แจง กู้ 1 ล้านล้าน ไม่ทำให้หนี้สาธารณะทะลุเพดาน

08 มี.ค. 2564 | 10:38 น.

ผอ.สบน. ชี้แจง เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไม่ทำให้หนี้สาธารณะไทยทะลุเพดาน ที่ 60% ต่อจีดีพี ย้ำยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวปฏิเสธกรณีที่ หนี้สาธารณะ ไทยกำลังจะทะลุเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี นั้นไม่เป็นความจริง โดยเมื่อรวมหนี้จากพ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 หนี้สาธารณะ จะอยู่ที่ 56% ต่อจีดีพี  

 

ทั้งนี้กรอบเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อจีดีพี เป็นกรอบที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังภาครัฐ กำหนดขึ้นในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงภาวะปกติ แต่ปัจจุบันเกิดวิกฤติและรัฐจำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้การก่อหนี้ไต่ระดับขึ้นไป จนอาจใกล้ 60% แต่ถือว่า ไม่น่าห่วง เพราะเงินที่กู้มาถูกใส่เข้าไปในระบบ ซึ่งทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น และเมื่อไปหารกับตัวเลขหนี้สาธารณะจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลง

 

แพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สบน.

 

“อยากสร้างความเข้าใจว่า หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง มีการบริหารอย่างรอบคอบและมีวินัยการคลังในระดับสูงมาก สิ่งที่ สบน. มั่นใจ คือหาเงินให้รัฐบาลให้ครบ ในต้นทุนที่เหมาะสม มีการกระจายความเสี่ยง ไม่อยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไป ไม่อยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดมากเกินไป และไม่ไปแย่งเงินกับเอกชน” ผอ.สบน.กล่าว

 

ผอ.สบน.กล่าวต่อว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกมีการกู้เงินสูงมาก ล่าสุดสหรัฐฯ กู้เพิ่มอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ดังนั้นหนี้สาธารณะของทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  ขณะที่กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่อย่างเอเชีย เฉลี่ยหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60%ต่อจีดีพี แต่ปีนี้กระโดดขึ้นไปอยู่ที่เฉลี่ย 67%ต่อจีดีพี ซึ่งขณะนี้ดอกเบี้ย เริ่มขยับขึ้น ทุกประเทศเริ่มหันกลับมาดูความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากมีการก่อหนี้จำนวนมาก แต่ไทยทำอย่างอนุรักษ์นิยมและอย่างรอบคอบ ไทยไม่ได้ปั๊มเงินเข้าระบบ

 

เพราะฉะนั้นการก่อหนี้ของรัฐบาลเป็นการก่อหนี้อย่างรอบคอบและมีวินัยมาก  นอกจากนี้ไทยยังมีเครดิตที่ดี สะท้อนจากการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง แม้ไทยจะถูกปรับมุมมองลงจากที่เคยบวกมาอยู่ที่ระดับคงที่ แต่ยังไม่ถูกปรับอันดับลดลง เพราะไทยยังบริหารหนี้ได้ค่อนข้างดี  และมีการบริหารการคลังอย่างมีวินัยมาก  

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.9%  (ไม่รวมหนี้จาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท)  ต่อจีดีพี ซึ่งรวมถึงหนี้ที่ก่อขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ที่ก่อขึ้นเอง และหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐในการดำเนินมาตรการต่างๆ  ดังนั้นหนี้ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจะมีเพียง 6.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของหนี้สาธารณะของประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: