เร่งปั้น CEO Gen Z 1.2 หมื่นราย ลุยค้าออนไลน์เพิ่มรายได้ประเทศ

31 ต.ค. 2563 | 09:27 น.

“จุรินทร์” จับมือ สภาอุตฯ ดันส่งออกสู้โควิด เร่งปั้น CEO Gen Z เป้า 1.2 หมื่นราย เป็นนักรบค้าออนไลน์ เพิ่มรายได้ประเทศ เล็งภาคเกษตร-อาหารพระเอก เผยประกันรายได้ข้าว-ยาง ปี 2 เข้าครม. 3 พ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงาน( 31 ต.ค.63)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดงาน Agro FEX 2020 ณ เซ็นทรัลพลาซ่า นครราชสีมา

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากปีที่ผ่านมามีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้า และล่าสุดคือปัญหาโควิด-19 แต่ในช่วงภาวะวิกฤตินี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นไปได้ โดยเฉพาะโควิดได้มีการแก้ไขเป็นที่ยอมรับ และหลายประเทศในโลกได้เอาอย่างนำไปใช้ในการแก้ปัญหา และช่วงที่ผ่านมาก็สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร ตัวเลขส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าหลายประเทศ

 

สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว(ติดลบ)ร้อยละ 7.33 ถึงแม้ว่าการส่งออกยังคงหดตัว แต่ก็เป็นการหดตัวแบบขาขึ้น มีพระเอกตัวจริง 2-3 ตัวคือ 1.ภาคการเกษตร 2.อาหาร เรามียุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” จากนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด เป้าหมายเพิ่ม GDPให้กับประเทศ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีพันธกิจร่วมกัน 4 เรื่องคือ

 

 1.สร้าง Single Big Data เป็นข้อมูลเดียวที่ยอมรับร่วมกัน 2.แพลตฟอร์มกลาง มีแพลตฟอร์มของประเทศไทยใช้เองและเป็นที่ยอมรับแทนที่จะต้องไปพึ่งแพลตฟอร์มต่างประเทศ 3.สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรรวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและอื่น ๆ ให้เกิดขึ้น และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และเอาชนะข้อจำกัดกติกาโลกต่อไปได้ในอนาคต 4.พัฒนาคน และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถเดินหน้าประสบความสำเร็จ

 

เร่งปั้น CEO Gen Z 1.2 หมื่นราย  ลุยค้าออนไลน์เพิ่มรายได้ประเทศ

ทั้งนี้จะต้องจับมือทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเอกชน ใช้กลไก กรอ.พาณิชย์ และทางการตลาด 2 กลไก คือ พาณิชย์จังหวัดกับทูตพาณิชย์ ต้องปรับบทบาทตนเองต้องไปขายของให้กับประเทศ รูปแบบทางการตลาดก็ต้องเปลี่ยนเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) เป็น New Normal ที่เราจะต้องทำและพัฒนารูปแบบมากขึ้น ต่อไปในอนาคตการค้าออนไลน์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและการทำข้อตกลงทางการค้าทั้งระบบทวิภาคีที่เรียกว่า FTA หรือ พหุภาคี ในอนาคตอี-คอมเมิร์ซจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในข้อตกลงมากขึ้น สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP /อาเซียนบวก 6) อี-คอมเมิร์ซเป็นข้อบทอันหนึ่งที่มีความสำคัญมากที่ถูกผลักดันโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจให้สามารถค้าขายโดยระบบอี-คอมเมิร์ซแบบไม่มีพรมแดนไร้ข้อจำกัด

 

"ไทยต้องพร้อมสำหรับการแข่งขันทั้งวันนี้และในอนาคตข้างหน้า การสร้างองค์ความรู้และให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการาจึงเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงพาณิชย์จึงมีโครงการมีหลักสูตรในการอบรมกับเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องการค้าระบบออนไลน์ SMEs มีหลักสูตรอบรมให้เข้าใจว่าอี-คอมเมิร์ซทำอย่างไร เด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัย Gen Z อายุ 19-20 ปี กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายโครงการชัดเจนในการจับมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ”

 

ล่าสุดได้จับมือกับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ 7 มหาวิทยาลัย จัดอบรมหลักสูตรอี-คอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์เพื่อสร้างเด็กไทย Gen Z ให้เป็น  CEO ในอนาคต หรือที่เรียกว่า CEO Gen Z ตั้งเป้าหมายจะทำทั่วประเทศ ในภาคเหนือ 1,500 คน ต่อไปจะไปในภาคอื่น ๆ จะทำให้ได้ในหนึ่งปี 12,000 คน เพื่อสร้าง CEO Gen Z ให้เป็นทัพหน้าในการทำการค้าทั้งในประเทศและเป็นทัพหน้าบุกตลาดต่างประเทศนำเงินเข้าประเทศโดยใช้ระบบอี-คอมเมิร์ซ

 

เร่งปั้น CEO Gen Z 1.2 หมื่นราย  ลุยค้าออนไลน์เพิ่มรายได้ประเทศ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ราคาสินค้าการเกษตรในช่วงปีที่ผ่านมาดีเกือบทุกตัว ดีพอที่จะให้เกษตรกรยังชีพได้สำหรับข้าวขณะนี้กรมการค้าภายในได้กำหนดมาตรการทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว(โครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ 2)โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งจะมีมาตรการชะลอการขายข้าวโดยจะจ่ายเงินชดเชยให้ตันละ 1,500 บาท เพื่อชะลอการปล่อยข้าวออกตลาดแล้วทำให้ข้าวราคาตก เพื่อตรึงราคาและในระยะยาวได้เตรียมยุทธศาสตร์ข้าวเสร็จแล้ว

 

สำหรับประเทศไทยต่อจากนี้จะมียุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี(ปี 2563-2567) ซึ่งจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลทำงานอย่างมีทิศทางและมียุทธศาสตร์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์กำหนดเป็นเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลคือ นโยบายประกันรายได้ที่ได้เดินหน้าไปแล้วหนึ่งปี และปีที่สองกำลังจะเดินหน้า ขณะนี้ในส่วนของปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดได้ผ่านที่ประชุมครม.แล้ว เหลือข้าว กับยางพารา โดยจะเข้า ครม.วันที่ 3 พฤศจิกายนที่จังหวัดภูเก็ต แล้วจะลงมือปฏิบัติได้

 

เร่งปั้น CEO Gen Z 1.2 หมื่นราย  ลุยค้าออนไลน์เพิ่มรายได้ประเทศ