อีก 7 แสนล้านก็ไม่พอ ถ้าโควิดเอาไม่อยู่ใน 3 เดือน

22 พ.ค. 2564 | 06:33 น.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์“ฐานเศรษฐกิจ”ถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาทของรัฐบาล อาจต้องกู้เพิ่มอีกหากโควิดเอาไม่อยูใน 3 เดือน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564  มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ ในวงเงิน 7 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ ใน 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด 2.วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชย ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และ 3. วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม หลังแหล่งเงินที่ใช้ของรัฐบาลมีจำกัด โดยมีวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทฉบับเดิมเหลือเพียง 16,525 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีในมุมมองภาคเอกชนงบประมาณในการต่อสู้กับโควิดระลอกใหม่ที่สถานการณ์ยังมีความรุนแรง มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งการออก พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาทจะเป็นกระสุนเพียงพอที่รัฐบาลจะใช้ในรับมือกับโควิดระลอกที่ 3 หรือไม่ ฟังมุมมองจากบทสัมภาษณ์ นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอ.ท.)ที่สะท้อนผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”

-3 เดือนเอาไม่อยู่อาจต้องกู้เพิ่มอีก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยให้ความเห็นไปแล้วว่า รัฐบาลควรจะมีเงินอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ต่อสู้กับการระบาดของโควิดในระลอก 3 เพราะความเสียหายของโควิดระลอกนี้ดูแล้วจะเสียหายมากกว่ารอบที่ 1 ซึ่งรอบที่ 2ที่เคยกู้แล้ว 1 ล้านล้านบาท และเงินใกล้หมด หากไม่มีเงินเพิ่มเพื่อรับมือจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยาก

“เราดูจากสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดในขณะนี้ จะต้องเร่งระงับการแพร่ระบาดและทำทุกอย่างให้อยู่ในวงจำกัดภายใน 3 เดือน ถ้าเกิน 3 เดือนและลากยาวไปถึงปลายปีก็อาจจะทำให้เม็ดเงินอีก 7 แสนล้านที่จะกู้มา คงไม่พอ อาจจะต้องกู้เพิ่มอีกเท่าตัวหรือกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้าน ถึง 7 แสนล้าน เพราะต้องใช้เงินเยียวยากและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น”

อีก 7 แสนล้านก็ไม่พอ ถ้าโควิดเอาไม่อยู่ใน 3 เดือน

-รัฐบาลต้องเร่งทำในเรื่องใดถึงจะไม่ต้องกู้เงินอีกเป็นครั้งที่ 3

ที่สำคัญคือ ต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ และเร่งระดมฉีดให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ได้เตรียมวางแผนการบริหารจัดการ และการกระจายวัคซีน โดยได้วางแผนเวลาแน่ชัดแล้วว่า ในแต่ละเดือนจะมีวัคซีนเข้ามาเท่าไหร่ จะเร่งระดมฉีดในส่วนไหนก่อน รวมถึงการจัดเตรียมพื้นที่ฉีดไว้ตามจุดต่าง ๆ ร่วมกับเอกชน รวมถึงมาตรการเช่น walk in ในอนาคต ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนทุกอย่างได้ถูกเตรียมการณ์แล้ว

แต่ทั้งนี้ที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการเยียวยา และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะโควิดทำให้ภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางภาคการท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน เป็นที่ทราบกันดีว่าแทบสลบเลย แล้วโอกาสจะฟื้นต้องใช้เวลานานมาก แต่ว่ามีผลกระทบต่อการจ้างงานจำนวนหลายล้านคน ซึ่งจะทำอย่างไรให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตรงนี้กลับมาสตาร์ทได้อีกครั้ง หลังจากเครื่องหยุดไป และเครื่องเย็นลงก็ต้องใช้พลังงานมากในการที่จะให้เครื่องติดขึ้นมาใหม่ แล้วค่อย ๆ เดินเครื่องได้ต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้นเม็ดเงินในการจะเยียวยา คงต้องเยียวยาในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ ก่อน เพื่ออย่างน้อยจะได้ช่วยแก้ปัญหาให้เขาฟื้นขึ้นมา และสามารถกลับมาจ้างงานได้ ให้กลับมาเปิดกิจการค้าขายได้หลังจากการฉีดวัคซีนไปทำให้คนมีความมั่นใจในการที่จะเริ่มค่อย ๆ ออกมาใช้ชีวิตประจำวันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและหมุนเวียนดีขึ้น

“เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร.ได้มีการประชุม ซึ่งนอกจากที่ประชุมได้เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดัน พ.ร.ก.กู้เงินอีก 7 แสนล้านบาทแล้ว หนึ่งในมาตรการเยียวยาและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยากให้รัฐบาลเร่งรัดมาตรการในโครงการที่ดี ๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ หรือทำอยู่แล้วก็ควรจะเพิ่มยอดเงินเข้าไป เช่น โครงการคนละครึ่งในเฟสใหม่ แต่เดิมเคยให้หัวละ 3,000 บาท เราก็บอกว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะเพิ่มยอดวงเงินให้เป็นซัก 6,000 บาทให้เป็นเท่าตัวเลย ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดเม็ดเงินที่ครึ่งหนึ่งมาจากภาครัฐ อีกครึ่งหนึ่งภาคประชาชนผู้บริโภค เม็ดเงินก็จะสะพัดในระบบเศรษฐกิจจาก 9 หมื่นล้าน เป็น 1.8 แสนล้านบาท โดยขอให้ขยับโครงการให้เร็วขึ้นจากเดิมที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนมิถุนายน”

ทั้งนี้โครงการในลักษณะนี้จากการสำรวจมาพบว่าเป็นโครงการที่ได้ผลมากที่สุดโครงการหนึ่ง โดยพบว่าบรรดาร้านค้าที่เป็นหาบเร่แผงลอย รวมทั้งร้านค้าในตลาดต่าง ๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น และชาวบ้านได้ประโยชน์จริงมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก

อีก 7 แสนล้านก็ไม่พอ ถ้าโควิดเอาไม่อยู่ใน 3 เดือน

นอกจากนี้มีเรื่องมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้ที่มีเงินเก็บ มีรายได้สูง นำเงินมาจับจ่ายซื้อสินค้า และนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยต้องเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีให้สูงขึ้น(เดิมหักลดหย่อนภาษีได้ ในวงเงิน 3-5 หมื่นบาทต่อราย) ถ้ายิ่งเพิ่มเขาก็ยิ่งช้อปมากขึ้นและนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้โครงการข้างต้นไม่ใช่การแจกเงินทั้งหมด แต่เป็นการแจกเงินสมทบกับภาคประชาชนหรือภาคเอกชนทำให้ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจสูง และมีอิมแพ็คในวงกว้าง

-มั่นใจหรือไม่ว่าสิ้นปีนี้จะฉีดได้ 70% ของจำนวนประชากร

ตัวเลขเดิมรัฐบาลได้แถลงไว้ว่าจะฉีดได้ประมาณ 50% ของจำนวนประชากรที่จะมีวัคซีนในเบื้องต้น มาตอนหลังรัฐบาลก็มาบอกว่าสามารถจัดหาที่เหลืออีก 37 ล้านโดสให้ครบ 100 ล้านโดส ซึ่งจะครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากร ซึ่ง 30 กว่าล้านโดสนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเข้ามาได้ทันในสิ้นปีนี้และฉีดทันหรือไม่ อันนี้ตอบไม่ได้ อยู่ที่การบริหารจัดการ

“ถึงบอกว่าถ้าสามารถฉีดได้เร็ว และครอบคลุมมากเท่าใด จะยิ่งช่วยลดความเสียหายของเศรษฐกิจ แล้วเงินที่ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าการฉีดวัคซีนยิ่งช้า ไม่เป็นไปตามเป้า หรือลากยาวเท่าไหร่เงิน 7 แสนล้านก็อาจจะไม่เพียงพอ แต่ถ้าทำได้ตามเป้าหมายหรือสปีดได้เร็วความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะลดลง  เพราะฉะนั้นเงินกู้อีก 7 แสนล้านอาจจะเพียงพอ แต่ถ้าเกิดทำไม่ทัน เกิดความล่าช้าก็อาจจะไม่พอ อาจจะต้องกู้เงินเพิ่ม เช่น ต้องกู้อีก 5 แสนล้านถึง 7 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย”

อีก 7 แสนล้านก็ไม่พอ ถ้าโควิดเอาไม่อยู่ใน 3 เดือน

-ข้อกังวลใจของภาคเอกชน ณ เวลานี้ มีเรื่องอะไรบ้าง

ตอนนี้ที่กังวลใจก็คือ เรื่องวัคซีน ที่ต้องเตรียมให้พร้อม เรื่องเตรียมตัวหาสถานที่ฉีด บริหารการฉีด และการกระจายวัคซีนต้องให้พร้อม เพราะเกรงว่าจะคล้ายกับสหรัฐฯ ที่แม้วันนี้จะเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนไปแล้วหลายร้อยล้านโดส แต่ก็ครอบคลุมแค่ประมาณ 40% ของจำนวนชาวอเมริกันทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แอ็คทีฟต้องการฉีด ขอให้มีวัคซีน มาต่อคิวทันที อยากฉีดเร็ว แต่สัดส่วนอีก 40% ก็จะเป็นคนที่ฉีดก็ได้ไม่ฉีดก็ได้ 50 : 50   ยังลังเล ดังนั้นตอนนี้เลยต้องทำประชาสัมพันธ์หนัก ส่วนอีก 20% ยังไงก็ไม่ฉีด ไม่ต้องมาโน้มน้าว

“เมื่อเทียบเคียงของไทยก็อาจจะมีส่วนคล้ายกับของสหรัฐฯที่ 40% แรกเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้น กลัวโรคระบาด อย่างไรก็ฉีด อีก 40% สัดส่วน 50 : 50 ยังลังเลจะฉีดก็ได้ ไม่ฉีดก็ได้ และอีก 20% ยังไงก็ไม่ฉีด เพราะฉะนั้นที่สำคัญคือนอกจากมีการจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมายแล้ว ต้องมีคนมารับการฉีดให้ได้ตามเป้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำงานหนักในส่วนนี้คือการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนที่วัคซีนจะมามีการวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนในเชิงลบ ทั้งที่มันแค่เคสเล็ก ๆ จำนวนน้อย แต่มาขยายผลจนทุกคนกลัวกันหมด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน”

อย่างไรก็ดีปัจจุบันจะเห็นว่าคนเริ่มไปลงทะเบียนฉีดวัคซีนกันมากขึ้นในช่วงหลัง ๆ  จากความหวาดวิตกเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่บางวันแตะเกือบหมื่นคนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตทำนิวไฮเป็นรายวัน ทำให้แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอาจมีความเป็นไปได้ที่จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามเป้าหมายในปีนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ด่วน!ครม.อนุมัติ "พรก.กู้เงิน"เพิ่ม 7 แสนล้าน รับมือโควิดระลอกใหม่

ขอจ่าย "เยียวยาโควิด" เป็นเงินสด เปิดผลโพล เสียงชาวบ้านถึงรัฐบาล

"ม33เรารักกัน" โหลดแอปฯ เป๋าตัง ใหม่ กดยืนยันรับเยียวยาได้ ไม่เสียสิทธิ์

"สภาพัฒน์"ยันมีเงินเหลือเยียวยาโควิดกว่า 3.9 แสนล้าน แจงที่มาละเอียดยิบ

ดีเดย์20 พ.คนี้ 'เราชนะ- ม33เรารักกัน' เริ่มโอนเงินเยียวยาเข้าแอป'เป๋าตัง'