เปิดเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิ"ซีพี" ชิงอู่ตะเภา

19 ต.ค. 2562 | 06:16 น.

 

กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก(ผู้ถูกฟ้อง) ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสำเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสำเนา ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี (ผู้ฟ้อง) เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกต่อไปนั้น

 ในคำสั่งทุเลาศาลปกครองสูงสุด หน้า 19-22 ให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกําหนดในเอกสารการคัดเลือก เอกชน (REP) ประกอบข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในชั้นนี้แล้วเห็นได้ว่า หลักการสําคัญของการ ดําเนินการเพื่อคัดเลือกหรือให้ได้มาซึ่งคู่สัญญาของรัฐนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุดแก่ประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของรัฐ และในส่วนที่เกี่ยวกับการ คุ้มครองสิทธิของผู้เข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกคู่สัญญานั้น หลักกฎหมายดังเช่นที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้กําหนดหลักการให้มีการดําเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน อย่างเป็นธรรม

เปิดเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิ"ซีพี" ชิงอู่ตะเภา

การพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดําเนินการในกรณีนี้ และการปรับใช้ ข้อกําหนดใดๆ ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (REP) จึงต้องยึดถือและให้สอดคล้องกับหลักการและหลักกฎหมายดังกล่าวเป็นสําคัญ

 

ในกรณีนี้ ถึงแม้ข้อ 31(1)ของเอกสารคัดเลือกฯ กําหนดให้มีการปิดการรับซองข้อเสนอในวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 15.00 นาฬิกา และ (3) กําหนดว่าผู้ถูกฟ้องคดีและ/หรือบุคคลที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายจะไม่รับซอง เอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกําหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 31(1)ก็ตาม

 

แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของการดําเนินการยื่นข้อเสนอ ในคดีนี้เห็นได้ว่า การดําเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการยื่นข้อเสนอในคดีนี้เป็นกระบวนการยื่น ข้อเสนอในโครงการขนาดใหญ่ เป็นที่คาดหมายได้ตรงกันว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องจํานวนมาก การจะกําหนดให้มีการรับเอกสารเมื่อใด โดยวิธีการใด จึงต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน และต้อง กําหนดเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการตรวจรับเอกสารเช่นว่านั้นให้ผู้ยื่นข้อเสนอ ได้รับทราบเป็นการล่วงหน้า

 

แต่จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับการดําเนินการ ในเรื่องนี้ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกระบวนการรับและตรวจปริมาณของเอกสารอย่างชัดเจน และกลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกระบวนการให้ผู้ยื่นข้อเสนอแสดงตนว่าประสงค์จะเข้าร่วมการ ยื่นข้อเสนอด้วยการให้ลงทะเบียนก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงมีกระบวนการรับและตรวจสอบ เอกสารในลําดับถัดไป

 

โดยการเรียกให้ผู้ยื่นข้อเสนอเข้าสู่กระบวนการรับและตรวจสอบ เอกสารที่ละราย ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้เริ่มมีการตรวจเอกสารของกลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส (BBS Joint Venture) เมื่อเวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา เป็นรายแรก จากนั้น จึงดําเนินการรับและตรวจสอบเอกสารของกลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มของผู้ฟ้องคดี ตามลําดับ

 

เปิดเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิ"ซีพี" ชิงอู่ตะเภา

 

การที่ปรากฏข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ได้ความว่าได้มีการขยาย ระยะเวลาซึ่งต้องกระทําเป็นลายลักษณ์ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ข้อ 31(3) แต่มีความหมายที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการยื่นข้อเสนอในครั้งนี้ไม่ได้ยึดถือการขนหรือลําเลียง เอกสารใดให้ต้องผ่านจุดลงทะเบียนภายในเวลา 15.00 นาฬิกา เพราะโดยสภาพผู้ยื่นข้อเสนอ แต่ละรายจะต้องลําเลียงเอกสารมาเป็นระยะๆ ในระหว่างนั้น อีกทั้งการที่ปรากฏข้อเท็จจริง ในชั้นนี้ว่า ในการเข้ายื่นเอกสารรายของผู้ฟ้องคดี เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ทําการตรวจสอบและรับเอกสารจนครบถ้วนเรียบร้อยในวันนั้นแล้ว โดยมีการออกเอกสารแบบฟอร์ม ตรวจสอบการจัดเก็บข้อเสนอโครงการฯ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีว่าได้ลงทะเบียนก่อนเวลา 15.00 นาฬิกา และไม่ปรากฏว่าได้มีการทักท้วงหรือท้วงติงเกี่ยวกับเอกสารของผู้ฟ้องคดีในวันนั้นแต่อย่างใด

 

ส่วนการอ้างถึงรายงานของคณะทํางานรับและจัดเก็บเอกสารข้อเสนอก็ไม่ได้ปรากฏ ว่าเป็นการทํารายงานขึ้นในขณะนั้น กรณีเป็นเพียงการอ้างถึงรายงานดังกล่าวที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง เช่นเดียวกับการอ้างถึงภาพถ่ายนิ่งที่ใช้อ้างว่ามีการลําเลียงเอกสารกล่องที่ 6 และเอกสารกล่องที่ 9 ผ่านจุดลงทะเบียนหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการทหารเรือในเวลา 15.09 นาฬิกานั้น ก็เป็นอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ได้รับมาในภายหลังวันที่มีการปิดรับซอง เอกสารแล้ว

 

ประกอบกับเมื่อพิจารณาว่า เอกสารกล่องที่ 6 เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ ซึ่งมีเอกสารฉบับจริงทั้งหมดจํานวน 4 กล่อง และ เอกสารกล่องที่ 9 เป็นซองข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา ซึ่งมีเอกสารจํานวน 1 กล่อง ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ส่วน ไม่ใช่เอกสารที่กําหนดให้จะต้องมีการเปิดซองของเอกสาร ณ ขณะนั้นด้วย แต่อย่างใด

 

โดยหลังจากที่มีการตรวจและรับเอกสารดังกล่าวแล้วก็จะนําไปเก็บรักษา ไว้ในความครอบครองของผู้ถูกฟ้องคดี ณ ห้อง Navy Club ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลงใดๆ หรือล่วงรู้ถึงรายละเอียดข้อมูลของเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 และเอกสาร ข้อเสนอซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้ ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการนําเอกสารกล่องที่ 6 และ เอกสารกล่องที่ 9 ของกลุ่มผู้ฟ้องคดีผ่านจุดลงทะเบียน หน้าห้องรับรอง กองบัญชาการ กองทัพเรือเมื่อเวลา 15.09 นาฬิกา จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนํามาใช้พิจารณาว่า มีข้อบกพร่องในการยื่นข้อเสนอที่เป็นสาระสําคัญ

 

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาใช้ดุลพินิจ ปฏิเสธไม่รับซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอ ด้านราคา กล่องที่ 9 ทั้งฉบับตัวจริงและสําเนา จึงเป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าน่าจะ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการปฏิเสธไม่รับเอกสารในส่วนดังกล่าวอันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกนั้น หาใช่เป็นเพียงการที่ผู้ฟ้องคดีเสียโอกาสดังที่ ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างเท่านั้น

 

หากแต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องสําคัญของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยหากกระบวนการ คัดเลือกในครั้งนี้ได้ดําเนินการต่อไปในขั้นตอนต่างๆ โดยศาลไม่ได้พิจารณาถึงการให้ความ คุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่ง การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง เพราะผู้ฟ้องคดีย่อมไม่สามารถเข้าร่วมในกระบวนการคัดเลือกให้ เป็นคู่สัญญาของรัฐอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งเมื่อได้พิเคราะห์ถึงว่า การดําเนินการก่อสร้างตาม โครงการนี้ต้องมีระยะเวลาการดําเนินการตามสมควร หาใช่จะดําเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน เวลาอันสั้นแต่อย่างใดไม่

เปิดเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิ"ซีพี" ชิงอู่ตะเภา

 

การให้กระบวนการคัดเลือกคู่สัญญาของรัฐสามารถดําเนินการ โดยเปิดเผย โปร่งใส และมีการเปิดโอกาสให้มีการเข้าร่วมแข่งขันที่เป็นธรรม จึงหาได้ถึงขนาด เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะแต่อย่างใดไม่ กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะให้มีการทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่รับ ข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสําเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสําเนา ของผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวของผู้ฟ้องคดีให้เป็นไปตามขั้นตอน การดําเนินการคัดเลือกต่อไป

 

จึงมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดี แจ้งตามหนังสือสํานักงาน บริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562 ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและ แผนธุรกิจ กล่องที่ 6 กับฉบับสําเนา และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9 กับฉบับสําเนา ของผู้ฟ้องคดี

นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์  ตุลาการเจ้าของสํานวน

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะ

นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นางสุกัญญา นาชัยเวียง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายจิรศักดิ์ จิรวดี ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

 

เปิดเหตุผล ศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิ"ซีพี" ชิงอู่ตะเภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● ผ่าปม!เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ ทุ่มแสนล.จ่อคว้า“อู่ตะเภา”

● “ซีพี”ดิ้นยื่นศาล คุ้มครองประมูลอู่ตะเภา

● จับตา“ซีพี”ยังมีลุ้น 30 วัน ยื่นอุทธรณ์ชิงเมืองการบิน

● BTS ลั่นพร้อมลุยอู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน

● “ซีพี”วืดชิงอู่ตะเภา 2.9 แสนล. ศาลปกครองกลางยกคำร้อง

● ศาลปกครองชี้ชะตา“ซีพี”ชิงอู่ตะเภา 2.9แสนล้านวันนี้

● 3 กลุ่มฉลุยเปิดซอง1 ชิงอู่ตะเภา ลุ้น“ซีพี”ไปต่อหรือไม่ขึ้นกับคำสั่งศาล

● นายกฯไฟเขียวตัดสิทธิ์"กลุ่มซีพี"ประมูลอู่ตะเภา

● ‘ซีพี’เปิดเกมยื้อ ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

● “ซีพี” ส่อชวดประมูลอู่ตะเภา ศาลปกครองยกคำขอทุเลา

● “ทร.”แจงปมพิพาท“ซีพี”ขอคุ้มครองตัดสิทธิ์ประมูลอู่ตะเภาวันนี้

● กองทัพเรือพร้อมแจงศาล16พ.ค.นี้ อู่ตะเภา ไม่พิจารณาซองยื่นเกินเวลาCP

● กองทัพเรือแจงให้3เอกชน ชี้แจงซอง1เพิ่มเติมเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

● ยกแรกชิงอู่ตะเภา บีบีเอสเขี่ยทิ้งCP

● กองทัพเรือแจงไม่พิจารณาเอกสารซีพี เหตุยื่นซองเกินเวลากำหนด