ดร.ปิติ เคลียร์ปม CPTPP ความเข้าใจผิด เรื่อง CL สิทธิบัตรยา

21 พ.ค. 2564 | 12:42 น.

CPTPP ดร.ปิติ เคลียร์ดราม่า ปมเข้าใจผิด คนค้านโยงเรื่อง CL สิทธิบัตรยา ระบุ จะเข้า CPTPP หรือไม่เข้า ประเทศไทยก็ยังคงสามารถใช้ CL ยาผลิตยาฟาวิพิราเวียได้

21 พ.ค. 2564 - รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึง ประเด็น การพิจารณาเข้าร่วม CPTPP ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ของประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการคัดค้านของภาคประชาชน และภาคการเมือง โดยบางส่วนเชื่อว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่อด้านการสาธารณสุขของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ หรือการส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขในด้านอื่น เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) เป็นต้น 

โดย ดร.ปิติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Piti Srisangnam ในหัวข้อ #โชคดีที่คนไทยจะได้ใช้ยา แต่ #โชคร้ายที่มีคนเอาเรื่อง CPTPP และสิทธิบัตรยาไปทำให้คนเข้าใจผิด ซึ่งรวบรวมข้อข้องใจสำคัญ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ตามใจความสำคัญดังนี้ ....

ในผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (#CPTPP ) ของ #สภาผู้แทนราษฎร  ภาคประชาชนแสดงความห่วงกังวลว่า หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี CPTPP แล้วประเทศไทยอาจไม่สามารถใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) ได้เช่นเดิม และอาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐจะถูกบริษัทยาต้นแบบฟ้องร้องได้ง่ายขึ้นผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

แต่ข้อเท็จจริงคือ หากพิจารณาข้อบทของ CPTPP ในมาตรา 18.6: Understandings Regarding Certain Public Health Measures ความตกลง CPTPP ยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้ CL ตามข้อกำหนดของ WTO ในทุกกรณี 

นั่นหมายถึงว่าทุกประเทศที่เข้าร่วม CPTPP ยังสามารถใช้ CL เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้ในทันที ตามหลักการที่ WTO กำหนด (กรณีประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่การค้า หรือ กรณีแก้ไขสถานการณ์เร่งด่วน) 

ซึ่งก็ตรงกับข้อกำหนดตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยทุกประการ และไทยก็เป็นสมาชิก WTO มาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1995 และเราก็ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาในการผลิตยาหลายชนิด (ยาต้านไวรัส HIV/AIDS 2 รายการ, ยาสลายลิ่มเลือด 1 รายการ และยารักษาโรคมะเร็ง 4 รายการ) 

นอกจากนี้ CPTPP ยังกำหนดด้วยว่า ให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิพิจารณาได้ด้วยตนเองว่า สถานการณ์ใดถือเป็นสถานการณ์เร่งด่วนของประเทศตน เพราะแต่ละประเทศย่อมมองเห็นความเร่งด่วนของแต่ละเหตุการณ์แตกต่างกัน การอนุญาตให้แต่ละประเทศตัดสินใจเองได้ว่าเมื่อไรมีความจำเป็นต้องใช้ ย่อมช่วยให้สมาชิกใช้ CL เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนของตนได้ดีกว่า 

และในมาตรา 29 ของ CPTPP เรื่อง Exceptions and general provisions ยังมีการย้ำอีกครั้งว่า หากเป็นกรณีสถานการณ์เร่งด่วน สามารถงดเว้นการบังคับใช้ข้อตกลง CPTPP ได้

นั่นแปลว่า จะเข้า CPTPP หรือ ไม่เข้า CPTPP ประเทศไทยก็ยังคงสามารถใช้ CL ยาผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ตามที่ WTO กำหนด 

ดังนั้นเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ CPTPP และการเอาเรื่อง 2 เรื่องมาผสมผสานทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน มาสร้างความเข้าใจผิด เขาเรียก #Disinformation ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ #FakeNews ครับ

และในรายงานของสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนของ อย. แสดงความห่วงกังวลว่า การทำ CL อาจถูกตีความว่า เป็น “การเวนคืนทรัพย์โดยทางอ้อม” ตามการแปลความใน Annex 9B ของข้อบทว่าด้วยการลงทุน จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ภาครัฐถูกฟ้องร้องโดยภาคเอกชน

แต่ข้อเท็จจริงคือ ข้อบทที่ 9 ว่าด้วยการลงทุนของ CPTPP ในมาตรา 9.8 (5) ว่าด้วยการเวนคืนและการชดเชย (Article 9.8 : Expropriation and Compensation) ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า This Article shall not apply to the issuance of compulsory licences granted in relation to intellectual property rights in accordance with the TRIPS Agreement, or to the revocation, limitation or creation of intellectual property rights, to the extent that the issuance, revocation, limitation or creation is consistent with Chapter 18 (Intellectual Property) and the TRIPS Agreement. 

[มาตรานี้จะไม่บังคับใช้กับการใช้ CL ยาที่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการได้ตามข้อตกลง TRIPS รวมทั้งมาตรานี้จะไม่บังคับใช้กับการเพิกถอน การจำกัด หรือการสร้างสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในขอบเขตที่การออก การเพิกถอน การจำกัด หรือการสร้างสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา มีความสอดคล้องกับข้อบทที่ 18 (ทรัพย์สินทางปัญญา) และข้อตกลง TRIPS – แปลโดยคณะผู้วิจัย] 

ดังนั้นข้อกังวลของผู้แทนจาก อย. จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

แถมให้อีกเรื่องคือ เรื่อง การเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Patent Linkage) 

ในรายงานของสภาผู้แทนราษฎร ภาคประชาชนห่วงกังวลว่า บริษัทผู้ผลิตยาต้นแบบ (Original Drug) อาจจะใช้กระบวนการยุติธรรมในการใช้ “สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต” และร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้บริษัทที่ต้องการผลิตยาชื่อสามัญ (Generic Drug) เกิดความล่าช้าในการผลิตและจำหน่ายยา กระบวนการทางกฎหมายอาจใช้ระยะเวลายานาน ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาชื่อสามัญได้ช้าลง และทำให้ยาต้นแบบซึ่งมีราคาสูงยังคงผูกขาดตลาดอยู่ต่อไป ทำให้ไม่สามารถนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและระบบหลักประกันสุขภาพได้

ประเด็นนี้มีข้อเท็จจริงคือ ในเมื่อความคุ้มครองตามสิทธิบัตรของยาต้นแบบได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะเหตุใดศาลถึงจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังข้อห่วงกังวลข้างต้น ทั้งนี้เนื่องจากการขอขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญไม่ได้ขัดกับกฎหมายทั้งในประเทศไทย และระหว่างประเทศ 

รวมทั้งขัดกันกับผลประโยชน์ของชาติแต่อย่างใด และการที่ห่วงกังวลว่าจะมีการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ก็เป็นประเด็นที่มีการกำหนดไว้แล้วในกฎหมาย ซึ่งมีหลักการคือ “การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมส่งผลให้ไม่มีอำนาจฟ้อง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต"

มาตรา 5 เป็นหลักทั่วไปที่ใช้บังคับในการใช้สิทธิหรือชำระหนี้ทางแพ่งของบุคคล เป็นหลักที่นำมาใช้ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิหรือชำระหนี้ของตนในเมื่อกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างกันมิได้กำหนดรายละเอียดถึงการปฏิบัติต่อกันไว้ ก็ให้ถือเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “บุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด" (He who comes to equity must come with clean hands) 

หมายถึง การที่บุคคลใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้นจะต้องใช้โดยสุจริต มิฉะนั้นศาลจะไม่รับรองสิทธินั้นหรือไม่รับบังคับให้ รวมทั้งการชำระหนี้ก็ต้องกระทำโดยสุจริตด้วยเช่นเดียวกัน โดยถือว่าในการที่บุคคลได้ผูกนิติสัมพันธ์ต่อกันแล้วทุกคนต้องซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน และต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์และไว้วางใจด้วย ถ้าการกระทำใดเป็นปฏิปักษ์ต่อความซื่อสัตย์และความไว้วางใจดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

การใช้สิทธิที่ไม่สุจริตนั้นมีผลถึงเรื่องการไม่มีอำนาจฟ้องคดี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้คู่ความจะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาไว้ก็ตาม

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ยังระบุว่า จากข้อมูลข้างต้น รู้ไว้จะได้ไม่ถูกเขาหลอก ว่าต้องเลือก #NoCPTPP หรือ #YesCPTPP หรือ ไม่เลือก แต่แค่ขอไปเจรจาก่อน ถ้าดีค่อย Yes ถ้าไม่ดีค่อย No แต่อย่าถูกหลอกให้ไม่ไปแม้แต่จะเจรจาเพื่อรักษาโอกาสและผลประโยชน์ของชาติ โดยเรื่องที่ซับซ้อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วย Hashtag สั้นๆ หรือ Infographic ได้ แต่ต้องอ่านจากข้อเท็จจริงที่อาจจะยาวและน่าเบื่อ แต่ในที่สุดเราจะเห็นว่า #ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง