เอกชนไทยลงทุนเมียนมาร้องรัฐช่วยอุ้ม ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มขาดสภาพคล่อง

26 มี.ค. 2564 | 12:40 น.

เอกชนไทยลงทุนเมียนมาร้องรัฐบาลอุ้มกิจการปิดตัวอ่วมสายป่านไม่เกิน6เดือน  ด้าน”พาณิชย์”เชิญภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมาถกด่วน  ธุรกิจของคนไทยมีผลกระทบ หลังชุมนุมยืดเยื้อ ทำขาดสภาพคล่อง และหลายธุรกิจเสี่ยง เตรียมชง “จุรินทร์”ผลักดันมาตรการช่วยเหลือที่ภาคเอกชนขอ ทั้งลดภาษีนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แม่สอด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและะเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ชุดเล็ก เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การค้าไทย-เมียนมา รวมถึงสถานการณ์การถูกคว่ำบาตรจากต่างชาติและการค้าชายแดนไทย-เมียนมา และการติดตามปัญหาอุปสรรคด้านการคค้าจากเอกชน และประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาด้านการค้าของผู้ประกอบการไทย  ว่าในภาพรวมยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก ตามชายแดนการค้าขายยังเป็นปกติ แต่ในเดือนก.พ.2564 พบว่าการส่งออกไปเมียนมาลดลงถึง 29% จากปีก่อน ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการรัฐประหารหรือไม่ ซึ่งก็อาจเป็นผลทางจิตวิทยาและปัจจัยอื่น  ๆ

เอกชนไทยลงทุนเมียนมาร้องรัฐช่วยอุ้ม  ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มขาดสภาพคล่อง

ขณะที่ธุรกิจของคนไทยที่ลงทุนในเมียนมาได้รับผลกระทบมากที่สุดขาดสภาพคล่อง และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่ได้ลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ค่าเงินจ๊าดขาดเสถียรภาพ และประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานผละงานไปร่วมประท้วง รวมทั้งการขนส่งภายในประเทศที่ยังติดขัด

โดยเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ คือ 1.ให้รัฐบาลออกมาตรการด้านภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือเอกชนด้วยการลดหย่อนภาษีให้ 2. ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเอกชน ซึ่งหลังจากรับทราบข้อเรียกร้องจากเอกชนแล้วก็จะสรุปและนำเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป  นอกจากนี้ในส่วนของเอกชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมายังขอให้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าขายที่ชายแดนเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้การค้าขายในพื้นที่ดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งในที่ประชุมก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาต่อไป

"จะนำข้อสรุปที่ได้จากการหารือครั้งนี้ และข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน นำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น ขอให้ช่วยเรื่องลดภาษีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เพราะการเข้าไปลงทุน แม้จะไปทำธุรกิจในเมียนมา แต่มีรายได้ที่ไทย ก็ต้องยื่นเสียภาษี ขอให้พิจารณาประสานสถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธุรกิจไทยที่ไปลงทุน และขอให้ช่วยประสานฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่แม่สอดโดยเร็วและเพียงพอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการค้าขาย"

ด้านนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า สมาชิกของสภาฯเข้าไปลงทุนในเมียนมากว่า 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเริ่มขาดสภาพคล่องเนื่องจากต้องปิดกิจการจากความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งเริ่มปิดตั้งแต่เดือนก.พ.2564  ส่งผลกระทบทำให้ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินค่าเช่า ค่าจ้าง และค่าดำเนินการธุรกิจได้ไม่เกิน  6 เดือน