การบินไทยชงแผนเพิ่มทุน1.9แสนล.ก่อหนี้5หมื่นล้าน

15 พ.ค. 2564 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2564 | 09:20 น.

เปิด15 ฉบับเแผนแก้ไขแผนฟื้นฟูการบินไทย หลังเจ้าหนี้สหกรณ์ 20 แห่ง ขอเลื่อนโหวต อ้างต้องใช้เวลาศึกษาแผนแก้ไขใหม่ “การบินไทย” ขอลดทุนเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ก่อนเพิ่มทุนใหม่อีก 196,449.74 ล้านบาท จัดสรรให้คลัง เจ้าหนี้สถาบันการเงิน แปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงก่อหนี้ใหม่5หมื่นล้าน

การประชุมเจ้าหนี้การบินไทย จะมีขึ้นอีกรอบ 19 พฤษภาคมนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากในการประชุมเมื่อ 12 พฤษภาคม เจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์กว่า 20 แห่ง มูลหนี้รวมกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 24.4% จากจำนวนหนี้ที่เข้าร่วมประชุม 1.32 แสนล้านบาท ลงมติขอเลื่อนการโหวตแผนออกไป

โดยให้เหตุผลว่า มีแผนขอแก้ไขถึง 15 ฉบับ ต้องใช้เวลาในการพิจารณาแผนแก้ไขดังกล่าว ซึ่งนอกจากต้องพิจารณาแผนฟื้นฟูของการบินไทย ซึ่งเป็นลูกหนี้เสนอขอแก้ไขแผนใหม่แล้ว ยังมีเจ้าหนี้อีก 14 รายยื่นเสนอแผนแก้ไขด้วยเช่นกัน ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สรุปแผนทั้ง 15 ฉบับที่มีการแก้ไขมานำเสนอ

เริ่มจาก “การบินไทย” ได้แก้ไขแผนฟื้นฟู หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายหลักและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยเจ้าหนี้ต่างเห็นตรงกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้เชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู

รวมถึงใส่เม็ดเงินใหม่ได้คือ การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้หลังจาก 60 วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผน การบินไทยจะปรับโครงสร้างทุน โดยลดทุนจดทะเบียนจาก 26,989.01 ล้านบาทเหลือ 21,827.72 ล้านบาท ด้วยการตัดหุ้นที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516.13 ล้านหุ้น จากนั้นจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 218,277.19 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 19,644.95 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท รวมมูลค่า 196,449.47 ล้านบาท

โดยจะจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้นให้เจ้าหนี้กระทรวงการคลังและหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เกิน 9,822.47 ล้านหุ้น ให้เจ้าหนี้สินเชื่อใหม่ภาคเอกชน (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน)และหรือผู้รับโอนสิทธิในการซื้อหุ้นในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

แนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจจำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นสินเชื่อใหม่ทั้งหมด มาจาก 2 ส่วนคือ 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ ที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนได้ร่วมกันจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินให้กู้ยืม และ/หรือ การคํ้าประกัน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐ หรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากการสนับสนุนจากเอกชนและเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งมีเวลาชำระคืนสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 6 ปี เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่ปีที่ 3 นับจากวันที่เริ่มเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ภาครัฐหรือบุคคลใดๆที่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทยในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท

ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่จำนวน 5 คน เพื่อมาดูแลและติดตามการทำงานของผู้บริหารแผนฟื้นฟูด้วย

 

ทอท.ขอพรบ.ร่วมทุน

สำหรับข้อเสนอแก้ไขแผนของเจ้าหนี้อย่างบริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ขอให้เพิ่มข้อความว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ขั้นตอนและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชน พ.ศ.2562 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งอัตราค่าบริการต้องเท่าเทียมกับสายการบินอื่นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น ขอให้ทยอยชำระหนี้เงินต้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ 2

แผนฟื้นฟูการบินไทย

ขอลดทุนเหลือ1สตางค์

ขณะที่เจ้าหนี้หุ้นกู้อย่าง “ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้เสนอ 3 เรื่องหลักคือ 1.ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก 3 ปี ส่วนที่เดิมจะได้รับในปีสุดท้ายของหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน ขอให้มีการแปลงแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน มูลค่าหุ้นละ 10 บาทและกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่หุ้นละ 2.50 บาท 2.ขอให้ลดทุนจดทะเบียนเหลือหุ้นละ 1สตางค์หรือมีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 218,277,191.70 บาท และ 3. ขอให้มีการแยกหน่วยธุรกิจต่างๆของการบินไทยมาตั้งเป็นบริษัทย่อยตามความเหมาะสม

รวมถึงขอให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการพิจารณาและดำเนินการรวมธุรกิจ รวมถึงการควบรวมกิจการกับบริษัทย่อยอื่นๆรวมถึงบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด โดยพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่าความจำเป็น

ด้าน “ธนาคารออมสิน”ระบุว่า กรณีที่หนี้รายใดถึงกำหนดชำระตามแผน แต่คำขอรับชำระหนี้ ยังมีข้อโต้แย้งและยังไม่มีคำสั่งถึงที่สิ้นสุดให้ได้รับชำระหนี้ ให้ผู้บริหารแผนกันเงินสำรองไว้ตามจำนวนหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลและให้ชำระเมื่อได้รับคำสั่งถึงที่สุด

ธนาคารกรุงเทพ”เสนอแก้ไขรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ กรรมการธนาคารกรุงเทพ และนายไกรสร บารมีอวยชัย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.”ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้เกี่ยวกับสัญญาคํ้าประกันหนี้ของลูกค้าและค่าเสียหายจากการที่ลูกหนี้ผิดสัญญาซื้อขายไมล์สะสม ได้ขอให้ผู้บริหารแผนเห็นว่ามูลหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ไมใช่หนี้เงินอันจะขอรับชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่เป็นหนี้กระทำการที่การบินไทยมีภาระให้ใช้ไมล์สะสมแลกสินค้าหรือบริการ

โดยผู้ถือไมล์สะสมยังสามารถใช้สิทธิแลกไมล์สะสมเพื่อแลกสินค้าหรือบริการได้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโปรแกรมรอยัลออร์คิดพลัส 

ขณะที่กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นของหนี้ค่าภาษีอากร ดอกเบี้ย เบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายต่างๆที่คงค้างชำระในปีแรกของการฟื้นฟูกิจการจนครบ 100% ของยอดหนี้ ขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในปีแรกนับแต่มีการผิดเงื่อนไขบัตรส่งเสริมการลงทุนหรือผิดสัญญาตามประกาศของกรมศุลกากรจนครบ100%  

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวเกี่ยวข้อง: