วิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตั้งเค้าในเมียนมา ราคาอาหาร-เชื้อเพลิงพุ่งติดจรวดหลังรัฐประหาร

16 มี.ค. 2564 | 22:53 น.

โครงการอาหารโลก (World Food Programme) แห่งสหประชาชาติ ซึ่งติดตาม สถานการณ์ในเมียนมา รายงานว่า ประชาชนกำลังพบกับ ปัญหาซ้ำซ้อน จากเดิมที่ยากลำบากอยู่แล้วจาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันพวกเขากำลังเผชิญกับ ราคาอาหาร ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ทะยานสูงขึ้นในอัตราตัวเลขสองหลัก เชื่อว่าแนวโน้ม วิกฤตเศรษฐกิจ กำลังตั้งเค้าขึ้นในเมียนมาแล้ว

WFP เชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจในขั้นรุนแรงมากกำลังตั้งเค้าจะเกิดขึ้นในเมียนมา โดยมีจุดกำเนิดจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนั้นเมียนมาก็พบกับการนัดหยุดงานและการชุมนุมประท้วงรายวันต่อเนื่อง พร้อมกับการปราบปรามที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น   

จากการสำรวจของ WFP พบว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารต้นเดือนก.พ. ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มทะยานขึ้นมาแล้ว 20% ในเมืองย่างกุ้งและปริมณฑล ขณะที่ราคาข้าวในเมืองย่างกุ้งและเมืองใหญ่อื่นๆ เช่นมัณฑะเลย์ ขยับสูงขึ้นราว 4% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่บางเมืองในรัฐคะฉิ่น ราคาข้าวพุ่งขึ้นไปแล้วถึง 35%

ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศราคาขยับขึ้นแล้ว 15% นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่บางพื้นที่ห่างไกลออกไปเช่นในรัฐยะไข่ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของเมียนมา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขยับสูงถึง 33%

วิกฤตเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตั้งเค้าในเมียนมา  ราคาอาหาร-เชื้อเพลิงพุ่งติดจรวดหลังรัฐประหาร

สตีเฟ่น แอนเดอร์สัน ผู้แทนของ WFP ในเมียนมาให้ความเห็นว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปในทิศทางเช่นนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในเมียนมาก็คงจะรุนแรงมาก

เมื่อเร็วๆนี้ กองทัพเมียนประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มอีกในเมืองใหญ่ 2 แห่ง (ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์) ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงและฝ่ายเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมที่ทวีความตึงเครียดและมีการใช้อาวุธปราบปรามจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

“ประชาชนเดือดร้อนอยู่แล้วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบ ที่ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องปิดทำการชั่วคราว มีคนตกงานจำนวนมากทำให้คนที่ยากจนอยู่แล้วก็ยิ่งลำบากขึ้นไปอีกซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรค เงินที่ส่งมาจากชาวเมียนมาที่ออกไปทำงานในต่างประเทศก็มีเข้ามาน้อยลงด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเมือง  

โรงงานของกลุ่มทุนจีนในย่างกุ้งถูกเผา

จากการสำรวจของ WFP พบว่า ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเมียนมานั้น 6 ใน 10 ของครัวเรือนเมียนมา ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาบริโภค และเมื่อโรคระบาดอุบัติขึ้น ผู้คนก็ยากจนมากขึ้น ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ในทุก ๆ 5 ครัวเรือน จะมีถึง 4 ครัวเรือนในเมียนมาที่รายได้ในครอบครัวหดหายไปเกือบๆ ครึ่ง หรือเกือบ 50%

การก่อรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าใกล้ขอบเหวมากขึ้น กระแสอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารทำให้เกิดการนัดหยุดงานประท้วงหลายครั้งหลายหน ซึ่งทางกองทัพก็ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปราบปราม ส่งผลให้ผู้คนหลบภัยอยู่กับบ้านมากขึ้น ธุรกิจบริการหลัก ๆอย่างเช่น ธุรกิจธนาคารและการขนส่ง ได้รับผลกระทบเข้าไปเต็ม ๆ   

ด้วยเหตุนี้ WFP จึงได้สำรองอาหารมูลค่าประมาณ 12 ล้านดอลลาร์เอาไว้สำหรับเป็นล็อตฉุกเฉินช่วยเหลือเมียนมาในยามที่จำเป็นหากวิกฤตแวดวงธนาคารเลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่

จนกระทั่งขณะนี้ WFP ได้มอบทั้งเงินสดและอาหารให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

ด้านสมาคมเพื่อความช่วยเหลือนักโทษการเมือง หรือ AAPP ซึ่งติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมตัวและการเสียชีวิตของนักโทษ เปิดเผยว่า มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตอย่างน้อย 20 รายในวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มี.ค.)  แถลงการณ์ของ AAPP ที่เผยแพร่วานนี้ (16 มี.ค.) ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะหลังนี้ ทำให้จำนวนรวมผู้เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มมีรัฐประหารจนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 180 รายแล้ว โดยนอกจากผู้ชุมนุมแล้วยังมีประชาชนหรือพลเรือนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ที่โดนลูกหลงด้วย

AAPP ระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลางของเมียนมา และมีอย่างน้อย 3 รายที่เสียชีวิตในใจกลางย่านธุรกิจของย่างกุ้ง รวมถึงสตรี 2 รายที่เสียชีวิตในบ้านของตัวเองขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจกราดยิงบนท้องถนน ทั้งนี้ วันอาทิตย์ที่ 14 มี.ค. เป็นวันที่มียอดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันมากที่สุด คืออย่างน้อย 44 ราย ทำให้หลังจากนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกใน 6 เมือง

AAPP ยังระบุด้วยว่า ในส่วนของผู้ถูกจับกุมตัวนั้น จะถูกนำขึ้นศาลทหารมากกว่าศาลสำหรับพลเรือนทั่วไปและอาจได้รับโทษตั้งแต่การติดคุก 3 ปีไปจนถึงโทษประหารชีวิต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: