จากไทยเข้มแข็ง เงินกู้ 4 แสนล้าน เชื้อชั่วทุจริตไม่ยอมตาย

17 มิ.ย. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3584 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 มิ.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

จากไทยเข้มแข็ง

กู้ 4 แสนล้าน

เชื้อชั่วทุจริตไม่ยอมตาย!

 

          ถึงตอนนี้โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท กำลังกลายเป็นขนมหวานของบรรดาเสือหิว เสือโหย ที่พร้อมฉกงบประมาณที่รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ติดหล่มพิษโควิด-19 ชนิดที่มิอาจปฏิเสธได้

          จำนวนของโครงการขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่มีการยื่นคำขอแล้วกว่า 34,263 โครงการ รวมวงเงิน 841,269 ล้านบาท

          มากกว่าเงินกู้ 2 เท่ากว่า คือสัญญาณบ่งบอกความต้องการของเสือหิว

โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

          ลงลึกไปในรายละเอียดจะพบว่า ในแผนงานการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยกระดับการค้า การผลิต ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า ลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ มีการขอไว้ 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท

          แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้มีการของบกันมากถึง 33,798 โครงการ วงเงิน 465,023 ล้านบาท

          แผนงาน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนกระบวนการผลิตมีการเสนอโครงการใช้เงิน 301 โครงการ 91,942 ล้านบาท

โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท

          ขณะที่แผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ยังไม่มีการยื่นขอ แต่กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยกำลังจัดทำคำขอ

          เป็นการจัดทำคำขอท่ามกลางปรากฎการณ์ที่ ส.ส.-นักการเมืองโต ผู้มากบารมี เรียกประชุมส.ส.ให้มีการเขียนโครงการแล้วจะได้นำไปพักไว้ตามกระทรวง ตามจังหวัด ตามหน่วยงานราชการ

          ใครเขียนโครงการไม่เป็น มารับเงินไป 1-2 ล้านบาท แต่จะไม่ได้สิทธิ์จัดทำโครงการลงพื้นที่ ใครเขียนเป็นแต่อยากได้เงินสดมีนายหน้าขาใหญ่ที่เป็นส.ส.พร้อมจัดให้ 3-5 ล้านบาท จ่ายครึ่งหนึ่งก่อน เมื่อโครงการผ่านค่อยมารับเงินที่เหลือ เพื่อที่นายหน้าขาใหญ่จะได้นำโครงการที่ใช้งบประมาณยิบย่อยไปทำมาหากินและฟันส่วนแบ่ง 25-30%

          เรื่องแบบนี้อย่ามาบอกชาวบ้านว่าไม่เป็นความจริง เพราะส.ส.กทม. ส.ส.หน้าใหม่ ต่างได้ยินมากับหูได้ดูมากับตา และขอบอกว่า ไม่มีมูลหมาไม่ขี้!

          เรื่องแบบนี้ ลุงตู่-ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คุณอุตตม สาวนายน รมว.คลัง คุณอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณะสุข คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ จะต้องเงียหูฟัง เพราะท่านทั้งหลาย คือผู้ร่วมชะตากรรมกู้ยืมเงินมาใช้ฟื้นเศรษฐกิจ

          หาไม่แล้วการทุจริตจะกระจายตัวไปทุกหย่อมหญ้า...

          ความจริงแล้วโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านมาใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีหลักคิดหลักการเดียวกับโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ดำเนินการ 3 ปี (2553-2555) โดยใช้งบมาจาก 3 ส่วนได้แก่ งบประมาณปี 2553 จำนวน 613,855 ล้านบาท เงินกู้จากพ.ร.ก. 4 แสนล้านบาท และรายได้อื่นๆ 260,768 ล้านบาท จึงทำให้งบก้อนนี้เป็นงบก้อนใหญ่มหึมาและผูกพันยาวถึง 3 ปี

          ถ้าพิจารณารายละเอียดตาม “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จะพบว่า งบประมาณแต่ละโครงการกระจายตัวไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมากถึง 25% ของงบประมาณทั้งหมด

          ครั้งนั้น “พรรคประชาธิปัตย์” หลังจากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ตั้งงบกลางมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจยกแรก “1.167 แสนล้านบาท” ในงบประมาณปี 2552 งบก้อนนี้อยู่ในการบริหารจัดการของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนใหญ่ 7.4 หมื่นล้านบาท มาจัดทำโครงการช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 2,000 บาท ใช้งบไป 2,652 ล้านบาท

          โครงการค่าใช้จ่ายเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนใช้เงินไป 6,900 ล้านบาท โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทต่อผู้ประกันตน จำนวน 8,138,815 คน

          โครงการเรียนฟรี 15 ปี ใช้งบประมาณ 2.46 หมื่นล้านบาท โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน 15,200 ล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยให้กับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน 1,808 ล้านบาท โครงการปรับปรุงสถานีอนามัย 1,095 ล้านบาท

โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท

          พรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์นั้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เงินก้อนนี้นำไปใช้ในโครงการสำคัญได้แก่ โครงการจัดสร้างทางในหมู่บ้านของกรมทางหลวงชนบท 490 กิโลเมตร 1,500 ล้านบาท

          กระทรวงมหาดไทยได้รับงบ 12,552 ล้านบาท ใช้จัดทำโครงการสร้างหลักประกันรายได้ 9,000 ล้านบาท เบี้ยผู้สูงอายุคนละ 500 บาท

          โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ได้รับงบ 552 ล้านบาท นำให้กับโรงเรียนในกำกับของอปท. 1,036 แห่ง

          โครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในท้องถิ่น 3,000 ล้านบาท และกรมการค้าภายในได้รับจัดสรร 1,000 ล้านบาท นำมาทำกิจกรรมธงฟ้า

          ไม่กี่เดือนที่เริ่มโครงการ “วิทยา แก้วภราดรัย” รมว.สาธารณสุข และ “มานิตย์ นพอมรบดี” รมช.สาธารณสุข ก็กลายเป็น 2 รัฐมนตรี ที่ถูก “คณะกรรมการสอบสวนโครงการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข” ตรวจสอบแล้วระบุว่าการใช้งบในเรื่องสาธารณะสุข 86,000 ล้านบาท มี “เจตนาไม่สุจริต” ต่อมา “วิทยา” ที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริตแต่อย่างใด แสดงสปิริตของนักการเมืองต้องออกจากตำแหน่ง

          ขณะที่ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นอีกคนหนึ่งที่เจอมรสุม จากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนที่ใช้งบสูงถึง 20,000 ล้านบาท จนอยู่ไม่ได้

          ตลอดยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก ในระยะเวลาไม่กี่ปี กลับถูกครหาเรื่องการทุจริตมากมาย 

          “โครงการไทยเข้มแข็ง” ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาตามเป้าหมายอย่างน่าสนจน จนโลกต้องยกย่องว่าไทยสามารถฟันผ่าภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจไปได้ด้วยอัตราการขยายตัวทะลุ 4.7%

          การทำโครงการส่วนใหญ่ จะเป็นโครงการ “ขนาดกลาง” และ “ขนาดเล็ก” แต่ดันมีมือดีที่ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองตัวเป้ง ฝีมือฉกาจกระจายงบลงไปในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ

          โชคดีโครงการเล็กโครงการน้อยในพื้นที่ต่างๆ ถูกตรวจสอบโดยประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างหนัก ภาคประชาชนทำงานอย่างเข้มแข็งและมีการแฉออกมาว่า  หลายโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีตัวเลขทุจริตสูงถึง 20-30%

          ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์ นักข่าวสายกระทรวงการคลังและทำเนียบรัฐบาล ได้ทำการเกาะติดการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งจำนวนแค่ 230 โครงการ วงเงิน 199,960 ล้านบาท พบว่ามีการทุจริตสูงถึง 49,990 ล้านบาท

          เราตรวจสอบโฟกัสลงไปที่กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะงบบำรุงรักษาทางหลวงที่ได้งบไป 44,865 ล้านบาท เฉพาะงบพัฒนาทางหลวง 9,100 ล้านบาท งานอำนวยความปลอดภัย 12,870 ล้านบาท พบว่ามีเบี้ยใบ้รายทางมากมาย

          ยิ่งเมื่อตรวจสอบโครงการถนนไร้ฝุ่น ปรากฎว่าเกิดการทุจริตได้ง่าย และผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับ ส.ส.กับผู้รับเหมา

          ตอนนั้นผมจำได้ว่าได้ร่วมกับภาคีภาคประชาชนตรวจสอบพบว่า ถ้าทุจริต 20% จะทำให้เกิดความเสียหาย 39,999 ล้านบาท และถ้าเกิดการทุจริตเรียกเงินกันแค่ 25% จะมีความเสียหายเกิดขึ้นถึง 49,990 ล้านบาท

          การทุจริตจึงกลายเป็น “จุดบอด” ของ “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” ทั้งๆ ที่เม็ดเงินก้อนนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมาจากหุบเหว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกกลบไปด้วยการทุจริตของโครงการยุบย่อยและถนนไร้ฝุ่น ทุจริตจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ฯลฯ ของดีกลายเป็นของดำไปในพริบตา

          เรียนรู้อดีตจะเห็นภาพปัจจุบัน!