"โคโรนา"กระทบหนัก 12 อุตฯ กกร.หั่นจีดีพีเหลือ 2%

04 มี.ค. 2563 | 07:35 น.

 กกร.เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ต่อครม.เศรษฐกิจ 6 มี.ค.นี้ หวังให้ภาครัฐช่วยเหลือหลังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโคโรนา ระบุ 12 อุตสาหกรรมกระทบหนักสุดจาก 45 กลุ่ม  หันจีดีพีปี 63 เหลือ 1.5-2% คงเป้าส่งออกทั้งปีที่ 0 ถึง -2%

 

 นายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะคลี่คลายเมื่อใดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2563 โดยผลทางตรงจากไวรัสโคโรนา นอกจากกระทบภาคการค้าและการผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแล้ว ยังกดดันภาคการบริการอย่างการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบทางอ้อมมายังภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้มีการลดการจ้างงานหรือปิดกิจการ ซ้ำเติมประเด็นด้านกำลังซื้อของครัวเรือนที่เดิมก็อยู่ในภาวะที่เปราะบางจากหลายปัจจัยลบอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงด้วย

"โคโรนา"กระทบหนัก 12 อุตฯ  กกร.หั่นจีดีพีเหลือ 2%

 โดยขณะนี้ผลกระทบต่อ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กระทบมาก 12 อุตสาหกรรมประกอบด้วย กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเคมี กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มเครื่องสำอาง กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กลุ่มหัตถกรรมสร้างสรรค์  กลุ่มโรงเลื่อย โรงอบไม้ กลุ่มไม้อัดบางและวัสดุแผ่น กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ  กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มอาหาร และกลุ่มสมุนไพร  โดยมีปัจจัยลบจากการขนส่งสินค้าที่ยังมีความล่าช้า ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าทุนจากจีนได้ จากโรงงานปิดส่งผลต่อการผลิตที่ชะลอตัวลง เป็นต้น

"โคโรนา"กระทบหนัก 12 อุตฯ  กกร.หั่นจีดีพีเหลือ 2%

รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง 9 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มเซรามิก กลุ่มแก้วและกระจก กลุ่มยา  กลุ่มเหล็ก กลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หันัง และกลุ่มต่อเรือซ่อมเรือ  เนื่องจากกลุ่มนี้สามารถหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ และยังมีสต๊อกวัตถุดิบเพียงพอในระยะสั้น  และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย มี 24 อุตสาหกรรม เช่น  กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มน้ำมันปาล์ม กลุ่มแกรนิตและหินอ่อน กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มเยื่อและกระดาษ เป็นต้น สาเหตุที่ได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากประเทศคู่ค้าของจีนหันมาซื้อสินค้าไทยแทนสินค้าจีน 

ในประเทศและจากจีนเพิ่มขึ้น เป็นต้น

"โคโรนา"กระทบหนัก 12 อุตฯ  กกร.หั่นจีดีพีเหลือ 2%

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. คาดว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2563 สิ่งบ่งชี้ต่าง ๆ น่าจะยิ่งสะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจหลังจากนั้น คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเป็นสำคัญ ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดไป เหตุการณ์ต่าง ๆ น่าจะทยอยคลี่คลายได้   

“เพื่อประคองเศรษฐกิจและภาคธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤติ COVID-19 เฉพาะหน้านี้ไปได้ กกร. คาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการทั้งด้านการคลังและด้านการเงินอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะการลดภาระค่าใช้จ่ายและเติมสภาพคล่องให้กับธุรกิจต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เตรียมการรับมืออย่างเพียงพอสำหรับความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทย โดยในวันที่ 6 มีนาคมนี้ เอกชนจะเสนอมาตรการดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งน่าจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ”

อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกร. ประเมินว่า ผลกระตุ้นจากมาตรการฯ อาจจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากไวรัสโคโรนาที่ขยายเป็นวงกว้างทั้งต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรม กกร. จึงพิจารณาทบทวนประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 อีกครั้ง ดังนั้นภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของไวรัสโคโรนา ทั้งในจีนและนอกจีนผ่านจุดสูงสุดได้ภายในกลางปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่ประชุม กกร. คาดว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2563 จะอยู่ที่ 1.5-2.0% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.0-2.5% ขณะที่ยังคงประมาณการการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม (ส่งออกขยายตัว -2% ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0.8-1.5%)