ล็อบบี้เดือดผ่านแผนฟื้นฟู "การบินไทย" เจ้าหนี้‘วัดใจรัฐ’โหวตก่อนแก้ทีหลัง

12 พ.ค. 2564 | 01:30 น.

กลุ่มเจ้าหนี้ ล็อบบี้กันหนักผ่านแผนฟื้นฟูการบินไทยนาทีสุดท้าย ขอโหวตผ่านก่อนแก้ไขภายหลัง จากเดิมขอเลื่อนโหวต 2 สัปดาห์ เผยเจ้าหนี้เสนอแก้ 15 แผน ผู้บริหารหวังได้เม็ดเงินก้อนใหม่ 50,000 ล้านจากเจ้าหนี้และรัฐต่อลมหายใจ

การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ ท่ามกลางการเฝ้ารอของเจ้าหนี้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับสถานะของการบินไทย โดยเจ้าหนี้ต้องการให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง แต่มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า กระทรวงการคลังไม่ได้บรรจุวาระเรื่องการบินไทยเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมแต่อย่างใด

เนื่องจากประเมินแล้ว ต้องการให้มีการลงมติ (โหวต) รับแผนพื้นฟูไปก่อน จากนั้นกระทรวงการคลังจะมาเจรจาเรื่องวิธีการหาแหล่งเงินให้การบินไทยอีกครั้ง โดยจะให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ให้ส่วนหนึ่ง ทำให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท3 เพื่อคํ้าประกันเงินกู้ให้สถาบันการเงินเอกชนที่จะปล่อยกู้อีกส่วนหนึ่ง

“ที่ผ่านมาผู้บริหารแผนและกระทรวงการคลังเองได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชนนอกรอบมาเป็นระยะๆอยู่แล้ว”แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบกล่าว

เจ้าหนี้หุ้นกู้โหวตรับแผน

แหล่งข่าวจากสหกรณ์ออมทรัพย์เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ของการบินไทย รวมมูลหนี้กว่า 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นกว่า 40% ของจำนวนหนี้ 1.85 แสนล้านบาทได้หารือกันแล้วว่า ในการประชุมเจ้าหนี้การบินไทยในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ จะโหวตรับแผนฟื้นฟูฯการบินไทยไปก่อน โดยจะโหวตรับแผน 2 ส่วนคือแผนของการบินไทย และแผนของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เสนอเข้าไป จากเดิมที่เคยจะขอให้มีการเลื่อนการลงมติในแผนฟื้นฟูออกไปก่อนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากที่มีเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน เจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมถึงการบินไทยเองได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ทำให้มีแผนที่ขอแก้ไขรวมกว่า 15 แผน 

“ก่อนหน้าที่มีการหารือว่า จะสามารถเลื่อนลงมติโหวตแผนได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้เสนอให้เลื่อนลงมติจะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะมีมติยอมให้เลื่อนหรือไม่ ถ้าเลื่อนไม่ได้ก็ควรจะลงมติโหวตแผนฟื้นฟูหลักให้ผ่านก่อน จากนั้นจึงนำแผนที่มีการแก้ไขทั้ง 15 แผนมาหารือร่วมกันก็สามารถทำได้ ส่วนการยื่นแก้ไขแผนของสหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้ คือการขอให้การบินไทยแยกหน่วยธุรกิจต่างๆออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกเพื่อสร้างความชัดเจนในการหารายได้ของบริษัท”นายไพบูลย์กล่าว

การบินไทยขอแก้แผน

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากเจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูการบินไทย ก็จะมีโอกาสที่จะมีการหารือกันต่อไปในเรื่องของการให้เจ้าหนี้ใส่เงินเข้ามา หากบริษัทมีสินทรัพย์คํ้าประกันและแผนธุรกิจที่เจ้าหนี้เชื่อว่า ยังมีอนาคต ซึ่งล่าสุดคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทยได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม หลังจากได้หารือกับเจ้าหนี้เอกชนและภาครัฐแล้ว

การแก้ไขแผนฟื้นฟูล่าสุดได้ปรับปรุงเกี่ยวกับเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามา รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งหลักๆจะเป็นการขยายความเรื่องของการใส่แหล่งเงินใหม่ในการบินไทย ภายใต้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยได้ระบุว่า เจ้าหนี้สถาบันการเงินจะใส่เงินเข้ามา 2.5 หมื่นล้านบาท ส่วนรัฐจะใส่เงินเข้ามาอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ที่จะมาโดยการเพิ่มทุน หรือการคํ้าประกันเงินกู้ ขึ้นกับการพิจารณาของรัฐบาล

ทั้งนี้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทจะเป็นการลงเงินในครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในแผนฟื้นฟูครั้งนี้ และเป็นการกู้ตามวงเงินที่ต้องการใช้เงินจริง โดยในช่วง 2-3 ปีแรก การบินไทยมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาเป็นสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจการบินต่อ ส่วนในปีที่ 3-5 พอมีกำไร ก็ไม่ต้องใช้เงินกู้ เนื่องจากในปี 2564 การบินไทยจะยังขาดทุนอยู่ และจะมีรายจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงานราว 15,120 ล้านบาท และจะเริ่มมีกำไรในปี 2566

นอกจากนั้น ยังมีการแก้ไขแผนฟื้นฟู โดยเพิ่มกรรมการสินเชื่อใหม่ขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งรัฐและเอกชนที่ลงเงินใหม่เข้ามา มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้เงินและรับรู้การบริหารงานด้วย เพิ่มเติมจากผู้บริหารแผนฟื้นฟู และคณะกรรมการเจ้าหนี้ 7-9 คน และยังมีการยืดการชำระหนี้หุ้นกู้เดิม โดยบวกไปอีก 2 ปี จากที่จะครบกำหนด 6 ปีเป็น 8 ปี  

รวมไปถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแผนฟื้นฟูใหม่ โดยการบินไทยเสนอนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ออกไปมาเป็นนายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลังแทน ขณะเดียวกันในส่วนของธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)ที่ได้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู ก็ยื่นข้อเสนอขอให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและนายไกรสร บารมีอวยชัย อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้ามาร่วมเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทยด้วย

การประชุมเจ้าหนี้การบินไทย

ประชุมe-meeting

สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เปลี่ยนวิธีการประชุมเจ้าหนี้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting) โดยเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งครบกำหนดการยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนพบว่า มีคำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการทั้งหมด15 ราย เช่นผู้ทำแผน สถาบันการเงิน ธนาคารออมสิน หน่วยงานของรัฐ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ บริษัท การท่าอากาศยาน จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. โดยในจำนวนนี้เจ้าหนี้กลุ่มเช่าเครื่องบิน 2 รายและกลุ่มเช่าซื้อเครื่องบินรวมอยู่ด้วย

“เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ อยากจะช่วยให้การบินไทยอยู่ต่อ เพราะมองว่า ถ้าสามารถฟื้นฟูกิจการได้ ทางเจ้าหนี้ก็มีโอกาสจะได้รับชำระหนี้คืนด้วย แต่ตอนนี้สถานการณ์ยังแกว่ง โดยเฉพาะความชัดเจนจากทางการคือ ถ้าเจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูในวันที่ 12 พฤษภาคมแล้ว หลังจากนั้น จะเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนได้ เช่น เรื่องการใส่เงินหมุนเวียน น่าจะมีความคล่องตัวขึ้น เพราะอย่างน้อยมีรัฐเข้ามาร่วมด้วย” แหล่งข่าวกล่าว 

 

ข้อดีรัฐวิสาหกิจประเภท(3)

ความพยายามของกระทรวงการคลังที่จะดึงให้บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท 3 เพื่อให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติสามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามแผน เพราะการที่มีกระทรวงคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเจ้าหนี้ของการบินไทยด้วย 

หลายคนตั้งคำถามว่า รัฐวิสาหกิจ ประเภท 3 คืออะไร จะทำให้เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูนฯ ของการบินไทยมั่นใจได้อย่างไร 

กฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) จะมี 2 ฉบับคือพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ

พ.ร.บ.การกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ให้ความหมาย “รัฐวิสาหกิจ” ว่า 

(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจท่ีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

(2) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทรวงการคลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่า 50%

ขณะที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ให้ความหมาาย “รัฐวิสาหกิจ” ว่า

(1) องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ 

(2) บริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

(3) บริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกิน 50%

ดังนั้นข้อเสนอของการบินไทยคือ ให้รัฐวิสาหกิจ (2) เช่น ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์(ธพส.) หรือ ปตท. หรือ หน่วยงานอื่นตาม(2) เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกนิดนึง เพื่อให้เข้า (3) เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้น ในการบินไทย 47.86% และออมสิน ถือหุ้นอีก 2.13% รวมเป็น 49.99% ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท (3) 

สำหรับข้อดีและจุดแข็งของการให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภท (3) คือ

ประเด็นที่ 1 ทำให้การบินไทยมีความคล่องตัวในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการและดำเนินการต่างๆ เนื่องจากการบินไทยจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายที่สำคัญบางฉบับเท่านั้น ได้แก่

1.พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณและพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งทำให้การบินไทยสามารถได้รับการสนับสนุนงบประมาณ การเพิ่มทุน วงเงินกู้ หรือเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้จากรัฐได้ อันเป็นการสร้างหลักประกันและความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อหรือเข้าทำสัญญากับการบินไทยเป็นอย่างยิ่ง

2.พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ซึ่งทำให้การบินไทยสามารถเข้าร่วมเป็นคู่สัญญากับภาครัฐได้ทันที โดยไม่ต้องดำเนินการตาม พรบ.ร่วมลงทุนฯ ซึ่งกระบวนการการร่วมลงทุนในแต่ละกิจกรรมต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นการเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น การศึกษาโครงการหรือการวางหลักประกันสัญญา

ประเด็นที่ 2 คือ ทำให้การบินไทยไม่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายบางฉบับที่ทำให้ปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องเดิมของการบินไทยที่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหายไป เช่น พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งทำให้การบินไทยสามารถกำหนดแผนงาน งบประมาณ และการดำเนินโครงการต่างๆ ได้เองมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องยึดตามพรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทำให้การบินไทยสามารถกำหนดและคัดเลือกกรรมการผู้บริหาร และพนักงานได้ตรงตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมการบินได้มากยิ่งขึ้น 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: