เช็ค 4 สัญญาณอันตราย "โรคลมร้อน" หรือ "ฮีทสโตรก" พร้อม 5 วิธีป้องกัน

13 เม.ย. 2565 | 10:00 น.

ในช่วงเดือนเมษายนหรือฤดูร้อน หลายจังหวัดในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงอากาศที่ร้อนจัดทำให้เสี่ยงต่อโรคลมร้อน โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก มาเช็ค 4 สัญญาณอันตราย พร้อม 5 วิธีป้องกัน

สภาพอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทยในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่มีภาวะอ้วนรวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำน้อย ออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัด  ใส่เสื้อผ้าหนาและปกปิดร่างกายมิดชิดเกินไป รวมถึงพักผ่อนน้อย

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมร้อน โรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการหรือไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้

 

4 อาการสำคัญ โรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

  1. เหงื่อไม่ออก
  2. สับสน มึนงง
  3. ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง  
  4. ตัวร้อนจัด

 

วิธีปฐมพยาบาล

  1. กรณีที่พบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวให้โทร 1669
  2. ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถ หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป้าหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคง

 

วิธีป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่แจ้งที่มีอากาศร้อนมากๆ
  2. จิบน้ำบ่อยๆ ถึงแม้ไม่กระหายก็ตาม
  3. เลือกสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี
  4. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อุณภูมิในร่างกายสูงขึ้น
  5. เด็กและคนชราคนจัดให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ที่มาข้อมูล : กรมอนามัย , โรงพยาบาลบางประกอก8