พาณิชย์มองข้ามช็อต มั่นใจส่งออกครึ่งหลังพุ่งแรง 

16 เม.ย. 2564 | 04:35 น.

สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองข้ามช็อตสถานการณ์โควิด ยังมั่นใจการส่งออกของไทยในครึ่งหลังปีนี้ยังพุ่งแรง

พาณิชย์เผย 2 เดือนแรกส่งออกไปตลาดหลักทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อาเซียนพลิกบวกยกแผง มองข้ามช็อตโควิด มั่นใจครึ่งหลังส่งออกไทยพุ่ง ดันเป้าโตทั้งปี 4% ปัจจัยหลักจากทั่วโลกเร่งฉีดวัคซีนดันเศรษฐกิจหัวขบวนทั้งสหรัฐ-จีนฟื้น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราลุยขยายผลิตเต็มสูบ

ส่งออกไทย 2 เดือนแรกปี 2564 แม้ว่าภาพรวมมูลค่าการส่งออกจะยังติดลบ 1.16% โดยส่งออกได้มูลค่า 39,925 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การส่งออกไทยถือว่าติดลบน้อยลง และคาดว่าการส่งออกภาพรวมไตรมาสที่ 1 จะยังติดลบ แต่เป็นการติดลบที่ลดลง จากการที่มีปัจจัยบวกอย่างการเร่งฉีดวัคซีนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ส่งออกในครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้กรมคาดการส่งออกไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 4% สอดคล้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 3 -5 % (จากปี 2563 ติดลบ 6%)

โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (American Rescue Plan Act of 2021) และจีนซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น เนื่องจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศอย่างแพร่หลายจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น ขณะที่ราคานํ้ามันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ส่งออกของไทยที่จะปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงเช่น ค่าเงินบาทที่แม้เวลานี้จะอ่อนค่าลง แต่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้า และอัตราค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง และความไม่สงบทางการเมืองในเมียนมา ที่อาจส่งผลต่อการปิดด่านค้าชายแดนและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทย

พาณิชย์มองข้ามช็อต มั่นใจส่งออกครึ่งหลังพุ่งแรง 

อย่างไรก็ตามกรมมีกำหนดจัดประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ทุกไตรมาส โดยครั้งต่อไป มีกำหนดจัดในปลายเดือน เมษายน 2564 ซึ่งจะมีการประเมินแนวโน้มการส่งออกใหม่อีกครั้งตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้การส่งออกของไทยช่วง 2 เดือนแรกปี 2564 ไปยังตลาดหลักมีทิศทางเป็นบวก เช่น สหรัฐฯ (+16.05%) จีน (+12.85%) ญี่ปุ่น (+6.98%) รวมถึงบางตลาดในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย (+21.79%) เวียดนาม (+12.77%) และลาว (+1.56%) ตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ : ทวีปออสเตรเลีย (+24.00%) ตะวันออกกลาง (+0.14%) และทวีปแอฟริกา (+11.13%) ส่วนสินค้าส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัว เช่นสินค้าอาหารและอาหารแปรรูป : ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+94.48%) ผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+22.35%) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง (+2.93%) กุ้งแปรรูป (+9.67%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+3.19%)

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและการทำงานในบ้าน : เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+3.07%) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+10.92%) รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง (+20.01%) ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง (+40.26%) สินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยและการแพทย์ : เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ (+9.13%) ถุงมือยาง (+207.89%) สบู่ (+4.22%)

 

นอกจากนี้ สินค้าบางกลุ่มยังสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดี เป็นผลจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้โรงงานต่างๆ กลับมาเปิดสายพานการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+14.21%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (+4.54%) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (+8.64%) แผงวงจรไฟฟ้า (+11.08%) เม็ดพลาสติก (+20.73%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (+3.24%) เคมีภัณฑ์ (+11.47%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+23.40%) เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“จุรินทร์”สั่งประสานเอกชน ตรวจเข้มแรงงานป้องกระทบส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้า 6 มาตรการ ช่วงโควิด – 19 ช่วยผู้ส่งออก-นำเข้า

"เกิบแตะ"สินค้าดาวรุ่งส่งออกไทย

“พาณิชย์”ชี้โอกาสส่งออกไทย ในตลาดฮาลาล ยังโตต่อเนื่อง

“พาณิชย์”เพิ่ม 9 ผลไม้บัญชีเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออกจีน