วิกฤติส่งออกข้าว ลามกระทบชาวนา ทางออกที่ต้องเร่งแก้

15 พ.ย. 2563 | 04:10 น.

 9  เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกข้าวปริมาณรวม 4.04 ล้านตัน มูลค่า 84,480.9 ล้านบาท โดยปริมาณลดลง 31.9% และมูลค่าลดลง 15.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกได้ 5.93 ล้านตัน มูลค่า 100,012 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดียส่งออกได้ 9.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 19.5% และเวียดนามส่งออกได้ 4.9 ล้านตัน ลดลง 1.4% (แต่ติดลบน้อยที่น้อยกว่าไทย) ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ไทยหล่นไปอยู่อันดับ 3 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

 ทั้งนี้แม้กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ชูยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ที่ต้องการผลักดันข้าว 7 ชนิดตามความต้องการของตลาด คือ 1.ตลาดพรีเมียม มีข้าวหอมมะลิ  2.ตลาดทั่วไปมีข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และ 3.ตลาดเฉพาะ มีข้าวเหนียว ข้าวสีและข้าวคุณลักษณะพิเศษมีเป้าหมายให้ข้าวไทยแข่งขันได้ และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้คุ้มกับต้นทุนการผลิต

วิกฤติส่งออกข้าว ลามกระทบชาวนา ทางออกที่ต้องเร่งแก้

 อย่างไรก็ดี แม้ยุทธศาสตร์ข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ผลักดันมีหลักการที่ดีแต่ด้วยปัจจัยลบหลายๆ ปัจจัย ทำให้ข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้ดีเหมือน 3 ปีก่อน โดยนับตั้งแต่ปี 2560 ที่ไทยส่งออกข้าวได้สูงถึง 11.6 ล้านตัน หลังจากนั้นการส่งออกก็รูดลงเรื่อยๆ (ปี 2561 ส่งออกได้ 11.2 ล้านตัน ปี 2562 ส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน) ส่วนหนึ่งผลจากราค้าข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งขันอย่างเวียดนามจากเงินบาทแข็งค่า และไทยได้ค่าพรีเมียมจากผู้ซื้อที่เชื่อมั่นในคุณภาพ รวมถึงไทยขาดการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกใหม่ๆ แก่คู่ค้าและผู้บริโภคค่อนข้างน้อย ต่างจากเวียดนามที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาหลายสายพันธุ์ออกสู่ตลาด ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น เช่น ล่าสุดคือข้าวพันธุ์ ST24 ที่คว้ารางวัล World’s Best Rice เป็นต้น

วิกฤติส่งออกข้าว ลามกระทบชาวนา ทางออกที่ต้องเร่งแก้

 ขณะที่ข้าวไทยมีเพียง 3 ชนิดข้าวหลักเท่านั้นที่ทำตลาดมาอย่างยาวนานจนถึง ณ วันนี้ ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว เรื่องนี้ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ส่งออกข้าวที่มีการประเมินกันว่าหากประเทศไทยยังมีสินค้าให้เลือกน้อย และไม่เร่งพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อแข่งขันส่งออก เชื่อว่าไทยจะหล่นไปอยู่อันดับ 5 ของประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอีกไม่เกิน 5 ปีนับจากนี้อย่างแน่นอน (ปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย)

 ทั้งนี้นอกจากอินเดียที่แซงไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกมาหลายปีแล้ว ในปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเสียตำแหน่งอันดับ 2 ให้กับเวียดนาม และจากนี้ไปก็มีโอกาสที่จะเสียตลาดให้กับจีนและเมียนมาเพิ่มขึ้น จาก 1-2 ปีที่ผ่านมาจีนได้หันมาเป็นผู้ส่งออกข้าวและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพส่งออกเช่นเดียวกับเมียนมา ขณะที่ข้าวหอมมะลิที่เป็นข้าวเกรดพรีเมียม ขายได้ราคาสูงในตลาด และสูงกว่าข้าวหอมของเวียดนาม ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรือแม้แต่เมียนมา ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าวหอมให้มีความโดดเด่นกว่าข้าวหอมมะลิไทย ทั้งในแง่ของความหอมของข้าว และต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถขายได้ในราคาต่ำกว่า และแย่งแชร์ตลาดข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

 ล่าสุดแม้ว่าไทยจะมีพันธุ์ข้าวใหม่ที่เพิ่งผ่านการรับรองคือพันธุ์ กข 89 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว เพื่อพัฒนาแข่งขันในอนาคต แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะคู่แข่งอย่างเวียดนามแซงหน้าไปมากจากมีพันธุ์ข้าวให้ตลาดได้เลือกที่หลากหลายกว่า ผลจากในแต่ละปีรัฐบาลเวียดนามได้ทุ่มงบในการวิจัยและพัฒนาเรื่องข้าวมากกว่า  3,000 ล้านบาท เทียบกับไทยมีงบเพียงหลัก 100 ล้านบาท หรือมากกว่ากันถึง 30 เท่า ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยให้มีความโดดเด่น ทั้งคุณภาพ และสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายให้ลูกค้าเลือก รวมถึงราคาต้องแข่งขันได้ เพื่อช่วยกอบกู้ชื่อเสียงด้านข้าวของประเทศในฐานะอดีตผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลกให้กลับคืนมา และยังผลถึงเกษตรกรผู้ผลิตปลูกข้าว และวงจรธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับข้าวทั้งระบบให้กลับมาคึกคักสดใสอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่ในเร็ววันก็ตาม

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับ 3627 วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2563