“ซีพี” ส่อชวดประมูลอู่ตะเภา ศาลปกครองยกคำขอทุเลา

28 พ.ค. 2562 | 09:32 น.

 

        กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ชวดร่วมประมูลพัฒนาอู่ตะเภา ศาลปกครองยกคำขอทุเลา ชี้คำสั่งคกก.คัดเลือกฯตัดสิทธิ์ ยังฟังไม่ได้ว่าไม่ชอบ เหตุหลักฐานชัดไปยื่นกล่องช้าเกินเวลากำหนดจริงศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

        ส่วนประเด็น ที่ 5 บริษัทอ้างว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ได้ถือเอากำหนดเวลายื่นและรับซองข้อเสนอเป็นสาระสำคัญและได้ขยายระยะเวลาการรับซองข้อเสนอโดยปริยายนั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งที่ศาลจะต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยในเนื้อหาคดีต่อไป

            “ซีพี” ส่อชวดประมูลอู่ตะเภา  ศาลปกครองยกคำขอทุเลา

          วันนี้(28พ.ค.) ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอทุเลา การบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ในคดีที่ บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัวของนายธนินท์ เจียรวนนท์ และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีนายธนินท์ เป็นกรรมการบริษัท) บริษัทบี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด  บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)  และบริษัทโอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ฟ้องคดีที่ 1- 5 ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
        กรณีมีมติไม่รับข้อเสนอในส่วนของซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ กล่องที่ 6 และซองที่ 3ข้อเสนอด้านราคา กล่องที่ 9  เนื่องจากเป็นเอกสารที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นข้อเสนอ จึงเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองข้อเสนอของ 5 บริษัทไว้พิจารณาตามขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนต่อไป

          ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอ ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำขอของ 5 บริษัท เป็นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ซึ่งศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการทุเลาการบังคับได้เมื่อมีองค์ประกอบครบทั้ง3 ประการ คือ
          1. กฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          2. การให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
          3.การทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะ ตามมาตรา 66 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบข้อ 72 วรรคสาม ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ   ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

 

        โดยมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในประการแรกว่า มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของ 5บริษัท ไว้พิจารณา น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่เอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ข้อ 31(1) กำหนดว่า กองทัพเรือจะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอในวันที่ 21 มี.ค.62 เวลา 09.00น และปิดการรับซองในวันเดียวกัน เวลา 15.00น และ (3) กำหนดว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯจะไม่รับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาการยื่นซองเอกสารข้อเสนอตามที่ระบุในข้อ 31 (1) ข้อเท็จจริงปรากฏว่า 5 บริษัทกับผู้ยื่นข้อเสนออีกสองราย ได้ไปยังสถานที่รับซองข้อเสนอและลงทะเบียนก่อนเวลา 15.00น. 

        อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งในเบื้องต้นว่า ได้ไปถึงสถานที่รับซองข้อเสนอและประสงค์ยื่นข้อเสนอเท่านั้น โดยการรับข้อเสนอจะครบถ้วนตามขั้นตอนก็เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอได้ส่งมอบซองข้อเสนอและกล่องเอกสารให้แก่เจ้าหน้าที่ของ คณะกรรมการคัดเลือก ฯก่อนเวลา 15.00 น.
        คณะกรรมการคัดเลือกฯชี้แจงในชั้นไต่สวนว่า 5 บริษัทยื่นส่งเอกสารกล่องที่ 6 กับกล่องที่ 9 เกินเวลาปิดรับซอง โดยแสดงพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายบุคคลยกกล่องเอกสารดังกล่าวไปถึงจุดลงทะเบียนในเวลาประมาณ 15.09 น.  และ 5 บริษัทยอมรับตามคำแถลงชี้แจงเพิ่มเติมว่า เอกสารข้อเสนอของทั้ง5บริษัท กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ไปถึงห้องรับรองชาวต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพเรือ ในเวลา 15.08 น. เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากในวันดังกล่าวการจราจรติดขัดมาก

         ข้อเท็จจริงในชั้นนี้เป็นอันรับฟังได้ว่า เอกสารข้อเสนอ กล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ของ5บริษัทไปถึงสถานที่รับซองข้อเสนอภายหลังกำหนดเวลาปิดรับซองข้อเสนอ ซึ่งข้อ 31(3) ของเอกสารการคัดเลือกเอกชน กำหนดห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองเอกสารข้อเสนอที่ยื่นภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติไม่รับซองข้อเสนอดังกล่าว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           ส่วนที่ 5 บริษัทอ้างว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ได้ถือเอากำหนดเวลายื่นและรับซองข้อเสนอเป็นสาระสำคัญและได้ขยายระยะเวลาการรับซองข้อเสนอโดยปริยายนั้น ประเด็นดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งที่ศาลจะต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพื่อวินิจฉัยในเนื้อหาคดีต่อไป

          เมื่อในชั้นนี้ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีก็ไม่จำต้องพิจารณาเงื่อนไขแห่งการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาประการอื่นอีกต่อไป เนื่องจากถึงอย่างไรก็ไม่ครบองค์ประกอบแห่งเงื่อนไขทั้ง3ประการที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการมีผลของคำสั่งไม่รับซองข้อเสนอบางส่วนของ คณะกรรมการคัดเลือก ฯตามหนังสือสำนักงานบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ด่วนมาก ที่ กพอ.ทร.182/2562ลงวันที่ 10 เมษายน 2562 ตามคำขอของ5บริษัท

        ศาลปกครองจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของ 5บริษัทดังกล่าว
      

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● จับตา“ซีพี”ยังมีลุ้น 30 วัน ยื่นอุทธรณ์ชิงเมืองการบิน

● BTS ลั่นพร้อมลุยอู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน

● “ซีพี”วืดชิงอู่ตะเภา 2.9 แสนล. ศาลปกครองกลางยกคำร้อง

● ศาลปกครองชี้ชะตา“ซีพี”ชิงอู่ตะเภา 2.9แสนล้านวันนี้

● “ซีพี”สละสิทธิ์เปิดซอง 2 ชิงอู่ตะเภา ทร.ยันประเมินข้อเสนอเสร็จสิงหานี้

● 3 กลุ่มฉลุยเปิดซอง1 ชิงอู่ตะเภา ลุ้น“ซีพี”ไปต่อหรือไม่ขึ้นกับคำสั่งศาล

● นายกฯไฟเขียวตัดสิทธิ์"กลุ่มซีพี"ประมูลอู่ตะเภา

● ‘ซีพี’เปิดเกมยื้อ ประมูลสนามบินอู่ตะเภา

● “ทร.”แจงปมพิพาท“ซีพี”ขอคุ้มครองตัดสิทธิ์ประมูลอู่ตะเภาวันนี้

● กองทัพเรือพร้อมแจงศาล16พ.ค.นี้ อู่ตะเภา ไม่พิจารณาซองยื่นเกินเวลาCP

● กองทัพเรือแจงให้3เอกชน ชี้แจงซอง1เพิ่มเติมเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

● ยกแรกชิงอู่ตะเภา บีบีเอสเขี่ยทิ้งCP

● กองทัพเรือแจงไม่พิจารณาเอกสารซีพี เหตุยื่นซองเกินเวลากำหนด