“ประภัตร” สั่งลดพื้นที่ทำนา 3 ล้านไร่

08 มิ.ย. 2564 | 05:30 น.

เปิดแผน ก.เกษตรฯ ลดพื้นที่ทำนา 3 ล้านไร่  เน้นผลิตข้าว 5 ประเภท ให้สอดคล้องกับตลาด “ประภัตร” สั่งกรมชลฯ จัดเวรส่งน้ำ ประคองให้ถึง 20 ก.ค.นี้

 

ประภัตร โพธสุธน

 

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงเป้าหมายการผลิตข้าว   การวางแผนการข้าว และพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 โดยมีสาระสำคัญ คือ เห็นควรให้ มีการแบ่งประเภทข้าวเพื่อให้การเพาะปลูกมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้ผลผลิตในแต่ละชนิดข้าวที่มีความสอดคล้องทั้งในส่วนของความต้องการ(Demand)  และ ผลผลิต (Supply)

 

โดยจะแบ่งเป็น 5 ชนิดข้าว ประกอบด้วย 1) ข้าวหอมมะลิ  2) ข้าวหอมไทย  3) ข้าวเจ้า ซึ่งจำแนกเป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่มและข้าวเจ้าพื้นแข็ง 4) ข้าวเหนียว 5) ข้าวตลาดเฉพาะ ทั้งนี้พื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 นั้น ได้กำหนดไว้ทั้งสิ้น 66 ล้านไร่ โดยปรับลดพื้นที่ปลูกลงจากปีการผลิต 2563/2564 ประมาณ 3 ล้านไร่

 

นอกจากนี้ในที่ประชุมฯยัง ได้ร่วมกันพิจารณาถึงเป้าหมาย การผลิตข้าว การวางแผนการผลิตข้าว และพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 โดยมีสาระสำคัญ คือ ปริมาณน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวในปีการผลิต 2564/65 (ฤดูนาปี) อยู่ในเกณฑ์น้อย  ภาพรวมปริมาณน้ำที่ใช้การจากอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะนี้มีจำนวน 11,121 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในขณะเดียวกันกลับมีความต้องการใช้อยู่ที่ 32,339  ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับน้ำใน 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การเหลือเพียง 1,457 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่ามีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค/บริโภค และจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ดังนั้นหน่วยงานชลประทานในพื้นที่จะต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำ โดยจัดส่งน้ำเป็นรอบเวรเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ และต้องมีแผนจัดสรรน้ำเพื่อประคองปริมาณน้ำที่มีอยู่จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564

 

ดังนั้นนอกจากการจัดรอบเวร  เพื่อจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรแล้ว อีกส่วนหนึ่งจะต้องขอความร่วมมือเกษตรกรหากจะเพาะปลูกให้พิจารณาใช้น้ำฝน เป็นหลัก ซึ่งจากการคาดการณ์ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป น่าจะสามารถเพาะปลูกได้โดยไม่มีผลเสียหาย