เปิดแผน14 เจ้าหนี้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู "การบินไทย"

14 พ.ค. 2564 | 00:00 น.

เปิดแผน14 เจ้าหนี้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู "การบินไทย"สหกรณ์ออมทรัพย์ขอแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุน ทอท.ขอเพิ่มเงื่อนไขพรบ.ร่วมทุน กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต ขอให้ชำระหนี้ในปีแรกของแผน

การจัดประชุมเจ้าหนี้การบินไทยอีกรอบในวันที่ 19พฤษภาคมนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากเจ้าหนี้ต้องพิจารณาแผนฟื้นฟูของบินไทยซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีการเสนอขอแก้ไขแผนใหม่แล้ว

ขณะเดียวกันยังมีเจ้าหนี้14 รายยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูการบินไทยด้วยเช่นกัน 

เปิดแผน14 เจ้าหนี้ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู "การบินไทย"

“ฐานเศรษฐกิจ”ได้สรุปแผนที่แต่ละเจ้าหนี้มีการแก้ไขมานำเสนอ         

1. เจ้าหนี้กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต  ยื่นขอแก้ไขประเด็นการชำระหนี้ภาษีอากร ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ รวม 228 ล้านบาท จากที่แผนกำหนดเริ่มชำระในปีที่ 3 ของครึ่งหลัง 25% ทยอยไปจนครบ 100% ในปีที่ 5 

โดยขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นของหนี้ค่าภาษีอากร ดอกเบี้ย เบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายต่างๆที่คงค้างชำระในปีแรกของการฟื้นฟูกิจการจนครบ100%ของยอดหนี้ 

รวมถึงขอให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในปีแรกนับถ้าการบินไทยการผิดเงื่อนไขบัตรส่งเสริมการลงทุนตามคำขอชำระหนี้จำนวน 20,161 ล้านบาทหรือผิดสัญญาตามประกาศของกรมศุลกากรจนครบ100% 

2. ธนาคารออมสิน  ขอแก้ไขแผนโดยระบุว่าในกรณีที่หนี้รายใดถึงกำหนดชำระตามแผน แต่คำขอรับชำระหนี้ยังมีข้อโต้แย้งและยังไม่มีคำสั่งถึงที่สิ้นสุดให้ได้รับชำระหนี้ ให้ผู้บริหารแผนกันเงินสำรองไว้ตามจำนวนหนี้ตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล และให้ชำระเมื่อได้รับคำสั่งถึงที่สุด 

3. สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ
ขอให้หนี้ที่ยังคงเหลือในปีที่ 5 ของแผน มีหลักประกันที่ใช้เป็นประกันในช่วงที่ระดมเงิน 50,000 ล้านบาท สาเหตุจากเจ้าหนี้กลุ่มหุ้นกู้และกลุ่มที่ได้รับชำระเงินช้ากว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากแผนที่ยืดเวลาเกินกว่า5ปี ทั้งยังขอให้ปรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ หลังจากปีที่ 9 ของแผนจาก 1.5% เป็น 4 % และให้การบินไทยไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดได้ 

4. บริษัท เบย์ คอมพิวติ้ง จำกัด  ขอแก้ไขการชำระหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 (เจ้าหนี้การค้า) จากที่จะเริ่มชำระในปี 3 จนครบในปีที่ 7 เป็นให้ชำระให้ครบภายใน 6 เดือน นับจากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ

5.บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน)  ระบุว่าแผนฟื้นฟูยังมีข้อมูลไม่เพียงพอและมีข้อบกพร่องหลายประกาศที่ต้องได้รับการแก้ไข อาทิ แผนการปฎิรูปธุรกิจแบบเต็มรูปโดยขอให้เพิ่มข้อความว่าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ขั้นตอนและกรอบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง 

ได้แก่ พรบ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐ-เอกชนปี62 พรบ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ.60 ซึ่งอัตราค่าบริการต้องเท่าเทียมแก่สายการบินอื่นๆโดยไม่ข้อยกเว้น ขอให้ทยอยชำระหนี้เงินต้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่2 ถึงปีที่4 จากเดิมเริ่มชำระปีที่ 3-5 

6. บริษัท เอเอส แอร์ลีส 82 (ไอร์แลนด์)  เจ้าหนี้ผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ยื่นคำร้องขอปรับแก้เงื่อนไขการชำระหนี้ และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์ที่เป็นหลักประกัน

7. บริษัท โบว์ โซว์เลย์ ลิมิเตด พาร์ทเนอร์ชิพ  เจ้าหนี้ผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน ยื่นคำร้องแก้ไขเรื่องเงื่อนไขการชำระหนี้ และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์

8. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศ ไทย เจ้าหนี้หุ้นกู้ ยื่นแก้ไขใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

  •  ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพัก3ปี  ที่เดิมจะได้รับในปีสุดท้ายของหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน ขอให้มีการแปลงแปลงดอกเบี้ยเป็นทุน มูลค่าหุ้นละ10บาท และกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุนที่ราคาหุ้นละ2.50บาท
  •  ขอให้ลดทุนจดทะเบียนเหลือหุ้นละ1สตางค์ หรือมีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 218,277,191.70 บาท 
  • ขอให้มีการแยกหน่วยธุรกิจต่างๆของการบินไทยมาตั้งเป็นบริษัทย่อยตามความเหมาะสม โดยต้องมีความชัดเจนภายใน 1 ปีหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟู เป็นต้น

รวมถึงขอให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการพิจารณาและดำเนินการรวมธุรกิจ รวมถึงการควบรวมกิจการกับบริษัทย่อยอื่นๆรวมถึงบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด โดยพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่าความจำเป็น

9. บริษัท จีอี เอ็นจิน เซอร์วิสเซส  ผู้ผลิตและผู้ให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้และการส่งมอบคืนเครื่องยนต์ที่เป็นหลักประกันที่เจ้าหนี้ยึดไว้

10. บริษัท คีรีรัฐ นิคม ฮายร์ เพอเชส ลิมิเต็ด  เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เป็นเจ้าหนี้ภาระผูกพันจากการเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน โดยผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู หรือยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอชำระหนี้ตามกฎหมาย 

ทางเจ้าหนี้จึงยื่นคำร้องว่าวิธีการและหลักเกณฑ์ขัดกับ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 และขอปรับแก้เงื่อนไขการชำระหนี้

11.บริษัท บีโอซี เอวิเอชั่น ลิมิเต็ด  เจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 ผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟู หรือยังไม่เกิดขึ้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอชำระหนี้ตามกฎหมาย ได้ยื่นขอปรับแก้เงื่อนไขการรับชำระหนี้

12. บริษัท ธาราราช เอสเอเอส  และ มิโฮส เอสเอเอส ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เช่าเครื่องบิน ยื่นขอแก้ไขประเด็นเรื่องการยกเลิกสัญญาเช่าเครื่องบิน

13. ซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้เกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกค้าและค่าเสียหายจากการที่ลูกหนี้ผิดสัญญาซื้อขายไมล์สะสม ได้ขอให้ผู้บริหารแผนเห็นว่ามูลหนี้ของเจ้าหนี้ในกลุ่มนี้ไมใช่หนี้เงินอันจะขอรับชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย แต่เป็นหนี้กระทำการที่การบินไทยมีภาระให้ใช้ไมล์สะสมแลกสินค้าหรือบริการ

โดยผู้ถือไมล์สะสมยังสามารถใช้สิทธิแลกไมล์สะสมเพื่อแลกสินค้าหรือบริการได้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของโปรแกรมรอยัลออร์คิดพลัส

ทั้งขอให้การบินไทยขยายเวลาการใช้ไมล์สะสมให้แก่สมาชิกไมล์สะสมหรือคู่ค้าที่ไมล์สะสมจะหมดอายุในปี 2564 หรือก่อนหน้านั้น ออกไปถึงสิ้นปี 2566 และหากการบิน ไทยไม่สามารถกลับมาทำการบินระหว่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้บริหารแผนขยายเวลาการใช้ไมล์สะสมออกไปอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี

14. ธนาคารกรุงเทพ  เสนอแก้ไขรายชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูเป็นนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุลนายศิริ จิระพงษ์พันธ์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกรรมการธนาคารกรุงเทพ และนายไกรสร บารมีอวยชัย อดีตอธิบดีกรมบังคับคดีและที่ปรึกษาด้านกฎหมายธนาคารกรุงเทพ

ส่วนการยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูของการบินไทย  ระบุถึงเหตุผลการขอแก้ไขว่า หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลัก ทั้งเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน เห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้

นั่นคือการที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประ โยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ข่าวเกี่ยวข้อง: