ผ่าปม'เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ' ทุ่มแสนล้าน จ่อคว้าอู่ตะเภา

17 ต.ค. 2562 | 05:45 น.

 

ในที่สุดการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 50 ปี โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุน 2.9 แสนล้านบาท บนพื้นที่ 6,500 ไร่ ของกองทัพเรือ อันเป็น 1 ใน 5 โครงการหลักของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งเป็นเรือธงของรัฐบาล ก็เห็นแววแล้วว่างานนี้กำลังจะตกอยู่ภายในมือ 3 ตระกูลมหาเศรษฐี อย่าง ปราสาททองโอสถ-กาญจนพาสน์-ชาญวีรกูล

จ่ายผลตอบแทนทะลุแสนล.

หลังจากการเปิดซองข้อเสนอราคา ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม2562 ระหว่าง เอกชน 2 กลุ่มที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค คือ “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส”ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ,บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  กับ “กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม” ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน), ไทยแอร์เอเชีย และบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย)จำกัด (มหาชน) 

พบว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนให้รัฐทะลุ1แสนล้านบาท ห่างจากการเสนอราคาของกลุ่มแกรนด์ คอนซอเตียม มากโข แม้ว่าแกรนด์ คอนซอเตียม จะเสนอค่าตอบแทนมาสูงเกินกว่าที่รัฐคาดหวังว่าจะได้ราว 5.9 หมื่นล้านบาทไปมากแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามแม้ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส จะเสนอค่าตอบแทนมาสูงสุด แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯก็ยังไม่มีการประกาศผู้ชนะและยังไม่เปิดเผยราคาค่าตอบแทนที่ทั้ง 2 กลุ่มบริษัทเสนอมาได้ เนื่องจากต้องพิจารณาตรวจสอบที่มาที่ไปของการเสนอราคาตามไฟแนนซ์เชียล โมเดล ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ก่อนว่าจะดำเนินการตามแผนได้หรือไม่  และสามารถจ่ายผลตอบแทนให้รัฐตามราคาที่เสนอมาได้จริง 

จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเรียกผู้เสนอราคาสูงสุดมาเจรจาสัญญา และเสนอครม.พิจารณาต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการคัดเลือกจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในเดือนมกราคม2563

ผ่าปม'เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ' ทุ่มแสนล้าน จ่อคว้าอู่ตะเภา

 

ไฮสปรีดดันค่าตอบแทนพุ่ง2เท่า

การที่กลุ่มบีบีเอส ยื่นค่าตอบแทนทะลุแสนล้านบาท เกินคาดความหวังของรัฐไปไม่ต่ำกว่า 2 เท่า แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะปักธงในโครงการนี้ให้ได้ ซึ่งมองได้ 2 นัยยะ นัยยะแรก คือ  “บีทีเอส” ต้องการช่วงชิงกับ “ซีพี” ที่ต่างก็ต้องการโครงการนี้ เพื่อต้องการต่อจิ๊กซอร์ในการสร้างรายได้ของทั้งไฮสปรีดเทรน 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)กับรายได้จากธุรกิจสนามบิน เพื่อหวังมานำรายได้มาถัวกันกับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เพราะธุรกิจสนามบิน ดูจะมีทิศทางที่ทำกำไรได้มากกว่าไฮสปรีดเทรน 

แต่ซีพี มาตกม้าตายในโครงการประมูลอู่ตะเภา จากการถูกตัดสิทธิจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีมติไม่รับข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ(ซอง2) กล่องที่ 6 และ ข้อเสนอด้านราคา (ซอง3) กล่องที่ 9 ซึ่งเป็นกล่องที่กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (ที่มีนายธนินท์ เจียรวนนท์และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่)และพันธมิตร เนื่องจากเป็นเอกสารในส่วนที่ยื่นเกินเวลาที่กำหนดไว้ไป 9 นาที  จากปัญหารถติด แถมเป็นเอกสารสำคัญ ก็เลยทำให้ซีพี ต้องสอบตกไปตั้งแต่การเปิดซอง2 อู่ตะเภาไปโดยปริยาย 

ดังนั้นงานนี้ซีพี คงเหลือความหวังเดียวที่ฝากไว้กับศาลปกครองสูงสุดว่าจะมีคำพิพากษาอย่างไร ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นประการใด คณะกรรมการคัดเลือกฯ พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ผ่าปม'เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ' ทุ่มแสนล้าน จ่อคว้าอู่ตะเภา

นัยยะที่สอง คือ เป็นการช่วงชิงโอกาสระหว่างบริษัทการบินกรุงเทพฯ(BA)และไทยแอร์เอเชีย ที่ต่างมองโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจสนามบิน เนื่องจากธุรกิจการบินจากการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ที่ผ่านมามาร์จิ้นต่ำ  สายการบินประสบปัญหาการขาดทุนปักโกรก กำไรหดถ้วนหน้า นี่เองจึงทำให้ทั้ง 2 สายการบินมองที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่นี้

ในแง่ของบางกอกแอร์เวย์ส ก็มั่นใจเต็มที่ในการทำกำไรจากธุรกิจสนามบิน เพราะปัจจุบัน BA ก็ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสนามบินอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ครัวการบิน บริการภาคพื้น  ดิวตี้ฟรีในนามมอร์แดนฟรี  ซึ่งก็ทำรายได้สูงกว่าธุรกิจสายการบิน ดังนั้นเมื่อรัฐเปิดPPPสนามบินอู่ตะเภา BA จึงเป็นแกนนำหลักควงบีทีเอสมาประมูล 

ขณะที่ไทยแอร์เอเชีย ก็ต้องการสนามบินอู่ตะเภาเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาก็เข้าไปปักหลักทำการบินในสนามบินแห่งนี้มานับจากรัฐบาลประกาศการให้บริการของสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี2558 จนปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ1สำหรับฮับบินที่สนามบินอู่ตะเภา และยิ่งสนามบินดอนเมืองสล็อตบินเต็มแบบนี้ สนามบินอู่ตะเภา ก็เป็นฮับบินใหม่ที่จะนำมาซึ่งการเติบโตของธุรกิจได้ และไหนจะการขยายตัวของการใช้บริการทั้งผู้โดยสารและสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากการเติบโตของการท่องเที่ยวและนโยบายการผลักดัน10อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี จึงได้เข้ามาจอยประมูลกับทางแกรนด์ แอสเสท

จากความต้องการปักหมุดของบิ๊กธุรกิจรถไฟฟ้าและสายการบิน ที่ต่างมองเห็นโอกาสจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จึงเป็นแรงขับเคลื่อนในการเสนอราคา ที่สูงกว่ารัฐคาดหวังไว้มากนั่นเอง

 

ผ่าปม'เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ' ทุ่มแสนล้าน จ่อคว้าอู่ตะเภา

ดึงนาริตะบริหารอู่ตะเภา

สำหรับทิศทางการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะเกิดขึ้น โครงการนี้รัฐลงทุนงานโยธา ,รันเวย์ที่ 2หอบังคับการบินหลังที่ 2  วงเงิน2 หมื่นล้านบาท ส่วนกลุ่มบีบีเอส ลงทุนราว 2.7 แสนล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 , ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน,ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์(Cargo Complex),พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบิน(Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ) และศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway)

ในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 จะต้องเปิดให้บริการเฟสแรกในปี2567 ในการรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน  ก่อนจะขยายเต็มเฟสรองรับที่ 60 ล้านคน ซึ่งการรองรับเฟสแรก น่าจะสอดรับการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาสนามบินอู่ตะเภามีผู้โดยสารใช้บริการ 1.99 ล้านคน เพิ่มจากปี2558 ที่อยู่ที่1.77 แสนคน  สำหรับผู้บริหารสนามบิน ทางกลุ่มบีบีเอส ได้เสนอ“กลุ่มผู้บริหารสนามบินนาริตะ” มาบริหารสนามบินอู่ตะเภา โดยกลุ่มดังกล่าวนอกจากบริหารสนามบินนาริตะแล้ว ยังบริหารอีกหลายสนามบินในญี่ปุ่นด้วย

ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวของเจ้าสัว กับชิงโอกาสเปิดแนวรุกธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น