แข่งนวัตกรรม‘กัญชา-กัญชง’ ทุนใหญ่-เล็กแห่ปล่อยของ ชิงเค้ก 2.1 หมื่นล้าน

08 เม.ย. 2564 | 08:30 น.

ตลาดกัญชา-กัญชงคึกคัก ทุนใหญ่-เล็กแห่ปล่อยของหวังชิงยอดขาย ทั้งกัญชาทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ เจาะลูกค้า B2B-B2C “ล็อกซเล่ย์” เด้งรับเตรียมส่ง "เทอร์พีน เฟลเวอร์" ป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รพ.ยันฮี ดีเดย์เปิดศูนย์รักษาด้วยกัญชา 9 เม.ย. นี้

การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กัญชา-กัญชง คึกคัก มูลค่าอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชงในประเทศไทย ที่คาดว่าจะพุ่งสูงกว่า 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จนกลายเป็น “บลูโอเชี่ยน” วันนี้อาจต้องประเมินใหม่เมื่อผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต ส่งออกตลอดจน SMEs ต่างมองเป็นโอกาส แม้บิ๊กเนมอย่าง เครือซีพี, คาราบาวกรุ๊ป, โอสถสภา ฯลฯ จะประกาศตัวรุกตลาด แต่ก็ยังมีแบรนด์รองและแบรนด์เล็กที่ขอกระโดดเข้าสู่สนามแข่งขันชิงเค้กก้อนนี้ ทำให้คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเป็นจริงได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 ปีนี้

นายสุรช ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยว่า ล็อกซเล่ย์ร่วมกับบมจ. เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ หรือ NRF และ Golden Triangle Health (GTH) ลงนามเป็นพันธมิตรด้านการจัดจำหน่าย เทอร์พีน เฟลเวอร์ (Terpene Flavors) โดยบริษัท ซูเปอร์ แพลนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ NRF จะเป็นผู้จัดหาเทอร์พีน เฟลเวอร์และสินค้าที่มีส่วนผสมของเทอร์พีน เฟลเวอร์ โดยล็อกซเล่ย์จะเป็นผู้จัดจำหน่ายให้

เบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การจัดจำหน่ายเทอร์พีน เฟลเวอร์แบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) สำหรับกลุ่มลูกค้าโรงงานผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จที่มีส่วนผสมของเทอร์พีน เฟลเวอร์ เช่น เทอร์พีน วอเตอร์ (Terpene Water) ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีเครือข่ายกว่า 4,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

ปัจจุบันล็อกซเล่ย์มีฐานลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 200 ราย ทั้งในกลุ่มโรงงานผลิตอาหาร ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มต่างๆ โรงงานผลิตแป้ง แชมพู โลชั่น และยาสีฟัน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานเหล่านี้ ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กำลังให้ความสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยนำเทอร์พีน เฟลเวอร์ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งล่าสุดมีผู้แสดงความสนใจแล้วหลายสิบราย

“สินค้าชนิดแรกที่บริษัทจะกระจายสู่ผู้บริโภคคือเทอร์พีน วอเตอร์ หรือน้ำดื่มที่มีกลิ่นของกัญชง สร้างความผ่อนคลายให้กับผู้บริโภค ตามด้วยสินค้าสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของเทอร์พีน เฟลเวอร์ ผ่านร้านค้าในเครือข่ายที่มีอยู่กว่า 4,000 ร้านค้า”

 

ศูนย์รักษาด้วยกัญชาดีเดย์ 9เม.ย.

ด้านนพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กัญชาถือเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงน้อยกว่ายาสังเคราะห์ในปัจจุบัน และยังเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยในอนาคต โดยไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางในการรักษาโรคด้วยกัญชาในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นการเปิดให้บริการศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่รักษาโรคด้วยยาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล

โดยโรงพยาบาลยันฮี จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ในการวิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์และฟาร์มกัญชาของวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อนำมาปรุงยาทางการแพทย์ เบื้องต้นเน้นไปที่กลุ่มยาศุขไสยาศน์ ใช้ร่วมกับน้ำมันนวดกัญชาแก้การนอนไม่หลับ, ยาแก้ไข้ผอมเหลือง, ยาแก้ลมแก้เส้น, ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง, ยาแก้โรคจิต และในอนาคตจะมีการปรุงยาตามภาวะของโรคภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาลและเภสัชที่ผ่านการอบรมแล้ว โดยศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา จะเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยในวันที่ 9 เมษายนนี้


แข่งนวัตกรรม‘กัญชา-กัญชง’ ทุนใหญ่-เล็กแห่ปล่อยของ ชิงเค้ก 2.1 หมื่นล้าน

ผุดเอาท์เล็ต“กัญชา-กัญชง”

ขณะที่นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า บีเจซีสนใจและศึกษาเรื่องของกัญชามานาน 3-4 ปี และพบว่า กัญชามีสรรพคุณที่หลากหลายสามารถนำไปใช้ในการรักษา เป็นยา เป็นสารปรุงแต่ง ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม และช่วยรักษาโรคได้หลายอย่าง ซึ่งบีเจซีเองมีความสนใจในการนำไปพัฒนาเป็นยาและสารปรุงแต่ง อย่างไรก็ดีต้องรอให้กฎหมายปลดล็อกและอนุญาตให้มีการใช้อย่างถูกต้องและชัดเจนก่อน

ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเริ่มวางจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มกัญชากัญชงในร้าน Squeeze Bar ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีส่วนผสมของกัญชากัญชงทั้งในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ โดยร่วมมือกับสถาบันต่างๆในการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ รวมทั้งมีแผนเปิด Ganchashop.com เพื่อให้เป็นเอาท์เล็ตจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง

“คาดว่าจะได้รับใบอนุญาต ให้ปลูกและสกัดได้เร็วสุดในไตรมาส 3 และจะเริ่มเพาะปลูก เก็บเกี่ยวได้ในปีนี้ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มและอาหาร โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มกัญชากัญชงจะสร้างรายได้ให้บริษัทไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บิ๊กธุรกิจชักแถวลุยกัญชง-กัญชา เริ่มก่อนชิงความได้เปรียบ

รัฐบาลยัน หนุนสร้างมูลค่าเพิ่ม ”กัญชง-กัญชา”

ปั้นธุรกิจกัญชา ถูกทิศ-ยั่งยืน

USA-ยุโรป จ้องลงทุน • โครงสร้าง สธ.แข็งแกร่ง ไทยผงาดฮับกัญชาโลก

อย.ต้องจริงใจ หนุน“กัญชา” ชุบชีวิตเกษตรกร

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564