ตลาดโลกตอบโจทย์เทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน   ในพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และยโสธร โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นแปลงนาของกอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ จำนวน 500 ไร่

“กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ” ดัน “หอมมะลิอินทรีย์” เจาะตลาดโลก

 

“เพื่อรองรับแทรนด์การบริโภค/อุปโภคสินค้าเกษตรออร์แกนิคในตลาดและต่างประเทศ  ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ  บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะขยายคลัสเตอร์แปลงนาข้าวหอมมะลิออร์แกนิคเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 อีกจำนวน 100,000 ไร่และจะขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยโดยวางเป้าภายใน 5 ปีจะมีคลัสเตอร์แปลงนาประมาณ180,000- 200,000 ไร่ทั่วประเทศ  เพื่อรองรับกำลังผลิตข้าวเพื่อส่งออกตลาดโลกให้ได้ 100,000 ตัน 


 

โดยวางเป้าหมายส่งออกในกลุ่มประเทศอาหรับเป็นหลัก  ก่อนจะขยายตลาดครอบคลุมไปในประเทศต่างๆที่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย   ซึ่งแนวทางดังกล่าวบริษัทฯเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยและยกระดับเสถียรภาพราคาข้าวหอมมะลิให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน   ซึ่งขณะนี้ทราบว่าหลายพื้นที่ราคาข้าวชนิดทั่วไปตกต่ำอย่างมาก หากเราสามารถผลักดันการส่งออกให้มากขึ้นก็จะช่วยดันราคาข้าวให้สูงขึ้นและได้ช่วยยกกระดับชีวิตขาวนาไทยให้ดีขึ้นตามมา   ส่วนราคาข้าวหอมมะลิออร์แกนิกในไทยอยู่ที่ 250 บาทต่อกิโลกรัม และตลาดต่างประเทศอยู่ที่ราคา 500-1,000 บาทต่อกิโลกรัม   ปัจจุบันบริษัทที่รับซื้อข้าวที่ให้ราคาดีที่สุดด้วย คือให้ราคาอยู่ที่ 16,000-20,000 บาทต่อตัน”  นางสาวกรชวัล  กล่าว

 

นางสาวกรชวัล   กล่าวต่อว่า   ปัจจุบันข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด เป็น 1 ใน 5 แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกรมการข้าวได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (Khao   Hom Mali Thung  Kula Rong Hai) กับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 และสหภาพยุโรปได้รับขึ้นทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2556

 

“กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ” ดัน “หอมมะลิอินทรีย์” เจาะตลาดโลก

 

สำหรับแผนการการตลาดมีทั้งแบบธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป (Business-to-Consumer) หรือB2C และขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้าองค์กร (Business-to-Business ) หรือ B2B   โดยมีช่องทางการจัดจำหน่าย   เช่น ท็อปส์ มาร์เก็ต, เดอะมอลล์, เซเว่น อีเลฟเว่น, ไปรษณีย์ไทย และซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำ  ส่วนตลาดต่างประเทศเน้นการทำตลาดแบบ B2B กำลังเตรียมพร้อมในการจำหน่ายผ่านทางบริษัทคู่ค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีตลาดกลุ่มสำคัญ ได้แก่ ตลาดกลุ่มประเทศอาหรับ  จีน พร้อมวางกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ เน้นเจาะกลุ่มตลาดพรีเมียมในต่างประเทศ  เช่นในปี 2563-2565 จะผลิตและแปรรูปข้าวทุกสายพันธุ์ในประเทศ โดยเป็นสินค้าที่ผ่านการรับรองการวิจัยทั้งในประเทศและระดับสากล ซึ่งในอนาคตจะเป็นสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าสูง

 

ส่วนตลาดท้องถิ่น  ในปี 2562  ร่วมทำตลาดกับบริษัท CP ALL เซเว่นสาขาร้อยเอ็ด  เข้าเซเว่นกว่า 5 สาขาในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ประเดิมด้วยการส่งขนมอบกรอบ 3 รส ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา  อาทิ  ข้าวหอมมะลิอบกรอบ รสทรงเครื่อง   ข้าวหอมมะลิอบกรอบ รสทะเล   ข้าวหอมมะลิอบกรอบ รสทุเรียน  และKora Cereal กอระซีเรียล  ไม่มีส่วนผสมของแป้ง เพราะทำจากจมูกข้าว ปลายข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์แปรรูป ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมอบกรอบ และชาใบข้าวหอมมะลิ ปลอดสาร 100%  เป็นต้น    โดยผลการดำเนินงานของบริษัท กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซในปี 2563 คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 250 ล้านบาท เติบโตจากปี 2562 กว่า 500 %

“กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ” ดัน “หอมมะลิอินทรีย์” เจาะตลาดโลก

 

สำหรับบริษัทกอระ   เอ็นเตอร์ไพร์ซฯ ผู้ก่อตั้งเป็นลูกหลานที่เกิดใจกลางทุ่งกุลาร้องให้ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่เห็นข้าวราคาตกต่ำ อย่างต่อเนื่องมากว่า30ปี  ทำไมเกษตรกรไทย ยังยากจน ทั้งที่ข้าวของเรามีความต้องการระดับสูงในระดับโลก จากแนวคิดที่มาจากนักการศึกษาและส่งเสริมโรงเรียนทักษะการคิด เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จึงมีความมุ่งมั่น อยากพัฒนาบ้านเมืองของตนเองด้วยการยกระดับข้าวไทยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย   โดยเริ่มต้นในหมู่บ้านของตนเองจังหวัดของตนเองและจะขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ จุดมุ่งหมายอยากให้ลูกหลานรุ่นต่อไปกลับมาอยู่ รักหวงแหนแผ่นดินตัวเอง และภาคภูมิใจในการได้เกิดในแผ่นดินไทยที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกและพร้อมเป็นฐานการผลิตข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีคุณภาพสู่ตลาดโลก