เทียบฟอร์ม "เราเที่ยวด้วยกัน" สู่ "เที่ยวไทยวัยเก๋า"ดันเที่ยวไทย

12 ธ.ค. 2563 | 03:45 น.

“เราเที่ยวด้วยกัน” รวมถึง “กำลังใจ” ที่ล่าสุดมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ ยังเตรียมผลักดันโครงการใหม่ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ทั้ง 3 มาตรการ มีเป้าหมายการเจาะเซ็กต์เม้นต์ที่ต่างกัน แต่อยู่ภายใต้โจทย์เดียวกัน คือ “ไทยเที่ยวไทย”

แม้ไทยเที่ยวไทย จะไม่สามารถช่วยภาคธุรกิจโดยรวม ให้เดินต่อไปได้ทั้งหมดก็จริง แต่การมาตรการกระตุ้นให้เกิดการเที่ยวในประเทศ ผ่าน “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “กำลังใจ” อย่างน้อยก็พอจะต่อลมหายใจให้กับธุรกิจบางส่วนในบางพื้นที่ ซึ่งคนไทยเที่ยวได้บ้าง       

จึงทำให้ภาครัฐทยอยปรับปรุงเงื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้สิทธิต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมจะดำเนินโครงการใหม่ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” เพื่อขยายอีกเซ็กเมนต์หนึ่งในการดึงให้เกิดการท่องเที่ยวในวันธรรมดา รวมงบสนับสนุนทั้ง 3 โครงการรวม 2.2 หมื่นล้านบาท

นับจากรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อห้อง และสนับสนุนตั๋วเครื่องบิน 40% ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยเปิดให้ประชาชนเริ่มใช้สิทธิจองห้องพักตั้งแต่วันที่ 18 กรกฏาคม 2563 รวมถึงเปิดตัวโครงการ “กำลังใจ” ที่เปิดให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เที่ยวฟรี 100% ผ่านบริษัทนำเที่ยว แพ็กเกจ 2 วัน 1 คืน ไม่เกิน 2 พันบาทต่อสิทธิ์ต่อคน

“เราเที่ยวด้วยกัน” แรงปลาย

แต่มาตรการดังกล่าวเริ่มเห็นผลในเดือนตุลาคมปี2563 จากกราฟของการเดินทางเที่ยวในประเทศที่เริ่มขยับขึ้นบ้าง โดยติดลบน้อยลง ในเดือนตุลาคมปี 2563 มีคนไทยเที่ยวในประเทศ 15.5 ล้านคน-ครั้ง ติดลบอยู่ 25% อัตราการเข้าพัก เฉลี่ยอยู่ที่ 34% เพิ่มขึ้น31% จากช่วงเดียวของปีก่อน และมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

เทียบฟอร์ม "เราเที่ยวด้วยกัน" สู่ "เที่ยวไทยวัยเก๋า"ดันเที่ยวไทย

เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องพิเศษสำหรับข้าราชการ การปรับปรุงเงื่อนไขการใช้สิทธิในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ขยายสิทธิจากเดิม 5 สิทธิต่อคน เป็น 10 สิทธิต่อคน เพิ่มอี-วอลเชอร์ จากเดิม 600 บาทต่อวัน เป็น 900 บาทต่อวัน (เฉพาะจันทร์-พฤหัส) บัตรโดยสารขยับจากสนับสนุนไม่เกิน 1 พันบาทต่อที่นั่งเป็นไม่เกิน 2 พันบาทต่อที่นั่ง ขยายเวลาการใช้สิทธิจากสิ้นสุด 31 ตุลาคม 63 เป็นสิ้นสุด 31 มกราคม64 และเพิ่มพื้นที่การใช้สิทธิจากข้ามจังหวัด เป็นสามารถใช้สิทธิได้ในภูมิลำเนา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"เราเที่ยวด้วยกัน"เงื่อนไขใหม่พร้อมเปิดให้รับสิทธิ16ธ.ค.นี้
"เที่ยวไทยวัยเก๋า" รอก่อน "เราเที่ยวด้วยกัน"เงื่อนไขใหม่ แซงเข้าครม.8 ธ.ค.นี้
ทัวร์หมื่นรายเด้งรับ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ผู้สูงอายุเที่ยวไทยรับสิทธิ์ 5 พันบาท
สูงวัยเฮ ศบศ.ไฟเขียว 5 พันบาท “เที่ยวไทยวัยเก๋า”ปรับเกณฑ์ “เราเที่ยวด้วยกัน”
เปิด 7 เงื่อนไข “เที่ยวไทยวัยเก๋า”รัฐจ่าย5พันบาทให้ผู้สูงวัยเที่ยว
 

รวมทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” ที่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีผลช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ทำให้ยอดจองที่พักในโครงการ “เราเที่ยวไทย” จากเดิมที่การใช้สิทธิไม่มาก ขยับมาเป็น 4 ล้านคืน (ณ วันที่ 29 พ.ย.63) จากเดิม 5 ล้านคืน และล่าสุดเมื่อวันที่12 ธ.ค.63 พบว่าห้องพักถูกจองเต็มสิทธิ 5 ล้านห้อง  

เทียบฟอร์ม "เราเที่ยวด้วยกัน" สู่ "เที่ยวไทยวัยเก๋า"ดันเที่ยวไทย   ขณะที่ยอดการจองตั๋วเครื่องบิน ยังถือว่าต่ำมาก โดยมีการใช้สิทธิ อยู่ที่ 2.16 แสนสิทธิ จากเป้าหมาย 2 ล้านสิทธิ

จุดหลักเป็นเพราะคนไทยเลือกที่จะเที่ยวใกล้ๆขับรถเอง อีกทั้งความยุ่งยากของกระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน ที่ต่างจากการจองที่พัก ที่จ่าย60% แต่ถ้าจองตั๋วเครื่องบินต้องจ่ายเงินไปก่อน100% แล้วมาขอคืนทีหลัง แต่ขณะเดียวกันแผนการบินภายในประเทศ ก็เริ่มติดลบน้อยลงในเดือนธันวาคม63 คืออยู่ที่ 4.1 ล้านที่นั่ง ติดลบ29% จากคนเลือกที่จะเดินทางเที่ยวระยะไกลเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

สำหรับโครงการ “กำลังใจ” ที่ผ่านมา มีการใช้สิทธิไปแล้ว 6.70 แสนคนเท่านั้นจากเป้าหมาย 1.2 ล้านคน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเพิ่มสิทธิสำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 570 คน และเจ้าหน้าที่หัวหน้างานสาธารณสุขมูลฐานและงานสุขภาพภาคประชาชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,615 คน ให้สามารถเข้าร่วมโครงการกำลังใจได้ และขยายเวลาการใช้สิทธิจากสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 63 เป็น 31 มกราคม 64 แล้วก็ตาม

ปรับปรุงเงื่อนไขจูงใจเที่ยวเพิ่ม

นี่เองจึงทำให้ล่าสุดภาครัฐจึงมีการปรับปรุงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “กำลังใจ” ระลอกล่าสุด ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 63 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

เทียบฟอร์ม "เราเที่ยวด้วยกัน" สู่ "เที่ยวไทยวัยเก๋า"ดันเที่ยวไทย

โดยในส่วนของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงหลังๆ จนเหลือสิทธิไม่มากนัก ทำให้มีการเพิ่มจำนวนห้องพักจากเดิม 5 ล้านคืน เพิ่มมาอีก 1 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน เพิ่มการใช้สิทธิจองที่พักจากไม่เกิน 10 คืนต่อสิทธิ เพิ่มมาอีก 5 คืน เป็น 15 คืนต่อสิทธิ เพราะคนว่าส่วนใหญ่คนที่จองในโครงการนี้จะใช้สิทธิเต็มแล้ว 10 คืน ขยายเวลาการใช้สิทธิไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนปี 64

รวมถึงการเพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ธุรกิจโรงแรม แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและพยุงการจ้างงาน ขยายช่วงเวลาการจองที่พัก จากเวลา 06.00-21.00 น. เป็นเวลา 06.00-24.00 น. อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว อย่าง ธุรกิจสปา นวดเพื่อสุขภาพหรือธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว สามารถใช้ระบบคูปองออนไลน์ (E-Voucher) ได้

ทั้งยังกำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การปรับปรุงในส่วนเหล่านี้น่าจะกระตุ้นการจองที่พักได้เพิ่มขึ้น

แต่การปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุน 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อที่นั่ง เฉพาะ 7 เส้นทางบินเมืองหลัก อย่าง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย ส่วนเส้นทางอื่นๆยังคงไว้ที่ไม่เกิน 2,000บาทต่อที่นั่ง ก็คงไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคคือต้องจ่ายค่าตั๋ว 100% และมาขอคืนทีหลัง รวมถึงต้องจองที่พักในโครงการ” เราเที่ยวด้วยกัน” ก่อนจึงสามารถใช้สิทธิจองตั๋วเครื่องบินได้ยังคงไม่ได้มีการปลดล็อก

“กำลังใจ”ทัวร์ร่วมน้อย

ขณะที่การปรับปรุงโครงการ “กำลังใจ” ล่าสุดจะเปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการ และบริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว ก็คงไม่ดึงให้บริษัทนำเที่ยวเข้าร่วมขายแพ็กเกจในโครงการนี้ได้เพิ่มมากขึ้นไปกว่าเดิมที่ขายอยู่ 486 ราย

เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมขายแพ็กเกจ “กำลังใจ” จะต้องสำรองจ่ายให้ผู้จองก่อน100% แล้วค่อยมาขอเคลมคืนทีหลัง ซึ่งท่ามกลางที่ธุรกิจนำเที่ยวส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องอยู่ ก็ทำให้มีการเข้าร่วมน้อยนั่นเอง

ดัน “เที่ยวไทยวัยเก๋า”

อีกทั้งการเดินทางเที่ยวในประเทศที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะมียอดจองเฉพาะช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และหยุดยาวเป็นหลัก ทำให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยวันธรรมดาอยู่ที่ราว 10% ทำให้จึงเกิดการผลักดันโครงการ “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ดึงกลุ่มผู้สูงอายุเดินทางเที่ยววันธรรมดาผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยแบ่งงบจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จาก 2 หมื่นล้านบาท ออกมา 5 พันล้านบาท มาใช้ในโครงการนี้ ซึ่งรอชงเรื่องเสนอครม.

เทียบฟอร์ม "เราเที่ยวด้วยกัน" สู่ "เที่ยวไทยวัยเก๋า"ดันเที่ยวไทย

 “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ที่ดึงคนสูงวัยอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปเที่ยววันธรรมดา นอกจากจะอุดช่องโหว่ยอดเข้าพักวันธรรมดาที่น้อยมากอยู่แล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวได้อานิสงส์จากโครงการนี้ด้วย หลังจากอีก 2 โครงการก่อนหน้านี้แทบไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทนำเที่ยวต่างรอลุ้น และตั้งความหวังว่าจะเริ่มโครงการได้ในช่วงต้นมกราคมปี 64

เพราะโครงการนี้บริษัทนำเที่ยวไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน แต่จะได้เงินจากผู้สูงอายุ ที่เข้ามาซื้อแพ็กเกจทัวร์ขั้นต่ำ 3 วัน 2 คืน ราคาเริ่มต้น 1.25 หมื่นบาท และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 5 พันบาทต่อคน จำกัดการขายไว้ที่บริษัทละ 3 พันคน ที่ก็จะทำให้ธุรกิจสามารถประกอบการได้ โดยไม่ต้องควักเนื้อที่ก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว และทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบได้รับประโยชน์ในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563