“ปิดกรีด” ยางราคาขึ้น ชาวสวน ได้อะไร?

20 ก.พ. 2564 | 08:35 น.

“ธีระชัย” วิพากษ์ “ประกันรายได้เกษตรกร” แช่แข็งราคายางพารา  ชี้ ปิดกรีด ยางราคาพุ่งเกิน 60 บาท/กก. ชาวสวนได้อะไร

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ราคา ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ราคาตลาดกลางประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 59.98 บาท/กก. ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 65.79 บาท/กก.ราคายางในภาพรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ราคาตลาดล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและปริมาณยางเริ่มมีปริมาณน้อยลง

 

ธีระชัย แสนแก้ว

 

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสาเหตุที่ราคายางพาราทุกชนิดปรับตัวขึ้น เพราะตอนนี้ชาวสวนเริ่มทยอยปิดกรีดแล้ว ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กระทั่งสวนยางพาราของผมก็ปิดกรีดแล้ว คาดว่า ประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้คงจะปิดกรีดกันทั้งประเทศ  เพราะตอนนี้ใบร่วงหมดแล้ว ชาวสวนจะไปได้อะไร ราคาขึ้นตอนนี้

 

“ที่ผ่านมาการบริหารยางพาราในรอบปีนับตั้งแต่เปิดกรีด เดือน พ.ค.-2563 จนถึง เดือน ก.พ. 2564  จะเห็นว่า ราคายางไม่ได้ปรับขึ้น แล้วก็ไม่ได้ปรับลง  เป็นราคาที่ใกล้เคียงประกันรายได้ยางพารา เหมือนแช่แข็งราคายาง แล้วการปรับตัวราคาที่ขึ้นก็เป็นกำไรผู้ค้าที่มีสต็อกตุนยางราคาถูกไว้ขายเก็งกำไรในช่วงจากนี้ไปจนถึงยางที่จะเปิดกรีดใหม่ ยืนยันว่า ชาวสวนไม่ได้ประโยชน์จากราคาขึ้นเลย”


 

นายธีระชัย กล่าวว่า ในการบริหารยางพาราปี 2564 มองว่า รัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นประกันรายได้ นโยบายอย่างอื่น อาทิ โครงการก่อสร้างถนนโดยใช้ยางธรรมชาติ  หรือ ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ หรือ แบริเออร์คอนกรีตหุ้มยางพารา แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย หรือแทบจะทำน้อยมาก

 

“มองว่าตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล ก็ยังคงต้องมีนโยบายอยู่แล้ว นอกจากจะยุบสภาแล้วเลือกตั้งมา มีรัฐบาลใหม่ ถึงจะเปลี่ยน "การประกันรายได้" เรียกว่ารัฐบาล "ค้ำประกันประกันราคา" ถ้ารายได้เกษตรกรไม่ถึง ก็ต้องนำเงินมาชดเชยให้ กลายเป็นนโยบายไปแล้ว ดังนั้นนโยบายเพื่อที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับประโยชน์สูงสุด ก็คือ ควรจะเริ่มตั้งแต่เปิดกรีดยางพารา เลยก็คือประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ไปจนถึงมีนาคม 2565 ณ ตอนนี้ทะเบียนเกษตรกร ก็น่าจะเริ่มนิ่งแล้ว”

 

 

อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ราคายางในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ราคาตลาด ล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นและปริมาณยางเริ่มมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากเข้าใกล้ฤดูช่วงพักกรีดยางประกอบกับค่าเงินบาท อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจ สหรัฐออกมาดีฃ

 

อย่างไรก็ตามราคายางได้รับปัจจัยกดดันจาก การที่แหล่งผลิตน้ำมันที่เท็กซัสเผชิญอากาศเย็น ส่งผลให้ราคา น้ำมันปรับตัวลดลงและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ นักลงทุนเริ่มระมัดระวังความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในอนาคต เนื่องจากการสูบฉีดของกองทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั่วโล นักลุงทุนยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกต่อไป