ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

15 มิ.ย. 2565 | 08:22 น.

ฮิตแห่เที่ยวเกาะขายหัวเราะตราด ทำ"ตะบัน"ต้นเดียวช้ำมือช้ำตีนกิ่งหัก-รากขาด หวั่นไม่รอด เร่งตั้งกฎจำกัดจำนวน-ปิดเกาะบางช่วง อนุรักษ์ให้ยั่งยืนเป็นจุดขายสร้างรายได้ยั่งยืน ททท.ตราดเตรียมคุยบันลือสาส์น ปั้นสตอรี่ใหม่นักเที่ยวหัวใจอนุรักษ์  

หลังจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะหมาก และอบต.เกาะหมาก ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการเกาะขายหัวเราะ หลังปรากฏเป็นข่าวว่า มีนักท่องเที่ยวเข้าไปโหน นั่ง และโน้มกิ่ง และทำให้กิ่งหัก รากถูกเหยียบจนได้รับความเสียหายนั้น 

 

นายเลิศรบ สายทองพู่ ผู้อำนวยการกองช่าง อบต.เกาะหมาก ได้นำสื่อมวลชนเดินทางจากหาดคลองสน ต.เกาะหมาก เพื่อขึ้นเรือไฟเบอร์เดินทางไปสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งที่เกาะขายหัวเราะ มีน้ำทะเลท่วมเลยโคนต้นตะบันเเล้ว เหลือเพียงรากที่โผล่ขึ้นมาเล็กน้อย 

ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

เมื่อคณะสื่อมวลชนไปถึง ได้พบสภาพของต้นตะบัน ซึ่งมีกิ่งด้านในหัก และกิ่งเล็กหลายกิ่งมีสภาพหักหายไป และรากด้านบนถูกเหยียบจนเปลือกเสียหาย เหลือเพียงเนื้อไม้อย่างเดียว ส่วนใบร่วงและมีสีเหลืองปนเขียว เมื่อตรวจสอบด้านนอกที่เป็นรากขนาดใหญ่ พบว่ารากเสียหายบางส่วน และมีรากสีแดงบางส่วนงอกขึ้นมาทดแทน รวมทั้ง ลำต้นเอนลงไปกว่าปกติที่เคยเป็นอยู่เดิม ในช่วง 2-3 ปี ก่อนจะมีการโปรโมทจนปลุกกระแสผู้คนแห่มาเที่ยว 

 

นายเลิศรบ อธิบายว่า สภาพของต้นตะบันในวันนี้ เทียบกับเมื่อ 2-3 ปีที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวรู้จักนั้น ลำต้นจะมีสภาพที่ดี กิ่งอยู่ครบ และต้นไม่เอียง รากจะสมบูรณ์ มีเปลือกหุ้ม แต่วันนี้สภาพต้นเสียหาย ทั้งด้านทิศตะวันตกที่มีสภาพกิ่งหัก และใบร่วงหล่นไปบางส่วน มีกิ่งเล็ก ๆ โดนตัดไป ยาวประมาณ 1 ศอก 

ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

บริเวณเปลือกของต้นตะบันด้านบนยังสมบูรณ์ แต่บริเวณโคนต้นไม่มีเปลือกหุ้มแล้ว แสดงว่าได้รับความเสียหายจากการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว และการขึ้นไปปีนจนกิ่งใหญ่ได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อความเเข็งแรงและความอยู่รอดของต้นตะบัน และโคนรากดำ ๆ นั้นไม่ทราบว่าตายหรือไม่ เพราะปกติรากจะเจาะลึกลงไปในหิน เพราะเวลาน้ำแห้งรากจะอยู่ในสภาพอย่างไร

 

“สภาพรากปกติจะมีเปลือกนอกหุ้ม ขณะนี้ไม่มีแล้ว เหลือเพียงเนื้อของรากเท่านั้น ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะพบว่าที่โคนต้นนั้น มีสภาพที่ทั้งเสียหาย และรากที่เริ่มงอกขึ้นมาใหม่ แสดงว่า ต้นตะบันก็เริ่มปรับตัว ซึ่งหากเรายังปล่อยให้มีการท่องเที่ยวในสภาพนี้ ต้นตะบันไม่น่าอยู่รอด จึงควรที่จะจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าชม หรือการเข้าชมเป็นฤดูกาล รวมทั้งต้องรณรงค์ให้นักท่องเที่ยว รู้จักการอนุรักษ์และดูแลแหล่งท่องเที่ยวด้วย ไม่ใช้การปีนปายเข้าไป เพราะเกาะขายหัวเราะรองรับนักท่องเที่ยวได้แค่ 5 คน เท่านั้นเมื่อขึ้นไปอยู่บนเกาะ”ผู้อำนวยการกองช่างอบต.เกาะหมากกล่าว 

 

ขณะที่นายเสวย กาญจนชาติ เจ้าของเรือนำเที่ยวชชมเกาะขายหัวเราะ บอกว่า เวลาที่นำนักท่องเที่ยวมาชมเกาะ พบว่านักท่องเที่ยวจะเข้าไปถ่ายรูปและโน้มน้าวกิ่ง ปีนขึ้นไป ซึ่งได้พยายามขอความร่วมมือแล้ว บางคนเข้าใจและปฏิบัติตาม แต่บางคนก็ไม่เข้าใจและไม่สนใจ 

ตราดเร่งป้อง"ตะบัน"เกาะขายหัวเราะ นักเที่ยวบุกหนัก"กิ่งหัก-รากขาด"

ส่วนนายดิษพงษ์ อิ่มบุญ เจ้าของเรือนำเที่ยวอีกคน กล่าวว่า วันนี้กลุ่มเรือประมงนำเที่ยวของเกาะหมาก มีรายได้จากการนำส่งนักท่องเที่ยวไปชมเกาะขายหัวเราะคนละ 200 บาท และอยากฝากนักท่องเที่ยว ขอให้ช่วยกันดูแล และปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือข้อตกลง เพื่อให้ต้นตะบันยังคงอยู่ เพื่อเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวของเกาะหมากต่อไป 

 

ด้านนายอิษฎา กล่าวว่า วันนี้ทางททท.สำนักงานตราด คงจะต้องมาทบทวน ในเรื่องของการส่งเสริมจุดขายทางการตลาดของเกาะขายหัวเราะกันใหม่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสำนึกในเรื่องการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะหารือกับสำนักพิมพ์บันลือสาส์น เพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ของต้นตะบันในเกาะขายหัวเราะ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกร่วมในการรักษาแหล่งท่องเที่ยว

 

และจะร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ในการอบรมเทรนเนอร์ เพื่อให้ชุมชนที่เข้าร่วมอบรม สร้างเรื่องราวและเล่าเรื่องของเกาะขายหัวเราะในมุมมองใหม่ ให้กับแหล่งท่องเที่ยวของเกาะหมากด้วย     

 

รวมทั้งการสร้างกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ให้นักท่องเที่ยวเป็นจิตอาสา ด้วยการปลูกประการัง และหญ้าทะเล เมื่อทำแล้วก็ให้เข้ามาสัมผัสเกาะขายหัวเราะได้ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ดี รวมทั้งขณะนี้ ทางททท.สำนักงานตราด ได้ขึ้น แฮชแทก #saveเกาะขายหัวเราะ แล้ว …