“อองซาน ซูจี” ปรากฏตัวครั้งแรกหลังถูกยึดอำนาจ

03 มี.ค. 2564 | 01:09 น.

นางอองซาน ซูจี ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกหลังถูกกองทัพควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเป็นการแสดงตัวต่อศาลผ่านทางวีดีโอออนไลน์ เนื่องจากถูกตั้ง 2 ข้อกล่าวหาใหญ่ที่หากถูกตัดสินว่าทำผิดจริงอาจถูกจำคุกได้ถึง 3 ปี

นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้นำโดยพฤตินัยของ รัฐบาลพลเรือน ที่ถูก กองทัพเมียนมายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกทหารจับกุมตัวไปพร้อมกับแกนนำรัฐบาลคนอื่น ๆ โดยเป็นการปรากฏตัวต่อศาลเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.)

สื่อต่างประเทศรายงานว่า นางซูจีปรากฏตัวต่อศาลผ่านทางวิดีโอออนไลน์จากกรุงเนปิดอว์ โดยทนายความของนางซูจี กล่าวว่า อัยการได้สั่งฟ้องเธอในสองข้อหา คือพยายามปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และมีอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาต

สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้นางซูจีถูกตั้งข้อหานำเข้าอุปกรณ์สื่อสารแบบวอล์คกี้-ทอล์คกี้ อย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านของเธอและพบอุปกรณ์ดังกล่าว 6 เครื่อง รวมทั้งข้อหาละเมิดกฎหมายรับมือภัยธรรมชาติ ด้วยการจัดการชุมนุมของผู้คนเกินจำนวนที่กำหนดระหว่างที่มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง เธออาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี

“อองซาน ซูจี” ปรากฏตัวครั้งแรกหลังถูกยึดอำนาจ

ขณะเดียวกัน การประท้วงในหลายเมืองใหญ่ของเมียนมายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แถลงการณ์ของโฆษกสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า ตลอดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 ก.พ.) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวันที่มีการนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564  ตำรวจและทหารเมียนมาได้ปะทะกับประชาชนที่ประท้วงอย่างสันติในหลายเมือง ได้แก่  ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และทวาย มีการใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และหัวฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าสลายฝูงชนทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันเดียวนั้นถึง 18 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 30 ราย

 

ราวีนา ชามดาซานี โฆษกสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ ขอให้กองทัพเมียนมายุติการกระทำดังกล่าวทันที แต่สองวันให้หลังก็ยังคงมีการชุมนุมประท้วงและกองทัพเมียนมาใช้กำลังอย่างเด็ดขาดเข้าปราบปราม จนล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังคงมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของกองทัพระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า (2565) เพื่อนำมาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นระเบียบ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด

นายทอม แอนดรูส์ ผู้เขียนรายงานพิเศษต่อสหประชาชาติ เปิดเผยแถลงการณ์เกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงและประเทศสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำมาใช้เพื่อลงโทษเมียนมา ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา และการลงโทษธุรกิจต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารของเมียนมา รวมทั้งขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเรียกประชุมเพื่อหารือในประเด็นนี้ทันที

ขณะเดียวกัน นายแอนโทนี บลิงเค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาจนนำไปสู่การนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์ พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างประชาชนเมียนมา นอกจากนี้ ทางทำเนียบขาวยังส่งสัญญาณว่าอาจจะเพิ่มมาตรการลงโทษต่อผู้รับผิดชอบต่อการสังหารประชาชนในครั้งนี้ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: