“ไนซ์กรุ๊ป”โชว์แผน เซฟ 2.6 หมื่นชีวิต รอวันกลับมาผงาด

17 พ.ค. 2563 | 06:03 น.

สัมภาษณ์ :

พิษโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าทั่วโลกหดตัวลง หนึ่งในกลุ่มสินค้าที่หดตัวแรงคือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์) หนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างชาติของไทยในยุคบุกเบิก ที่ผู้ประกอบการระบุเป็นเสียงเดียวกันว่ากระทบหนักสุดในรอบกว่า 30 ปีที่อุตสาหกรรมนี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย จากผลพวงทำให้ธุรกรรมการค้า การลงทุนของโลกหยุดชะงัก คู่ค้าเลื่อนการรับมอบสินค้า ไม่มีคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ใหม่ ออเดอร์เก่าก็มีการยกเลิก ขณะที่ที่อีเวนต์ใหญ่โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นต้องเลื่อนจัดเป็นปีหน้า และการแข่งกีฬาต่าง ๆ ทั่วโลกยังไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ และถึงแม้อนุญาตให้แข่งขันก็ให้จัดแบบถ่ายทอดสด ไม่มีคนดูที่สนาม ห้างสรรพสินค้า เอาท์เล็ตต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศยังกลับมาเปิดได้ไม่เต็มร้อย

 

นายประสพ  จิรวัฒน์วงศ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่สุดของประเทศให้กับแบรนด์ดังของโลก (เช่นไนกี้ อาดิดาส)ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ผลกระทบดังกล่าวทำให้แผนงานที่วางไว้เดิมกับลูกค้า คงต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้คงต้องรอแผนใหม่ที่ยังไม่ได้รับมาจากลูกค้า

 

“ไนซ์กรุ๊ป”โชว์แผน เซฟ 2.6 หมื่นชีวิต รอวันกลับมาผงาด

อย่างไรก็ดีในช่วงที่ยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายลงได้อย่างชัดเจนเมื่อใดนี้ ล่าสุดทางกลุ่มได้ปรับแผนงานเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดย 1.จะลดเวลาการทำงานลงจาก 6 วัน เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ในทุกโรงงานทั้งในและต่างประเทศ (ไนซ์กรุ๊ป มีฐานการผลิตใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และจีน คนงานและพนักงานรวมกว่า 26,000 คน (ยกเว้นโรงงานที่เมืองชิงเต่าของจีนที่หยุดมานานหลังมีเหตุการณ์โควิดจะเริ่มผลิตตามปกติ)) เริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ 2.ไม่มีการทำงานล่วงเวลา(โอที) 3.การสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า ซัพพลายเออร์วัตถุดิบ และคนงานให้รับรู้ถึงสถานการณ์ และ 4.การชะลอขยายโครงการในเฟสที่ 2 ในเวียดนามที่มีแผนจะแล้วเสร็จกลางปีนี้

 

“อนาคตจะเป็นอย่างไรทายยากมาก แต่เราก็ต้องหาวิธีให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปให้ได้ หากสถานการณ์ต่าง ๆ มีความชัดเจนและคลี่คลายลงก็ต้องมาปรับยุทธศาสตร์กันใหม่ อย่างไรก็ดีแม้เราจะปรับลดเวลาการทำงานลง แต่ก็ไม่ได้ลดหรือเลิกจ้างคนงาน แต่ทางกลุ่มพยายามปรับธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและรักษาคนงาน 26,000 คนไว้ให้มากที่สุด เพื่อรอวันทุกอย่างกลับมาเข้าที่เราจะปรับตัว และเพิ่มการผลิตได้เร็ว”

 

“ไนซ์กรุ๊ป”โชว์แผน เซฟ 2.6 หมื่นชีวิต รอวันกลับมาผงาด

ปัจจุบันโรงงานของไนซ์กรุ๊ปในไทยมี 6 แห่ง (อ.เมือง จ.นนทบุรี, อ.เมือง จ.นครราชสีมา,อ.เมือง อ.พล อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และอ.เมือง จ.หนองบัวลำพู)มีคนงานกว่า 1 หมื่นคน, โรงงานที่ จ.อานซาง ประเทศเวียดนาม คนงานกว่า 2,500 คน ,โรงงานที่ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา 6,000-7,000 คน, โรงงานที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีนราว 1,000 คน รวมฐานใน 4 ประเทศกว่า 26,000 คน การที่ต้องลดเวลาการทำงานลง ซึ่งหมายถึงการลดการผลิต ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนของสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายเมื่อใด และคำสั่งซื้อจะกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้งเมื่อไร ดังนั้นในเบื้องต้นคาดการณ์ยอดขายของกลุ่มในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้จะขยายตัว 15% จากปี 2562 มียอดขาย 440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คาดทั้งปีนี้ยอดขายจะลดลงประมาณ 30% จากปีที่แล้ว

 

“วิกฤติครั้งนี้หนักสุดเท่าที่เคยมีมา หนักว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง หนักกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือซับไพรม์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะกินเวลายาวนานเท่าใด ทั้งเราและลูกค้าก็ไม่มีใครรู้ เราต้องระวังตัวและวางแผนให้ดี และต้องผ่านไปให้ได้ โดยหวังสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน