ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

15 ต.ค. 2563 | 07:22 น.

เปิดไทม์ไลน์พาณิชย์ เตรียมแผนเจรจา 3 เอฟทีเอใหม่ ไทย-อียู ไทย-EFTA ไทย-อังกฤษ พร้อมเตรียมลงนาม RCEP เพิ่มแต้มต่อค้าไทยสู้คู่แข่ง หลัง 7 ปีกินบุญเก่ามีเอฟทีเอกับแค่ 18 ประเทศทำเสียเปรียบหนัก

เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วที่ประเทศไทย ได้ว่างเว้นการเปิดเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ในระดับทวิภาคีเพื่อใช้เป็นแต้มต่อ ในการขยายการค้ากับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ซึ่งณ เวลานี้ไทยยังกินบุญเก่า จากเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้วรวม 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทยลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน

 

ข้อมูลปี 2562 เทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ไทยอยู่อันดับ 5 ของประเทศที่มีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่เอฟทีเออยู่ที่ 62.8% ส่วนอันดับ 1 ถึง 4 ประกอบด้วย สิงคโปร์ ทำเอฟทีเอแล้ว 26 ฉบับกับ 65 ประเทศ มีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 94.5% ของการค้ารวม, อินโดนีเซีย มีเอฟทีเอ 15 ฉบับ กับ 61 ประเทศ สัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 76%, มาเลเซีย มีเอฟทีเอ 17 ฉบับกับ 56 ประเทศสัดส่วนการค้า กับคู่เอฟทีเอ 71.5% และเวียดนามมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 53 ประเทศ สัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 69.9%

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไทยมีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอประมาณ 63% แสดงว่าอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ไทยค้ากับประเทศที่ไม่มีแต้มต่อด้านภาษีหรือแต้มต่อด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนั้นถ้าเทียบมาตรฐานการค้าที่คู่แข่งขันของไทยค้ากับประเทศคู่เอฟทีเอสัดส่วน 70% ขึ้นไปถือมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าโดยการทำเอฟทีเอเพิ่มเติม

 

ล่าสุดไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเจรจา 3 เอฟทีเอ ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู 27 ประเทศ) ซึ่งมีสัดส่วนการค้า กับไทย 9.2%ในปี 2562, เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)ซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับที่ 16% ของไทย(ปี 2562 มีสัดส่วนการค้า 2%) และเอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ที่มีสัดส่วนการค้ากับไทย 1.3%

 

ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

“ถ้าจัดตามลำดับความสำคัญคือเอฟทีเอไทย-อียูมาก่อน จากเวลานี้อียูทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว ซึ่งเอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว 98% คาดพร้อมเผยแพร่ปลายเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเปิดรับฟัง และรวบรวมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดท่าทีการเจรจาของไทย และเราจะคุยกับทางอียูเพิ่มเติม เพื่อรับทราบความคาดหวังของทั้งสองฝ่าย เสร็จแล้วจะรวบรวมนำเสนอผลให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการเจรจาประมาณเดือนธันวาคม 2563”

 

ขณะเดียวกันในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียนบวก 6) คาดหวังความตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดในครึ่งหลังของปี 2564 (อ่านบทสัมภาษณ์หน้า 9)

ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

                                  กลินท์  สารสิน

 

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐเร่งศึกษาและเปิดเจรจาเอฟทีเอเพิ่มเติมเฉพาะอย่างยิ่งเอฟทีเอ ไทย-อียู และ CPTPP ที่ต้องมีความชัดว่าจะเจรจาหรือจะทำหรือไม่ เพราะเวลานี้จากไทยไม่มีเอฟทีเอใหม่ ๆ ที่จูงใจ ส่งผลให้นักลงทุนไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนามที่มีเอฟทีเอกับหลายประเทศมากกว่าไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติสนใจลงทุนในไทยลดลง

ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

                               วีระกร  คำประกอบ

 

ด้านนายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กล่าวว่า จากที่กมธ.ได้พิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ล่าสุดได้ครบกำหนดและเสร็จสิ้นการพิจารณาศึกษาแล้วครบในทุกด้านเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ซึ่งจะได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม และจะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณา (จะเปิดสภา 5 พ.ย.63) และเปิดให้สมาชิกได้แสดงความเห็นหากได้รับความเห็นชอบ กมธ.จะได้ส่งรายงานสรุป ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้รัฐบาลพิจารณาและเพื่อใช้ตัดสินใจอนุมัติ-ไม่อนุมัติเข้าร่วมเจรจา CPTPP ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พาณิชย์ เตรียมเปิดเวทีระดมไอเดีย ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

เสียตลาดอียูใน5 ปี เอกชนจี้เร่งเอฟทีเอ   

อียูประกาศจุดยืน เร่งเจรจาเอฟทีเอคู่ค้า

‘พาณิชย์’ ระดมความเห็น ตั้งกองทุนเอฟทีเอ