“เมียนมา”มาแรง คู่แข่งส่งออกข้าวไทย

28 ก.พ. 2563 | 05:16 น.

ส่งออกข้าวเมียนมาแรง ราคาถูกกว่าไทยอื้อ แย่งแชร์ตลาดได้เพิ่ม สหพันธ์ข้าวเมียนมาตั้งเป้าส่งออกปี 63 พุ่ง 2.5 ล้านตัน

 

นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า นอกจากอินเดีย เวียดนามปากีสถาน จีนที่เป็นคู่แข่งส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยแล้ว “เมียนมา”กำลังเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่น่าจับตามอง โดยเวลานี้เมียนมาเริ่มส่งออกข้าวได้มากขึ้นจากราคาถูก เช่นราคาข้าวขาว 5%  ส่งออกของไทยเวลานี้อยู่ที่ประมาณ440 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  เวียดนาม 370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย  365-370 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวเมียนมา 320-330 ดอลลาร์ต่อตัน(ล่าสุดข้าวเมียนมาขึ้นมาอยู่ที่ 360-370 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันจากมีหลายประเทศสั่งซื้อข้าวเมียนมาเพิ่มขึ้น)

“เมียนมา”มาแรง  คู่แข่งส่งออกข้าวไทย

                                                 ชูเกียรติ โอภาสวงศ์

สหพันธ์ข้าวเมียนมา (the Myanmar Rice Federation; MRF) รายงานว่า ในช่วงประมาณ 4 เดือนแรก (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562-17 มกราคม 2563) ของปีงบประมาณ 2562/2563 (ตุลาคม 2562-กันยายน 2563)  เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักได้รวม1.047 ล้านตัน มูลค่า 300.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบด้วยข้าวสารประมาณ 740,000 ตัน มูลค่าประมาณ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่งไปยัง 56 ประเทศ และข้าวหักประมาณ 302,000 ตัน มูลค่าประมาณ 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งไปยัง 46 ประเทศ

“เมียนมา”มาแรง  คู่แข่งส่งออกข้าวไทย

โดยสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวในปีงบประมาณ 2562/2563 ไว้ที่ 2.5 ล้านตัน (ไทยตั้งเป้าส่งออก 7.50 ล้านตัน จากปี 2562 ส่งออกได้ 7.58 ล้านตันต่ำสุดรอบ 6 ปี) จากปีงบประมาณ 2561/2562  เมียนมาส่งออกข้าวได้ประมาณ 2.355 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 709.693 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดยุโรปและแอฟริกาผ่านทางทะเล และส่งไปประเทศจีนผ่านทาง ชายแดน โดยในปี 2560/2561 เมียนมาส่งออกข้าวประมาณ 3.6 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในรอบ 50 ปี

สำหรับเมียนมา มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ  44.38 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิตข้าวในปี 2561/62 จะมี ปริมาณ 13.40 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 ซึ่งมีผลผลิต 13.20 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เนื่องจากราคา ข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยการใช้เมล็ดพันธุ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และการจัดสรรทางชลประทานเพื่อการเพาะปลูกแก่เกษตรกรที่ดีขึ้น