FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

02 พ.ย. 2563 | 06:06 น.

พาณิชย์-นักวิชาการ ส่งสัญญาณเอกชนตั้งรับเอฟทีเออังกฤษ-ญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้ จับตาเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร รองเท้า ได้รับผลกระทบเชิงลบ จี้รัฐบาลเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-อังกฤษ เพื่อรักษาตลาดและดึงการลงทุนแดนผู้ดีเพิ่ม

วันที่ 23 ตุลาคม 2563 สหราชอาณาจักร (UK/อังกฤษ) และญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (UK-Japan CEPA) และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2564 ถือเป็นความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญความตกลงแรกหลังจากอังกฤษได้ลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่ง CEPA นี้คาดจะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทยกับอังกฤษ และไทยกับญี่ปุ่นแน่นอน

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยคาดการณ์ว่า UK-Japan CEPA จะช่วยให้การค้าระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นขยายตัวได้กว่า 1.52 หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาขาที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงฯคือภาคการผลิต สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม การค้าดิจิทัล การให้บริการทางการเงิน และเทคโนโลยี เป็นต้น

 

FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

                               อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ตัวอย่างเช่น การส่งออกเนื้อหมู เนื้อวัว และแซลมอนของอังกฤษจะได้รับการลดภาษีเพิ่มเติม ขณะที่ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์จากการที่อังกฤษยกเลิกภาษีสินค้านำเข้า เช่น ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ และการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถรางเร็วกว่าในกรอบ FTA ญี่ปุ่น-สหภาพยุโรป(EU) และทั้งสองฝ่ายยังได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างกันเพิ่มขึ้นทั้งด้านการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ

 

“จากการประเมินเบื้องต้น UK-Japan CEPA จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากสินค้าและบริการที่สองฝ่ายได้ประโยชน์เพิ่มเติมส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยในทั้งสองตลาด ขณะที่รูปแบบและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทยยังคงเป็นเช่นเดิม”

 

FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปอังกฤษที่น่าจะได้รับผลกระทบจากความตกลงนี้คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รองเท้า เป็นต้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสินค้าไทยในอังกฤษ ส่วนกลุ่มที่ไม่น่าได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลไม้เมืองร้อน และสินค้าเกษตรแปรรูป ที่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และญี่ปุ่นผลิตไม่ได้

 

FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

                                 อัทธ์  พิศาลวานิช

 

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นที่น่าจะได้รับผลกระทบจากต้องแข่งขันกับสินค้าจากอังกฤษเพิ่มขึ้นได้แก่ เซรามิก ของเด็กเล่น ผัก ยา ปุ๋ย และเยื่อไม้ เป็นต้น ด้านการลงทุน ไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะญี่ปุ่นไปลงทุนในอังกฤษ หรืออังกฤษมาลงทุนในญี่ปุ่นเป็นอุตสาห กรรมที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหลัก ส่วนการมาลงทุนในไทยเน้นใช้แรงงานและเทคโนโลยีขั้นกลาง

 

“ในสถานการณ์เช่นนี้ไทยควรทำเอฟทีเอกับอังกฤษเพื่อรักษาตลาด และทำคลัสเตอร์อุตสาหกรรมกับญี่ปุ่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้นจากการที่ญี่ปุ่นทำเอฟทีเอกับอังกฤษ”

 

สอดคล้องกับนายชัยชาญ เจริญสุข ที่ปรึกษาบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า สินค้าไทยต่างจากอังกฤษ และญี่ปุ่นจึงไม่กระทบไทยมาก ไทยควรเร่งทำเอฟทีเอกับอังกฤษ และเอฟทีเอกับอียู ซึ่งถือเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทย จากที่ผ่านมาไทยถูกอียูตัดจีเอสพีมาหลายปีแล้วทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 2 ฉบับ 3623 วันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พาณิชย์’ ระดมความเห็น ตั้งกองทุนเอฟทีเอ

เสียตลาดอียูใน5 ปี เอกชนจี้เร่งเอฟทีเอ

พาณิชย์ เตรียมเปิดเวทีระดมไอเดีย ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู