USA-ยุโรป จ้องลงทุน • โครงสร้าง สธ.แข็งแกร่ง ไทยผงาดฮับกัญชาโลก

26 มี.ค. 2564 | 19:00 น.

สาธารณสุขดันไทย “ฮับกัญชา กัญชง” ปลุกเศรษฐกิจคึกคัก พร้อมหนุนซัพพลายเชน สร้างโอกาสคนตัวเล็ก เผยหลังเปิดเสรี “อเมริกา-ยุโรป” จ้องเข้าลงทุน THG แนะถอดบทเรียนโลกตะวันตก สร้างอีโคซิสเต็มที่ถูกต้อง โฟกัสคุณภาพและความปลอดภัย ผลักดันร่างกฎหมายเรียกความมั่นใจต่างชาติ

มูลค่าตลาดกัญชาโลกที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 2567 ตามรายงานของ The Global Cannabis Report ที่จัดทำโดย Prohibition Partners ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ปลูก ผู้สกัด หรือผู้แปรรูป หลังการประกาศถอดกัญชง กัญชา ออกจากยาเสพติด ประเภท 5 ผลักดันให้ไทยเป็น “ฮับกัญชง-กัญชา” ทำให้ “ไทย” เนื้อหอมเมื่อยักษ์ใหญ่ฝั่งอเมริกาและยุโรปจับจ้องที่จะเข้ามาลงทุน

ดันไทยฮับกัญชง-กัญชา

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาบนเวทีสัมมนา “ปลดล็อก ‘กัญชง-กัญชา’ ปลุกเศรษฐกิจ รวย” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า มั่นใจในเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับ “พืชกัญชาและกัญชง” เพราะขณะนี้ต่างประเทศกำลังมองเข้ามา และเห็นประเทศไทยเป็นสถานที่สำคัญอย่างมาก เพราะไทยมีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นฮับของกัญชง กัญชา การทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืช 2 ชนิดนี้ จะเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับใช้วิจารณญาณ และความรอบคอบ การตัดสินใจทางการแพทย์ว่าจำเป็นที่จะต้องใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์สูงสุดพร้อมให้ความรู้กับประชาชนในเวลาเดียวกัน

ในอนาคตมองว่าธุรกิจกัญชาจะเป็นโอกาสของประเทศ ไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งชาวต่างชาติ ต่างยอมรับระบบสาธารณสุขของไทย ความเชื่อมั่นที่ไทยสามารถควบคุม ต่อสู้กับโควิด-19 ได้ทั้งในระลอกแรกและระลอก 2 ผมจึงมีความมั่นใจว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ต่างประเทศจะมีความเข้าใจในระบบสาธารณสุข และใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่พักผ่อนในบั้นปลายชีวิต ซึ่งจะต้องมีสถานที่ที่ดี ป่วยก็ได้เข้าโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นโอกาสที่รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนไปอย่างเอกชน หรือนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะขับเคลื่อนกัญชา เพื่อให้มีความหลากหลายในระบบสาธารณสุขยังมีโอกาสอย่างมาก


พลิกโอกาสธุรกิจ

 สร้างโอกาสคนตัวเล็ก

อย่างไรก็ดีหลังจากที่สาธารณสุขถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือการให้องค์กร วิสาหกิจชุมชน ได้มีการปลูกกัญชาได้เอง การให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ก็สามารถไปคัดกรองใช้ได้การให้นำบางส่วน เช่น ใบ ต้น ราก มาใช้ได้แต่ต้องมีแหล่งที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงกัญชง ก็เช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังต้องรอประกาศอย่างเป็นรูปธรรม ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

“สาธารณสุขจะค่อยๆเดินหน้าเพื่อความปลอดภัยในเรื่องของข้อมูล ความเข้าใจ การใช้กฏหมาย ช่วงเวลานี้กัญชายังมีปัญหาในแง่ของข้อกฎหมาย ซึ่งจะพยายามแก้ต่อไป แต่ยังเป็นโอกาสของประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้า สำหรับนักธุรกิจและทุกระดับที่กำลังมองหาแนวทางการใช้พืชเศรษฐกิจตัวใหม่คือ กัญชงและกัญชา นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ”

โดยโอกาสนี้จะเป็นของคนทุกช่องทาง ไม่ใช่เฉพาะของกลุ่มทุนใหญ่ อยากจะให้เป็นโอกาสของคนอยู่ในพื้นที่ราบสูงที่เปลี่ยนอาชีพ เป็นการเปลี่ยนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โอกาสของวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมมือส่งไปให้นักลงทุนที่มีทุนมากพอที่จะตั้งโรงงานสกัด ทั้งหมดนี้จะเกิดเป็นระบบซัพพลายเชน อาจจะเป็นฮับสาธารณสุข เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ต้องร่วมมือกัน แล้วเดินไปสู่ฮับด้านบริการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

 

อเมริกา-ยุโรปพร้อมลงทุน

ด้านดร. เอมอร โกพีร่า ที่ปรึกษาประธาน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า ปัจุบันทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรปกำลังจับตามองประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ว่าประเทศไทยกำลังทำอะไร เพื่อจะหาโอกาสเข้ามาลงทุนดังนั้นโอกาสเติบโตของธุรกิจกัญชาในประเทศไทยมีสูงมาก ถ้าไทยสามารถสร้างอีโคซิสเต็มที่ถูกต้อง โฟกัสเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย เพราะว่าสารตัวนี้ ไม่ใช่ พืช ผัก อาหาร แต่เป็นสารที่เอฟเฟกซ์สูงทางด้านการเป็นยา

“ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นกัมมี่ ไอศกรีม ก็นับว่าเป็นยา ไม่ใช่อาหาร เพราะฉะนั้นไทยต้องดีไซน์โปรแกรมให้ถูกต้อง ไม่เข้มข้นเกินไป ไม่รีแล็กซ์เกินไป ต้องให้บาลานซ์ ประเทศไทยสามารถใช้กัญชาสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ แต่ต้องดีไซน์ธุรกิจให้ถูกต้อง”

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยต้องการใช้กัญชาในการสร้างเศรษฐกิจ จำเป็นต้องทำการวิจัย สำรวจตลาด ว่าตลาดต้องการอะไร ในขณะเดียวกันภาครัฐต้องผลักดันร่างกฎหมายที่รับรองคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและประเทศปลายทางที่ต้องการส่งออกกัญชาทั้งในรูปของวัตถุดิบ สารสกัด และผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย

“อุตสาหกรรมกัญชาของไทยโชคดี เพราะเห็นบทเรียนจากทางยุโรปและอเมริกา แต่ไทยต้องเรียนรู้สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำและนำมาปรับใช้”

ดังนั้นเมื่อพูดถึงกัญชา จึงไม่ใช่แค่เรื่องการปลูก สกัดและสร้าง Product เท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของคุณภาพชีวิต การสร้างรายได้ เพราะในซัพพลายเชนของกัญชา ตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆที่เข้ามาในอีโคซิสเต็มนี้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาซัพพอร์ตในทุกส่วนในซัพพลายเชนและนวัตกรรมในการสร้าง Consumer Product

สิ่งที่ท้าทายอย่างมากของอุตสาหกรรมนี้คือ สายพันธุ์ตั้งแต่การปลูกที่มีความละเอียดอ่อน กัญชาเป็นพืชที่กลายพันธุ์ได้ง่าย สายพันธุ์เดียวกัน
เมื่อปลูกต่างที่ ก็ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ผลผลิตจากสายพันธุ์เดียวกันที่ได้จากสถานที่ปลูกเดียวกัน ผ่านกระบวนการสกัดที่ต่างกัน ก็ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนในซัพพลายเชนสำคัญมาก ในเรื่องการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัย ซึ่งมีผลต่อราคาซื้อขายด้วย 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564