“กรมการข้าว” เล็งใช้เทคโนโลยียกระดับนาแปลงใหญ่

01 มี.ค. 2564 | 12:38 น.

​​​​​​​อธิบดีกรมการข้าว  เล็งใช้เทคโนโลยียกระดับ “นาแปลงใหญ่” พร้อมส่ง จนท. ให้ความรู้อย่างใกล้ชิด ดึงภาคีมูลค่าเพิ่ม ต่อยอด แปรรูป เชื่อมโยงตลาด

นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร

 

 วันที่ 1 มีนาคม 2564 นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่จะร่วมกันส่งเสริมให้เกษตรกรมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความหลากหลายมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการแปลงใหญ่

 

โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ให้มีการต่อยอดด้านคุณภาพมาตรฐาน แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงการตลาด และสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนจากการผลิต นอกจากนั้นยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร

 

นอกจากนั้นยังร่วมกับภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพยกระดับการผลิตไปสู่สินค่าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และยา ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

 

ดึงเทคโนโลยีใช้นาแปลงใหญ่

นายอาชว์ชัยชาญ   กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว กรมการข้าวมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของสินค้าข้าว ซึ่งในส่วนของของกรมการข้าวมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,638 แปลง โดย กรมการข้าวจะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันในเรื่องของการผลิต การจัดจำหน่าย การตลาด รวมไปถึงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

 

จะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านการผลิต : ต่อยอดทำเกษตรสมัยใหม่ โดยใช้เครื่องจักรกล เทคโนโลยี ระบบน้ำ Precision Farming โรงเรือน โรงคัดแยกผลผลิต ลานตาก ระบบบริหารจัดการน้ำ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร 2) ด้านการพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐาน : การจัดการคุณภาพผลผลิต เพื่อเข้าสู่การตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต เพื่อการจัดการคุณภาพสู่ระบบมาตรฐานสากล การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

3) ด้านการตลาด : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้าง Brand ให้สามารถเข้าสูงตลาด Online และ Offline ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น การสร้างจุดรวบรวมและกระจายผลผลิต e-Marketplace ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีนั้นจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนการผลิตเป็นสำคัญ รวมไปถึงยกระดับการผลิตข้าวให้มีคุณภาพ ตลอดจนให้พี่น้องเกษตรกรสามารถบริหารการตลาดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน