ความหวังริบหรี่ พยานคดี “ซูจี”รับสินบนโผล่รายการทีวี แฉจ่ายใต้โต๊ะ 16 ล้าน

18 มี.ค. 2564 | 01:08 น.

นางอองซาน ซูจี ตกที่นั่งลำบากมากขึ้น เมื่อปรากฏนักธุรกิจออกมายืนยันผ่านสถานีโทรทัศน์ว่าเคยจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ราว 16 ล้านบาทระหว่างปี 2562-2563 ขณะทนายยังปิดปากเงียบ

คดีรับสินบน ของ นางอองซาน ซูจี มีพยานโผล่ 1 ราย โดยสถานีโทรทัศน์ MRTV ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลเมียนมา รายงานวานนี้ (17มี.ค.) การให้สัมภาษณ์ของนักธุรกิจชื่อดังรายหนึ่ง ที่ออกมาแฉว่า ในปี 2562 และ 2563 เขาเคย จ่ายเงินใต้โต๊ะ ราว 550,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 16 ล้านบาท) ให้นางซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนที่ถูก กองทัพยึดอำนาจ และควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

คณะรัฐประหารซึ่งเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศเมียนมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ากำลังดำเนินการไต่สวนนางซูจี ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัว ในฐานต้องสงสัย “รับสินบน” อันเป็นคดีล่าสุดที่คณะรัฐประหารเริ่มดำเนินการกับนางอองซาน ซูจี และหากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง เธอก็อาจติดคุกเป็นเวลายาวนานหลายปี

อย่างไรก็ตาม ทนายของนางซูจี ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า นี่เป็นเรื่องโจ๊กยกเมฆ ไร้หลักฐาน แต่หลังจากมีพยานโผล่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สื่อก็ยังไม่สามารถติดต่อทนายของนางซูจีเพื่อขอความเห็นได้  

เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) สถานีโทรทัศน์ MRTV ได้รายงานข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายอู หม่อง วิค (U Maung Weik) นักธุรกิจที่อ้างว่า ได้จ่ายเงินสินบนให้แก่นางซูจี โดยแบ่งจ่ายเป็น 4 งวด ตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์ ไปจนถึง 250,000 ดอลลาร์ ระหว่างปี 2562 และ 2563 โดยขณะนั้น นางซูจีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือ State Counsellor ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ทาง MRTV ว่า จากคำให้การของนาย อู หม่อง วิค นางอองซาน ซูจี มีความผิดฐานรับสินบน และขณะนี้คณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชันของเมียนมา ก็กำลังดำเนินการภายใต้กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันไต่สวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

นอกจากข้อกล่าวหารับสินบนแล้ว ก่อนหน้านี้ นางซูจียังถูกฟ้องร้องตั้งข้อหานำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมาย และละเมิดกฎระเบียบต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากถูกพิพากษาว่ามีความผิดจริง นอกเหนือจากโทษจำคุกแล้ว เธออาจถูกตัดสิทธิ์ ห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีกนาน ทั้งนี้ รัฐบาลชาติตะวันตกจำนวนมาก ได้ประกาศไม่ยอมรับการตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยระบุว่ามันน่าจะเป็นการจัดฉากเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของกองทัพและหาความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจในครั้งนี้มากกว่า

นับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. จนถึงขณะนี้ นางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ยังคงถูกควบคุมตัวในสถานที่ลับ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)ของเธอ คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย. 2563 แต่กองทัพอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง และใช้เป็นเหตุในการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน

 

ข้อมูลอ้างอิง

Myanmar state media reports more bribery allegations against ousted leader Aung San Suu Kyi

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตั้งเค้าในเมียนมา ราคาอาหาร-เชื้อเพลิงพุ่งติดจรวดหลังรัฐประหาร

กองทัพเมียนมากล่าวหา "นางอองซาน ซูจี" รับสินบนและทองคำระหว่างดำรงตำแหน่งในรัฐบาล

“อองซาน ซูจี” ปรากฏตัวครั้งแรกหลังถูกยึดอำนาจ

ไม่ต้องลุ้นปล่อยตัวแล้ว “อองซาน ซูจี” โดนตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มอีก 1 ข้อหา

"อองซาน ซูจี" ลุ้นโทษจำคุก3ปี ข้อหานำเข้าอุปกรณ์สื่อสารผิดกฎหมาย